การเรียนรู้ตามแนวคิด กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในบริบทชั้นเรียนปฐมวัย
Design Thinking หรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหาตลอดจนพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นมุมมองของผู้ใช้ (user-centered) โดยเน้นการสร้างผลลัพธ์ในอนาคตที่เป็นรูปธรรมให้ได้แนวทางหรือนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ต่อผู้ใช้งานและสถานการณ์ต่างๆ (ปัทมาภรณ์ วิทูร และ อรพรรณ บุตรกตัญญู, 2565) การคิดเชิงออกแบบเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นการเรียนรู้จากการปฏิบัติ ทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่มีความหมาย โดยเรียนรู้และให้ความสำคัญกับการใช้งานและความเป็นอยู่ของผู้ใช้งานนวัตกรรมนั้น จะทำให้เรามองเห็นวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ไขปัญหา สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ทำให้เรารู้จักมองปัญหาตลอดจนโจทย์ของการทำงานต่างๆ ได้รอบทิศและรอบคอบขึ้น ฝึกให้มีการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน และมีลำดับการบริหารจัดการที่ดีในการนำไปใช้กับการปฏิบัติงาน
กระบวนการคิดเชิงออกแบบเป็นได้มากกว่าแค่การคิดค้นสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ออกมาเป็นสิ่งของหรือชิ้นงาน ซึ่งจริงๆ แล้ว กระบวนการนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งด้านการศึกษาที่มีผลงานวิจัยมาแล้วว่า กระบวนการคิดเชิงออกแบบสามารถช่วยพัฒนาทักษะการคิดสร้างสรรค์ และกระตุ้นความตื่นตัวในด้านการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Alertness) ให้กับผู้เรียนอีกด้วย (Pratomo et al., 2021) ดังนั้น ผู้เขียนได้นำแนวคิดดังกล่าวมาบูรณาการในการจัดประสบการณ์เรียนรู้และขอนำเสนอตัวอย่างการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ระดับอนุบาลศึกษาปีที่ 2 โดยสถานการณ์ปัญหาที่ต้องศึกษาและแก้ไข ได้แก่ ปัญหาสภาพการจราจรและที่จอดรถ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในโรงเรียน ผู้เขียนเลือกใช้ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ตามกระบวนการคิดเชิงออกแบบของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford d.school, 2010) ซึ่งประกอบไปด้วยการจัดการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 เข้าใจปัญหา (Empathize) ขั้นที่ 2 ระบุความต้องการ (Define) ขั้นที่ 3 นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา (Ideate) ขั้นที่ 4 สร้างผลงาน (Prototype) ขั้นที่ 5 ทดสอบ (Test)
ภาพ 1 กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Stanford d.school, 2010)
ขั้นที่ 1 เข้าใจปัญหา (Empathize)
ขั้นตอนนี้เป็นการสร้างความเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้ง เป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญยิ่งในกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เพราะเป็นการทำความเข้าใจในปัญหาอย่างลึกซึ้ง ปราศจากการตัดสินความคิด เริ่มจากครูนำสถานการณ์ปัญหาสภาพการจราจรและที่จอดรถของโรงเรียน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในชีวิตประจำวันมาเป็นประเด็นปัญหา ชักชวนและกระตุ้นให้นักเรียนร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยใช้คำถามปลายเปิดว่า “นักเรียนมีความคิดเห็นและมีความรู้สึกเกี่ยวกับการจราจรและที่จอดรถของโรงเรียนอย่างไร” เพื่อสร้างเพื่อความเข้าใจในปัญหามากยิ่งขึ้น ครูนำนักเรียนลงพื้นที่สำรวจและสังเกตที่จอดรถบริเวณด้านหน้าและด้านหลังโรงเรียน ครูกระตุ้นให้นักเรียนสังเกตลักษณะของที่จอดรถว่าช่องจอดรถมีลักษณะอย่างไร และมีจำนวนเท่าไร รวมทั้งชวนให้นักเรียนคิดวิเคราะห์ว่าที่จอดรถมีจำนวนเพียงพอกับความต้องการหรือไม่ นอกจากนี้ ครูยังมอบหมายภารกิจให้นักเรียนไปสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่จอดรถ ได้แก่ ผู้ปกครอง ครู บุคลากร และนักเรียนห้องอื่นๆ เพื่อทำความเข้าใจปัญหา ความต้องการ และทัศนคติของกลุ่มผู้ใช้อย่างลึกซึ้ง ดังภาพที่ 2 และ 3
ภาพ 2 (ก) นักเรียนบันทึกการสำรวจที่จอดรถ (ข) และ (ค) การสัมภาษณ์ผู้ใช้ที่จอดรถ
ภาพ 3 ภาพที่จอดรถบริเวณประตูด้านหน้าโรงเรียนที่นักเรียนออกแบบ
ขั้นที่ 2 ระบุความต้องการ (Define)
ขั้นตอนนี้ต่อเนื่องมาจากขั้นตอนการสร้างความเข้าใจปัญหาของกลุ่มผู้ใช้ และระบุจุดที่สร้างความเจ็บปวดของผู้ใช้งานในการใช้บริการ (Pain Points) เพื่อนำข้อมูลที่ค้นพบมาสังเคราะห์ สรุปประเด็นสำคัญ และตั้งกรอบปัญหาในการใช้บริการ เพื่อนำไปต่อยอดสู่การคิดหาแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาให้ตรงกับความต้องการได้ พบว่านักเรียนรับรู้และเข้าใจสาเหตุของปัญหาว่า การจราจรบริเวณถนนหน้าโรงเรียนติดขัด เนื่องจากรถของผู้ปกครองมีจำนวนมาก ส่งผลให้ที่จอดรถมีไม่เพียงพอ และช่องจอดรถมีขนาดแคบเกินไป ทำให้ไม่สะดวก นักเรียนสามารถสรุปความต้องการของผู้ใช้ได้ ดังนี้ 1) ต้องการให้โรงเรียนสร้างที่จอดรถที่มีหลังคาเพื่อป้องกันแดดและฝน 2) ขยายช่องจอดรถให้กว้างขึ้น 3) ติดป้ายสัญญาณจราจร และ 4) ติดตั้งไฟจราจรที่สี่แยกหน้าโรงเรียน
ขั้นที่ 3 นำเสนอแนวทางแก้ปัญหา (Ideate)
ขั้นตอนนี้เน้นไปที่การสร้างสรรค์และนำเสนอแนวคิดที่แตกต่างและหลากหลาย เนื่องจากคำว่า Ideate เป็นคำศัพท์ที่กำหนดขึ้นใหม่จากการรวมกันของคำว่า Idea (แนวคิด) กับ Create (สร้างสรรค์) จากนั้นจึงจัดลำดับความสำคัญและความเป็นไปได้ของแนวคิดต่างๆ โดยในกิจกรรมจะเน้นให้นักเรียนใช้กระบวนการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5 คน เพื่อระดมความคิดหาแนวทางและวิธีการแก้ปัญหาร่วมกัน นำข้อมูลความต้องการที่ได้จากขั้นก่อนหน้ามาบูรณาการกับประสบการณ์เดิม ผสมผสานระหว่างความรู้เก่าและใหม่ กิจกรรมนี้ใช้กระบวนการคิดเชิงเหตุผล เชื่อมโยงความคิด เหตุการณ์ และข้อมูลต่างๆ แล้วนำเสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่หลากหลาย พร้อมให้เหตุผลประกอบว่าเหตุใดจึงเลือกใช้วิธีการแก้ปัญหานั้นๆ
ขั้นที่ 4 สร้างผลงาน (Prototype)
ขั้นตอนนี้นักเรียนได้ออกแบบในกระดาษและสร้างชิ้นงานเพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่จอดรถบนพื้นฐานความต้องการของผู้ใช้งาน โดยตามหลักการควรเน้นให้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อที่จะมีเวลาในการทดสอบและปรับแก้ในระยะต่อไป นักเรียนแต่ละกลุ่มร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางแผนการทำงาน (ดังภาพที่ 4 - 6) ซึ่งมีขั้นตอนดังต่อไปนี้
1. ระดมความคิดว่าจะสร้างที่จอดรถอย่างไร มีองค์ประกอบอะไรบ้าง และมีวิธีทำอย่างไร
2. ออกแบบที่จอดรถจำนวน 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) แบบลานจอดรถ (2) แบบอาคารจอดรถเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างว่าที่จอดรถแบบใดสามารถจอดรถได้มากที่สุด หาวิธีการที่เหมาะสม และนำเสนอผลงานการออกแบบของกลุ่มตนเองให้เพื่อนๆ ฟัง โดยครูใช้คำถามกระตุ้นการคิดของนักเรียน และจดบันทึกคำพูดของนักเรียนไว้
3. เลือกวัสดุ อุปกรณ์ที่ใช้ในการประดิษฐ์ชิ้นงาน ภายใต้เงื่อนไขว่านักเรียนสามารถเลือกใช้วัสดุหรืออุปกรณ์อะไรก็ได้ที่มีอยู่ในห้องเรียน
4. ลงมือประดิษฐ์ชิ้นงานต้นแบบ ตามวิธีการที่นักเรียนได้ออกแบบไว้ โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกและให้คำปรึกษาระหว่างการทำกิจกรรม
ภาพ 4 ภาพกิจกรรมขณะที่นักเรียนออกแบบชิ้นงานและผลงานการออกแบบ
ภาพ 5 (ก) การออกแบบลานจอดรถ (ข) สร้างชิ้นงานตามแบบ
ภาพ 6 (ก) การออกแบบอาคารจอดรถ (ข) สร้างชิ้นงานตามแบบ
ขั้นที่ 5 ทดสอบ (Test)
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นของการทดสอบ ทำความเข้าใจชิ้นงาน และแสดงบทบาทสมมติในฝั่งของผู้ใช้งาน นักเรียนนำชิ้นงานที่ประดิษฐ์มาทดสอบว่าตนเองสามารถทำตามแบบที่ได้ออกแบบไว้หรือไม่ มีปัญหาหรืออุปสรรคในการสร้างชิ้นงานหรือไม่ และนักเรียนมีวิธีแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร รวมถึงอธิบายชิ้นงานของกลุ่มตนเองตามความเข้าใจในขั้นตอนนี้สามารถปรับปรุงต้นแบบ พัฒนา และหาทางการแก้ปัญหาให้ดียิ่งขึ้น พบว่านักเรียนส่วนใหญ่สามารถสร้างผลงานตามที่ได้ออกแบบไว้ แต่มีนักเรียน 2 กลุ่ม เมื่อสร้างและทดสอบชิ้นงานได้มีการแก้ไขปรับเปลี่ยน ได้แก่ กลุ่มที่ 1 นักเรียนออกแบบที่จอดรถ 8 ชั้นโดยใช้ตัวต่อพลาสติก บล็อกไม้ และมีลานจอดเฮลิคอปเตอร์บนชั้นดาดฟ้า แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้ว ทดสอบชิ้นงาน เกิดปัญหาว่าตัวอาคารไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ทำให้ชั้นบนร่วงถล่มลงมา นักเรียนวิเคราะห์ว่าอาคารสูงเกินไปทำให้รับน้ำหนักไม่ได้ จึงปรับปรุงแก้ไขเป็น 7 ชั้น แล้วทำการทดสอบอีกครั้งพบว่าอาคารจอดรถที่มีความสูง 7 ชั้นมีความมั่นคงและแข็งแรงกว่า ส่วนกลุ่มที่ 2 ออกแบบและสร้างอาคารจอดรถ 9 ชั้น แต่ไม่สามารถทำทางลาดขึ้นลงของรถได้ จึงคิดหาวิธีการปรับเปลี่ยนเพิ่มลิฟต์ยกรถขึ้นลงแทน
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอน เปิดโอกาสให้นักเรียนได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา รวมถึงผลงานการสร้างอาคารจอดรถต้นแบบแก่นักเรียนห้องอื่นๆ ครู และผู้ปกครอง ผ่านกิจกรรมเปิดชั้นเรียน (Open Class)
จากตัวอย่างกิจกรรมจะเห็นได้ว่า ระหว่างการทำกิจกรรมในทุกขั้นตอนนักเรียนได้เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาตามกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ทำให้นักเรียนได้มีโอกาสแสดงและนำเสนอแนวคิดและแก้ปัญหาที่เผชิญในชีวิตประจำวันได้ในมุมมองที่หลากหลายอย่างสร้างสรรค์ นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติและเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม ฝึกทักษะการเป็นผู้ฟังที่ดีอย่างลึกซึ้ง ได้พัฒนาทัศนคติในการเอาใจใส่ผู้อื่น สร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง จนทำให้ค้นพบวิธีการแก้ปัญหาที่แปลกใหม่ และได้ฝึกทักษะในการเป็นผู้ประกอบการ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 242 พฤษภาคม – มิถุนายน 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/242/50/
บรรณานุกรม
Pratomo, L Siswandari, C & Wardani, D. K. (2021). The Effectiveness of Design Thinking in Improving Student Creativity Skills and Entrepreneurial Alertness. International Journal of Instruction, 14(4), 695–712. doi.org/10.29333/iji.2021.14440
The Stanford D.school Bootcamp Bootleg. (HPI). (2010). D.school bootcamp bootleg. สืบค้นเมื่อ 27 มีนาคม 2566, จาก https://dschool.stanford.edu/resources/design-thinking-bootleg
Yalcin, V. (2022). Design Thinking Model in Early Childhood Education. International Journal of Psychology and Educational Studies, 9(1), 196–210.
ปัทมาภรณ์ วิทูร และ อรพรรณ บุตรกตัญญู. (2565). การจัดประสบการณ์การเรียนรู้บูรณาการสตรีมศึกษา เพื่อพัฒนาการคิดเชิงออกแบบของเด็กปฐมวัย. JED วารสารอิเล็กทรอนิกส์ทางการศึกษา, 17(1), 202.
-
18361 การเรียนรู้ตามแนวคิด กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในบริบทชั้นเรียนปฐมวัย /article-stem/item/18361-17-04-2025เพิ่มในรายการโปรด


