“That’s just a shell. It’s not bad or good. That part’s up to you” เมื่อเทคโนโลยีเป็นแค่เปลือกนอกในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ การนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่างหากเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องคำนึงถึง
บทความนี้จะพาทุกท่านทำความรู้จักกับธรรมชาติของเทคโนโลยี (Nature of Technology) ที่แทรกอยู่ในภาพยนตร์เรื่องนี้ ดังนั้น ขอบอกก่อนว่า จะมีเนื้อหาบางส่วนที่กล่าวถึงเหตุการณ์สำคัญในภาพยนตร์ ซึ่งอาจทำให้ผู้อ่านที่ยังไม่ได้ชมภาพยนตร์มาก่อน เสียอรรถรสในการรับชมได้
ภาพ 1 อลิตาหลังจากถูกเชื่อมต่อชิ้นส่วนดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่เข้ากับร่างกายใหม่
ที่มา: https://film-grab.com/2021/09/27/alita-battle-angel/#
ประโยคดังกล่าว มาจากภาพยนตร์ เรื่อง Alita: Battle Angel ออกฉายเมื่อปี 2562 กำกับโดย โรเบิร์ต รอดริเกซ จากบริษัทผู้สร้าง 20thCentury Fox เรื่องราวนี้เกิดขึ้นในโลกอนาคตที่หุ่นยนต์อยู่ร่วมกับมนุษย์ โดยตัวละครหลักเป็นไซบอร์ก (Cyborg)* “อลิตา (ALITA)” ที่ถูกเชื่อมต่อชิ้นส่วนดั้งเดิมที่หลงเหลืออยู่เข้ากับร่างกายใหม่ แต่ความจริงแล้ว ชื่อ อลิตา เป็นชื่อลูกสาวที่เสียชีวิตไปแล้วของแพทย์อิโดกับแพทย์ชิเรน หลังจากนั้น อลิตาได้พบกับฮิวโก้ มนุษย์ที่ทำให้เธอเข้าใจความเป็นมนุษย์จนเธอพร้อมที่จะแลกชีวิตของตนเองให้กับเขาได้
“ธรรมชาติของเทคโนโลยี”
ธรรมชาติของเทคโนโลยี เป็นคุณลักษณะเฉพาะตัวของเทคโนโลยี ซึ่งผู้เขียนได้เลือกกรอบแนวคิดของ American Association for the Advancement of Science: AAAS ในหนังสือ Science for all American(AAAS, 1990) มาใช้ในบทความนี้
“ทำความรู้จักหุ่นยนต์ในปัจจุบันกับในภาพยนตร์”
หากผู้อ่านเคยดูภาพยนตร์แนวไซไฟวิทยาศาสตร์ (Science-Fiction Movie) เกี่ยวกับหุ่นยนต์หรือวิทยาการความก้าวหน้าของเทคโนโลยี จะเห็นว่าหุ่นยนต์มีหลายประเภท ในภาพยนตร์มีการแข่งขันมอเตอร์บอล (Motorbal)** ซึ่งหุ่นยนต์ผู้เข้าแข่งขันถูกสร้างสรรค์ให้มีลักษณะและ
ความสามารถเฉพาะตัว โดยกระบวนการออกแบบและพัฒนาหุ่นยนต์เหล่านี้ ต้องอาศัยจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ตรงกับธรรมชาติของเทคโนโลยีที่กล่าวถึง "Technological development involves creative thinking" ในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีต่าง ๆ ต้องอาศัยกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นบนพื้นฐานของความรู้ทางวิทยาศาสตร์
*ไซบอร์ก (Cyborg) หมายถึง หุ่นยนต์ที่เชื่อมต่อกับสิ่งมีชีวิต หรือ ครึ่งคนครึ่งหุ่นยนต์
**มอเตอร์บอล (Motorball) เป็นกีฬา ผู้แข่งขันต้องแย่งชิงและนำลูกบอลไปยังเส้นชัย
ภาพ 2 พยาบาล และคนไข้เป็นไซบอร์ก อลิตา ที่อยู่ร่วมกับแพทย์อิโด ซึ่งเป็นมนุษย์
ที่มา: https://film-grab.com/2021/09/27/alita-battle-angel/#bwg2535/156695
ความหมายของหุ่นยนต์ อ้างอิงตามนิยามของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (2562) คือ เครื่องจักรกลอัตโนมัติที่ถูกออกแบบให้ทำงานบางประเภทแทนมนุษย์ได้ และสามารถติดตั้งระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อให้ตัดสินใจเองได้ และติดตั้งระบบอัตโนมัติให้เริ่มทำงานด้วยตัวเองตามโปรแกรมที่วางไว้ได้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอสรุปว่าหุ่นยนต์ คือเครื่องจักรชนิดหนึ่งที่นำมาใช้งานแทนมนุษย์ โดยมีกลไกการทำงานของหุ่นยนต์ที่แตกต่างกัน
ในบทความนี้ ผู้เขียนขอแบ่งประเภทของหุ่นยนต์โดยยึดเกณฑ์ตามรูปลักษณ์ภายนอกอ้างอิงตาม สวทช. (2561) ให้สอดคล้องกับหุ่นยนต์ที่ปรากฏในภาพยนตร์ AIita โดยหุ่นยนต์ที่ปรากฏในภาพยนตร์มีดังนี้
ประเภทแรก ไซบอร์ก (Cyborg) โดยในฉากผู้เข้าแข่งขันมอเตอร์บอล จะต้องดัดแปลงร่างกายของตนเองเข้ากับชิ้นส่วนของหุ่นยนต์ ปัจจุบันมีการนำขึ้นส่วนของหุ่นยนต์เชื่อมต่อกับมนุษย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำงาน ดังกรณีของ Dr.Kevin Warvick มนุษย์คนแรกของโลกที่มีสภาพกึ่งมนุษย์กึ่งเครื่องจักร โดยถูกฝังชิปลงไปในระบบประสาทส่วนกลาง บริเวณต้นแขน ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับชีวจริยธรรม และการควบคุมทางกฎหมาย ประเทศไทยมีพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หากทำการทดลองในมนุษย์ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน และร่างกายมนุษย์มีขีดจำกัด ปัจจุบันจึงยังไม่มีการพัฒนาหุ่นยนต์ไซบอร์กให้เกินขีดความสามารถของมนุษย์ ตรงกับธรรมชาติของเทคโนโลยีที่ว่า All Technologies Involve Control หรือเทคโนโลยีต้องมีการควบคุม
ประเภทที่สอง นาโนโรบอท (Nanorobot) เป็นหุ่นยนต์ขนาดเล็กมาก ประมาณ 0.5 - 3 ไมครอน ในภาพยนตร์นาโนโรบอทถูกใช้ในเทคโนโลยีทางการแพทย์ ช่วยซ่อมแซมอวัยวะของร่างกายได้อย่างรวดเร็วผิดธรรมชาติ โดยเข้าไปถอดรหัส RNA ในเซลล์เพื่อให้เกิดการผลิตโปรตีนปัจจุบันมีหุ่นยนต์นาโนโรบอทที่สามารถทำเช่นนี้ได้ และมีขนาดเทียบเท่า DNA มีชื่อว่า Xenobot (Chloe Tenn, 2021)
ภาพ 3 Dr. Kevin Warwick มนุษย์คนแรกของโลกที่มีสภาพกึ่งมนุษย์กึ่งเครื่องจักร
ที่มา: https://www.sciencefocus.com/future-technology/cyborgs-transhumans/
หุ่นยนต์ประเภทสุดท้ายที่เป็นตัวเอกของเรื่องก็คือ อลิตา จัดเป็น Humanoid ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเหมือนมนุษย์ และมีระบบปฏิบัติการ AI ช่วยในการประมวลผลการทำงาน ความพิเศษของอลิตาคือ สามารถประมวลผลการคิดขั้นสูง มีทักษะการทำงานเป็นทีม และความเห็นอกเห็นใจเหมือนมนุษย์ ปัจจุบัน หุ่นยนต์ประเภท Humanoid ตัวอย่างเช่น Sophia ถูกสร้างใน ปี 2560 และ Ameca ถูกสร้างใน ปี 2565 มีความคล้ายมนุษย์เพียงรูปลักษณ์ภายนอกและการแสดงออกทางสีหน้า แต่ระบบปฏิบัติการยังไม่ใกล้เคียงความเป็นมนุษย์เหมือนในภาพยนตร์ นอกจากนี้ การเชื่อมต่อระบบประสาทเข้ากับเครื่องจักร และควบคุมผ่านการสั่งการด้วยสมองของอลิตา คล้ายกับเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีชื่อว่า Neural Implants ซึ่งเป็นการใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับระบบประสาทติดตั้งเข้าไปในร่างกายมนุษย์ (Emily Waltz, 2021) ในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะสามารถพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการรับรู้มากขึ้น เทียบเท่ากับในภาพยนตร์ได้ตรงกับธรรมชาติของเทคโนโลยีที่ว่า The pace of technological change has been increasing หรือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเวลาผ่านไป
“AI ในปัจจุบัน กำลังจะแทนที่มนุษย์ เหมือนในภาพยนตร์หรือไม่”
ตามที่ได้กล่าวข้างต้นว่า AI เป็นโปรแกรมที่ทำให้หุ่นยนต์สามารถคิด วิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจ โดยประมวลผลจากฐานข้อมูลได้ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ AI ไม่ได้ปรากฏเฉพาะในตัวละครหุ่นยนต์เท่านั้น แต่ทั้งเมืองถูกขับเคลื่อนด้วย AI ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรมบนจอแสดงผลในห้องตรวจไซบอร์กของแพทย์ ที่ควบคุมผ่านการสั่งการด้วยคอมพิวเตอร์ การตรวจจับอาวุธและการเคลื่อนไหว การระบุตัวตนจากการจดจำใบหน้า และระบบตรวจจับภาพแบบเรียลไทม์ ขณะแข่งขันมอเตอร์บอล
AI ในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ดูล้ำสมัยในขณะนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ AI ในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทำให้ AI ในปัจจุบัน สามารถดึงข้อมูลจากฐานข้อมูลร่วมกับระบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) มาวิเคราะห์เป็นข้อมูลเชิงลึก เพื่อพัฒนาต่อยอดกลยุทธ์ขององค์กร และสร้างโมเดลจำลองการทำงานเสมือน เพื่อประเมินผลกระทบหรือพฤติกรรมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้เช่นกัน อาจสรุปได้ว่า AI จะสามารถคิดวิเคราะห์วางแผน และตอบสนองคำสั่งที่ซับซ้อนได้มากขึ้น รวมถึงแสดงผลเพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ได้แม่นยำขึ้นด้วย (PwC Australia, 2022)
แล้ว “AI ในปัจจุบันกำลังจะแทนที่มนุษย์เหมือนในภาพยนตร์หรือไม่” ดร.ทาซากะ ฮิโรชิ (2564) ได้ให้ความเห็นในหนังสือเรื่อง “อนาคตที่ AI ทำอะไรคุณไม่ได้” ว่า AI จะสามารถทำงานที่เฉพาะเจาะจงแทนมนุษย์ได้เฉพาะทักษะพื้นฐานกับทักษะวิชาการเท่านั้น แต่จะไม่สามารถทำงานแทนมนุษย์ในงานที่ใช้ทักษะวิชาชีพ ทักษะการสื่อสาร และทักษะที่ใช้ในองค์กร (กฤตยา นาคประสิทธิ์, 2565) ในภาพยนตร์มีฉากที่แพทย์ชิเรนใช้ทักษะทางวิชาชีพ ช่วยให้ฮิวโก้ยังมีชีวิตอยู่ในร่างไซบอร์กต่อไป และแสดงความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งจัดเป็นทักษะที่ใช้ในองค์กรและเป็นสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้ ดังนั้น AI จะไม่เข้ามาทำงานแทนที่มนุษย์ทั้งหมด จนทำให้บางอาชีพของมนุษย์หายไปอย่างแน่นอน เนื่องจาก AI เป็นเพียงเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกในการทำงาน วิเคราะห์ข้อมูลได้แม่นยำ และเพิ่มประสิทธิภาพให้มากขึ้นเท่านั้น (Semmler, S., & Rose, Z., 2017) ตรงกับธรรมชาติของเทคโนโลยีที่ว่า Tools help people do things efficiently, accurately, and safely หรือเทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้มนุษย์ทำสิ่งต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ แม่นยำ และปลอดภัย
“วิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์กับเทคโนโลยีหรือไม่”
ฉากที่อวัยวะของแพทย์ชิเรนถูกส่งไปศึกษา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีไซบอร์ก อวัยวะเหล่านั้นถูกเก็บในระบบที่เสมือนยังอยู่ในร่างกายมนุษย์ มีการต่ออวัยวะเข้ากับหลอดเลือด ควบคุมปริมาณแก๊สออกซิเจนและอุณหภูมิที่เหมาะสม ทำให้อวัยวะยังอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีที่ใช้ในการเก็บรักษาอวัยวะนี้ จะต้องอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประดิษฐ์เทคโนโลยีนี้ขึ้นมา และทำให้วงการวิทยาศาสตร์ก้าวหน้าขึ้นตรงกับธรรมชาติของเทคโนโลยีที่ว่า Technology Draws on Science and Contributes to It หรือวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีมีความเกี่ยวข้องกัน การเก็บรักษาอวัยวะในปัจจุบันมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในการปลูกถ่ายอวัยวะ ซึ่งสามารถเก็บรักษาอวัยวะได้ในระยะเวลาที่จำกัด เช่น ไตเก็บไว้ได้ 24 ชั่วโมง ในขณะที่หัวใจเก็บไว้ได้เพียง 4 ชั่วโมง เท่านั้น โดยไม่มีการควบคุมเหมือนระบบในภาพยนตร์ (ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย,2562) หากในอนาคตมีเทคโนโลยีที่สามารถเก็บอวัยวะให้สมบูรณ์ได้นานขึ้น อุปสรรคในการปลูกถ่ายอวัยวะภายใต้เวลาที่จำกัดจะลดลง
ภาพ 4 เทคโนโลยีเก็บอวัยวะในภาพยนตร์
ที่มา: https://moving-pictures.ingebrigtsen.no/2019/11/16/alita-battle-angel/
จะเห็นได้ว่าเราสามารถเรียนรู้ธรรมชาติของเทคโนโลยี ผ่านภาพยนตร์ที่สะท้อนมุมมองการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ทางเทคโนโลยี ผสานกับความคิดสร้างสรรค์ ภายใต้การควบคุมของระบบและขีดจำกัดของธรรมชาติ แต่จะต้องคำนึงถึงแนวปฏิบัติ และจริยธรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านั้นด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 50 ฉบับที่ 237 กรกฎาคม - สิงหาคม 2565
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
American Association for the Advancement of Science. (AAAS). (1990). Nature of Technology. Retrieved October 13, 2022,American Association for the Advancement of Science. (AAAS). (1990). Nature of Technology. Retrieved October 13, 2022,from https://www.project2061.org/publications/sfaa/online/chap3.htm.
BBC Science Focus Magazine. (2 July 2021). Rise of the Cyborgs: inside the technology transcending humanity’s biological limits. Retrieved October 13, 2022,from https://www.sciencefocus.com/future technology/cyborgs-transhumans/.
Chloe Tenn. (2 December 2021). The-Scientist. Retrieved October 13, 2022, from https://www.the scientisl.com/news-opinion/xenobot-living-robots-canreproduce-69477.
Emily Waltz. (19 Mar 2021). How Do Neural Implants Work. Retrieved October 11, 2022, from https://comp-eng.binus.ac.id/2021/03/19/how-do-neural-implants-work/.Film-grab. (2019). Alita: battle angel.
Film-Grab. Retrieved October 17, 2022, from https://moving-pictures.ingebrigtsen.no/2019/11/16/alita-battle-angel.Larsmagne23. (16 November 2019). Alita: battle angel. Uncategorized. Retrieved October 17, 2022, from https://moving-pictures.ingebrigtsen.no/2019/11/16/alita-battle-angel.
The Medical Futurist. (22 June 2017). The World’s Most Famous Real-Life Cyborgs. Retrieved October 13, 2022, from https://medicalfuturist.com/the-worldsmost-famous-real-life-cyborgs/.PwC Australia. (2022, February 2). Six Predictions for Artificial Intelligence in 2022.
PwC Australia. Retrieved October 13, 2022,from https://www.pwc.com.au/digitalpulse/2022-ai-redictions.html/.
Semmler, S., & Rose, Z. (2017). Artificial Intelligence: application today and implications tomorrow. Duke L. & Tech.
กฤตยา นาคประสิทธิ์. (2022). อนาคต ที่ AI ทำอะไรคุณไม่ได้. Rajabhat Maha Sarakham University Journal, 16(1): 225-228.
ชัยประสิทธิ์, ช. (8 เมษายน 2565). 6 เทรนด์เทคโนโลยี AI ที่ธุรกิจห้ามพลาดในปี 2022. The STANDARD. The Standard. สืบค้นเมื่อ 13 ตุลาคม 2565,จาก https://thestandard.co/6-ai-technology-trend-2022/.
ทาซากะ ฮิโรชิ. (2564). อนาคตที่ AI ทำอะไรคุณไม่ได้. แปลจาก NORYOKU WO MIGAKU AI JIDAI NI KATSUYAKUSURU JINZAI “3TSU NO NORYKU”.ผู้แปล ปาวัน การสมใจ. กรุงเทพมหานคร: วีเลิร์น.
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย. (2562). ความรู้เกี่ยวกับการบริจาค. สืบค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2565, จาก https://www.organdonate.in.th/knowledge.
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล. (19 พฤษภาคม 2561). เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2565, จาก https://www.depa.or.th/en/article-view/tech-series-robotics-and-automation-system/
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)