เดินทางมาตอนสุดท้ายแล้วสำหรับบทความซีรี่ส์ชุดรู้จักกับนักวิทย์-คณิต จากทุกมุมโลก ในบทความสุดท้ายของซีรีส์นี้ เราจะขอพาทุกท่านไปรู้จักกับบุคคลสำคัญอีกท่านหนึ่ง โดยบุคคลท่านนี้เป็นผู้บุกเบิกการทำวิจัยและพัฒนายาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นความสำเร็จที่น่ายกย่องเชิดชูอย่างมากสำหรับวงการแพทย์และเภสัชกร โดยบุคคลท่านนี้มีชื่อว่า เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์
เป็นที่รู้กันดีว่าโรคเอดส์นั้นมีความร้ายแรงเพียงใด อีกทั้งโรคร้ายนี้ยังไม่ได้มีเฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่โรคชนิดนี้นั้นยังมีทุกพื้นที่ทั่วโลก แต่ก็ยังไม่มียารักษาให้หายขาดกระทั่งจนปัจจุบัน
ภาพ เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์
ที่มา http://www.thaicivilsociety.com/?p=content&id_content=133
ประวัติส่วนตัว
เภสัชกรหญิง ดร. กฤษณา ไกรสินธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2495 มีภูมิลำเนาเป็นชาวเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีพี่น้องจำนวน 2 คน บิดาและมารดาของ ดร. กฤษณา ทำงานทางสาธารณสุขทั้งคู่ บิดาเป็นแพทย์และมารดาเป็นพยาบาล จึงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ ดร. กฤษณาสนใจเส้นทางสาธารณสุข ในช่วงวัยเด็กได้รับการศึกษาที่เกาะสมุยบ้านเกิด แล้วย้ายมาศึกษาระดับมัธยมศึกษา ณ โรงเรียนราชินี และเมื่อจบก็เอ็นทรานซ์เข้าเรียนต่อใน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากนั้นจึงต่อปริญญาโท สาขาเภสัชวิเคราะห์ มหาวิทยาลัยสตรัชคไลด์ และปริญญาเอก สาขาเภสัชเคมี มหาวิทยาลัยบาธ ประเทศอังกฤษ
ภายหลังสำเร็จการศึกษา ดร.กฤษณาได้นำความรู้ที่เรียนเล่าเรียนกลับมาทำงานเป็นอาจารย์ประจำคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาเภสัชเคมี แต่ในขณะนั้นศาสตร์ด้านเภสัชเคมีไม่เป็นที่สนใจเท่าใดนักจึงเป็นอาจารย์อยู่ได้สักพักก็ลาออก มาทำงานที่สถาบันวิจัยและพัฒนาองค์การเภสัชกรรม เมื่อปี พ.ศ. 2532 เพราะอยากผลิตยาที่มีคุณภาพให้กับคนไทย โดยเป็นผู้ริเริ่มการวิจัยยาต้านเชื้อไวรัสเอดส์ในประเทศไทย จนสามารถผลิตยาสามัญชื่อ "ยาเอดส์" ได้เป็นครั้งแรกในประเทศกำลังพัฒนา และได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ด้วยอายุเพียง 37 ปี
ผลงานที่สำคัญของ ดร. กฤษณา
ผลงานในระดับประเทศ
พัฒนาสูตรตำรับและศึกษาเภสัชชีวสมบูรณ์ของยาต้านเอดส์ชนิดต่างๆ อาทิ ยาสามัญเอแซดที(AZT) ป้องกันการติดเชื้อเอดส์จากแม่สู่ลูก (พ.ศ. 2535) ยาสูตรผสมรวมเม็ดต้านเอดส์หรือจีพีโอเวียร์ GPO – VIR) (พ.ศ. 2545) และยาต้านเอดส์ชนิดอื่นอีก 5 ชนิด ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ของไทยจำนวน 100,000 คน
สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ โดยประเทศไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกของโลกที่สามารถผลิตยาด้านเอดส์ที่มีคุณภาพ ลดค่าใช้จ่ายยาต้านเอดส์ของผู้ป่วยเอดส์จากเดือนละ 20,000 ถึง 30,000 บาทต่อคนต่อเดือน เหลือเพียง 1,200 บาทต่อคนต่อเดือน และองค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาสูตรผสมเป็นยาที่อยู่ในคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกในการรักษาโรคเอดส์(WHO’s treatment guideline for HIV/AIDS patients)
ระหว่าง ปี พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2545 พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยสำหรับใช้เป็นยาอาหารและเครื่องสำอาง จำนวน 64 รายการ
ระหว่าง ปี พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2545 พัฒนาและผลิตยาแผนปัจจุบันจำนวนมาก อาทิ ยารักษาโรคเบาหวาน ยาลดความดัน ยาลดคอเลสเตอรอล และยาสำหรับเด็ก ทำให้มียาคุณภาพดีออกสู่ตลาดมากขึ้นและมีราคาถูกลง
เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2552 ถ่ายทอดความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านสมุนไพรของไทยและร่วมมือกับคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ผลิตยาสมุนไพรไทยที่มีการใช้ตามองค์ความรู้ดั้งเดิมจำนวน 4 ตำรับ ทั้งในรูปแบบยาเม็ดและยาหอม เพื่อใช้รักษาโรคและส่งเสริมสุขภาพของประชาชนในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียง
สร้างองค์ความรู้และก่อตั้งหน่วยฝึกอบรมที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีให้เป็นสถานที่เรียนรู้และฝึกงานการผลิตยาในขั้นอุตสาหกรรมแก่นักศึกษาไทยและชาวแอฟริกา
ผลงานในระดับนานาชาติ
ระหว่างปี พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2548 ก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านเอดส์ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และฝึกสอนพนักงานของโรงงาน Pharmakina ที่เมือง Bukavu ในการผลิตยาต้านโรคเอดส์และควบคุมคุณภาพในขั้นอุตสาหกรรม สำเร็จเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2548 เพื่อใช้รักษาคนงานที่ติดเชื้อเอดส์ของโรงงานและชาวคองโกที่ติดเชื้อเอดส์จำนวน 30,000 คน
ระหว่างปี พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2548 ก่อสร้างโรงงานผลิตยาต้านเอดส์และยารักษาโรคมาลาเรียในประเทศสาธารณรัฐแทนซาเนียและฝึกสอนพนักงานของโรงงาน Tanzania Pharmaceutical Industry (TPI) เมือง Arusha ในการผลิตยาต้านโรคเอดส์ ยาเม็ดและยาผงสำหรับรักษาโรคมาลาเรียสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก สำเร็จเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ช่วยชีวิตผู้ป่วยเอดส์ 60,000 คน และผู้ป่วยโรคมาลาเรียหลายล้านคน
ระหว่างปี พ.ศ. 2549 - พ.ศ. 2550 ถ่ายทอดความรู้และฝึกอบรมบุคลากรชาวแอฟริกาในการผลิตและควบคุมคุณภาพยารักษาโรคมาลาเรีย ชนิดเม็ดยาและยาเหน็บ สำหรับผู้ใหญ่และเด็กในประเทศแอฟริกาตะวันตก ได้แก่ เบนิน เซเนกัล มาลี แกมเบีย และบูร์กินาฟาโซ ในแอฟริกาใต้ อาทิ แซมเบีย
ระหว่างปี พ.ศ. 2551 - พ.ศ. 2552 ก่อสร้างโรงงานยาและถ่ายทอดความรู้ฝึกสอนบุคลากรท้องถิ่นในประเทศสาธารณรัฐบุรุนดี ในการผลิตยา และควบคุมคุณภาพยาเม็ดรักษาโรคมาลาเรียสำหรับผู้ใหญ่และเด็ก
ปี พ.ศ. 2552 ก่อสร้างโรงงานผลิตยา และก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านพืชสมุนไพร รวมทั้งถ่ายทอดความรู้ด้านเภสัชกรรมให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยHarbin Institute of Technologyประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน
ผลงานวิชาการ
เภสัชเคมีควบคุมคุณภาพ
บทความทางวิชาการกว่า 100 เรื่อง และงานวิจัยด้านเภสัชกรรมด้วยตนเอง และร่วมในการทำงานวิจัยต่างๆจำนวนมากกว่า 100 เรื่อง
สำหรับเกียรติประวัติและผลงานที่ได้รับการยกย่องจากทั่วโลกของศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เป็นเภสัชกรชาวไทยที่อุทิศตนช่วยเหลือผู้ป่วยในการผลิตยาในทวีปแอฟริกาและเอเชีย และผู้ด้อยโอกาสมากมาย จนได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์โลก (อังกฤษ: Global Scientist Award) จากมูลนิธิเลตเต็น ประเทศนอร์เวย์ ประจำปี พ.ศ. 2547[3] รางวัลบุคคลแห่งปีของเอเชียประจำปี พ.ศ. 2551 และรางวัลแมกไซไซสาขาบริการสาธารณะประจำปี พ.ศ. 2552 และรางวัลอื่นๆอีกหลายรางวัล ปัจจุบัน ดร.กฤษณา ดำรงตำแหน่งคณบดีของคณะการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร.กฤษณา ได้รับคำยกย่องสรรเสริญเป็นอย่างสูง ในพิธีมอบรางวัลรามอน แม็กไซไซ วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ.2552 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ โดยมีข้อความดังนี้
“..ในวันนี้คนทั่วโลกจำนวน 38 ล้านคนดำรงชีวิตอยู่กับโรคร้ายแรง คือ โรคเอดส์อย่างเงียบๆ และที่ยิ่งน่าสะพรึงกลัวไปกว่านั้น ในระยะเวลาไม่ถึง 30 ปีที่ผ่านมา คนจำนวนกว่า 25 ล้านได้เสียชีวิตลงแล้วเพราะโรคเอดส์ ความพยายามแก้ไขปัญหาไม่ให้โรคเอดส์ติดต่อและระบาดในวงกว้างจำเป็นต้องเกิดข้นจากการมียาต้านโรคเอดส์ราคาถูก และผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาได้ จึงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจที่ปัญหานี้ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในประเทศกำลังพัฒนา ที่ซึ่งผู้ติดเชื้อเฮชไอวีและป่วยเป็นโรคเอดส์จำนวน 9 ใน 10 คนอาศัยอยู่ ในประเทศเหล่านี้ผู้คนจำนวนนับไม่ถ้วนยังต้องมีชีวิตอยู่ด้วยความเสี่ยง เนื่องจากกฎหมายสิทธิบัตรยา และการขาดแคลนยาชื่อสามัญต้านโรคเอดส์ ทั้งสองปัจจัยส่งผลให้ยาต้านโรคเอดส์ที่เป็นที่ต้องการอย่างมากมีราคาแพงเกินไปที่ผู้ป่วยจะสามารถซื้อหาได้ เภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ จึงทำงานด้วยปณิธานที่แน่วแน่ที่จะแก้ไขวิกฤตนี้”
แหล่งที่มา
ศ.ภญ.ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้อุทิศตนใช้ความรู้ในการผลิตยาต่อต้านไวรัส HIV. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก https://www.balancemag.net/3511/
เภสัชกรหญิง ดอกเตอร์ กฤษณา ไกรสินธุ์. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก https://www.thairath.co.th/person/1752
ไม่ท้อ ไม่กลัว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ เภสัชกรหญิงโลกไม่ลืม. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก https://praew.com/people/178531.html
กว่าจะเป็น “หมอยิปซี” ของดร.กฤษณา ไกรสินธุ์. สืบค้นเมื่อ 18 มิถุนายน 2563. จาก http://www.thaicivilsociety.com/?p=content&id_content=133
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)