เมื่อโลกเริ่มก้าวเข้าสู่ทศวรรษใหม่ (ค.ศ.2011-2021) ที่นับว่าเป็นทศวรรษแห่งการเริ่มต้นนวัตกรรมใหม่และปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงเป็นการก้าวเข้าสู่ยุครุ่งเรืองแห่งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่แท้จริงเลยก็ว่าได้ ซึ่งทศวรรษใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ เหล่าผู้ติดตามข่าวสารทางเทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงฝั่งผู้ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ สมาร์ตโฟน และ คอมพิวเตอร์ต่างก็ตั้งคำถามและเสาะแสวงหาแนวโน้มที่เป็นไปได้ (หรืออาจจะไม่ได้?) ว่า ในอนาคต สมาร์ตโฟน จะมาแทนที่คอมพิวเตอร์ได้หรือไม่ ทิศทางการใช้งานของผู้บริโภคจะเป็นอย่างไรบ้าง ถือได้ว่าเป็นกระแสที่มาแรงเลยทีเดียวในตอนนี้
ภาพการใช้คอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน
ที่มา: pixabay.com ,William Iven
มาเริ่มวิเคราะห์จากประเด็นที่ “ความสามารถหรือแนวโน้มที่เทคโนโลยีของ สมาร์ตโฟน จะพัฒนาจนมาแทนที่คอมพิวเตอร์ได้” กันดีกว่า จากการยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ พฤติกรรมการทำงานผ่านสมาร์ตโฟนของผู้ใช้งานในปัจจุบัน เนื่องจากความสะดวก ง่ายต่อการพกพาไปยังสถานที่ต่างๆ ทำให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งกิจกรรมของการทำงานดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็น การประชุมงานแบบออนไลน์ แชร์ไฟล์งาน หรือแม้กระทั่งการพิมพ์เอกสาร ก็สามารถทำงานแบบออนไลน์ได้แล้ว โดยสามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันออนไลน์ที่มีให้โหลด ผ่านระบบปฏิบัติการทั้งแบบ iOS และ Android เรียกได้ว่า ง่ายทั้งการติดตั้งและการใช้งานจริงๆ เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ต ก็ทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่โต๊ะทำงานทั้งวัน และยังสนุกกับการทำงานได้มากขึ้นอีกด้วย
ไม่ใช่แค่การทำงานเท่านั้น แต่การเรียนออนไลน์ ก็เป็นเทรนด์ใหม่ที่มาแรงมากในตอนนี้ โดยมีข้อดีตรงที่ผู้เรียนสามารถเรียนจากที่ไหนของโลกก็ได้ ทำให้ใครก็ตามที่มีอินเทอร์เน็ต ก็สามารถเข้าถึงคลาสเรียนของสถาบันชั้นนำได้แบบไม่ยากเย็นเท่าใดนัก โลกของเราได้ก้าวเข้าสู่การศึกษาแบบไร้พรมแดนแล้วจริงๆ อีกทั้งการหาข้อมูล และปรึกษาอาจารย์ก็สามารถทำได้ง่ายผ่าน Browser และ Search engine แบบต่างๆ อย่าง Google ได้ด้วย เป็นต้น นอกจากนี้กระแสความนิยมด้านความต้องการในการเชื่อมต่อกันผ่านโซเชี่ยลมีเดียตลอดเวลา ทำให้ข้อดีของสมาร์ตโฟนที่พกพาไปได้ทุกที่และทุกเวลา เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งความสะดวกที่สนองต่อความต้องการใช้งานแบบ “ตลอดเวลา” นี้ก็ถือว่า สมาร์ตโฟน ชนะคอมพิวเตอร์ไปอย่างขาดลอยทีเดียว ด้วยขนาดที่พกพาง่าย เบา และรวมถึงการพัฒนาประสิทธิภาพจากผู้ผลิต ที่มีแนวโน้มจะส่งเสริมการพัฒนา สมาร์ตโฟน เพื่อตอบสนองต่อการใช้งานของผู้บริโภคในด้านต่างๆ ที่ต้องทำผ่าน โซเชี่ยลมีเดียเช่น คอนเทนต์ด้านการศึกษา วิดีโอเพื่อความบันเทิง หรือแม้แต่ช่องทางการตลาดและธุรกิจ ฯลฯ อีกด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม แนวโน้มด้านการพัฒนาประสิทธิภาพด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์ และ Spec การใช้งานเฉพาะด้าน กลับเป็นที่ต้องการจากผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ที่ไม่ควรมองข้ามอีกเช่นกัน โดยฮาร์ดแวร์ที่ต้องนำมาใช้กับองค์กรขนาดใหญ่ โรงงาน หรือโรงพยาบาล ก็ยังต้องพึ่งพา “คอมพิวเตอร์” อยู่ดี และถือว่าคอมพิวเตอร์ตอบโจทย์ด้านการใช้งานแบบต่างๆที่ต้องใช้งานนานๆ โดยต้องมีเสถียรภาพสูง การใช้งานเหล่านี้ครอบคลุมกิจกรรมของผู้ใช้งานของโลกไม่น้อยเลยทีเดียว ซึ่งเป็นการยากที่ สมาร์ตโฟน จะเข้ามาแทนที่ได้ในทุกๆกิจกรรมที่ต้องการ “ผลการวิเคราะห์” จากระบบคอมพิวเตอร์ ผนวกกับการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อกล่าวถึงการใช้งานเฉพาะทางวิชาชีพในหลายๆแง่ ยกตัวอย่างเช่น การใช้งานด้านการแพทย์ตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือการวางระบบด้านวิศวกรรม ก็ยังคงปฏิเสธไม่ได้ว่า คอมพิวเตอร์ มีความจำเป็นมากกว่า สมาร์ตโฟน อีกเช่นกัน
นอกจากกรณีที่กล่าวไปแล้วข้างต้น สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอีกอย่างหนึ่งด้วยก็คือ “การออกแบบทางการยศาสตร์” หรืออาจใช้ศัพท์เฉพาะที่คุ้นหูกว่าที่เรียกว่า “Ergonomic” (เออ-โก-โน-มิก) หมายถึง ศาสตร์แห่งการออกแบบอุปกรณ์หรือเครื่องใช้ใด ๆ ที่เมื่อนำมาใช้แล้ว จะก่อให้เกิดความสะดวกสบายอย่างสมบูรณ์ต่อร่างกายมนุษย์ ในที่นี้สามารถนำมาเปรียบเทียบได้ง่ายๆเลยก็คือ การออกแบบแป้นพิมพ์ของ สมาร์ตโฟน กับคอมพิวเตอร์ ที่มีลักษณะต่างกัน เพื่อการใช้งานในบริบท(สิ่งแวดล้อม)ที่ต่างกัน โดยการออกแบบแป้นพิมพ์สำหรับคอมพิวเตอร์ ถูกพัฒนามาเพื่อการนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง ที่จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้น้อยที่สุด และนอกจากแป้นพิมพ์เองที่ต้องมีหลัก Ergonomic ที่ดีแล้ว องค์ประกอบอื่นๆที่เกี่ยวข้อง อย่างโต๊ะทำงานและเก้าอี้สำหรับนั่งทำงานนานๆ ก็ถูกออกแบบมาเพื่อการทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ด้วยเช่นกัน ซึ่งต่างจากแป้นพิมพ์ของ สมาร์ตโฟน ที่เน้นประหยัดเนื้อที่ พกพาง่าย จึงทำให้การพิมพ์เอกสารเยอะๆ และการทำงานที่ต้องใช้เวลานานๆ นั้นเป็นปัญหาของผู้ใช้งาน ที่อาจมีความเมื่อยล้าร่างกายเกิดขึ้นหากใช้งานผ่าน สมาร์ตโฟน
ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ จะยังไม่มีสิ่งใดที่หายไปอย่างตายตัว (เหมือนอย่างที่โทรศัพท์มาแทนที่เพจเจอร์ได้อย่างสิ้นเชิง) แต่แนวโน้มที่ทั้ง สมาร์ตโฟน และคอมพิวเตอร์จะถูกพัฒนาไปพร้อมๆกัน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีข้อจำกัดน้อยลง และตอบสนองต่อความต้องการเฉพาะกลุ่มได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานแบบระบบองค์กรหรือแบบบุคคล ในทศวรรษหน้า แนวโน้มที่ว่า สมาร์ตโฟน จะมาเเทนคอมพิวเตอร์ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องมาคอยดูกันต่อไป ว่าจะเอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งอย่างชัดเจนมากขึ้นหรือไม่ นับว่าเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยสำหรับโลกใบนี้
แหล่งที่มา
ETDA, เอกสารเผยแพร่. เอกสารการแถลงผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปี 2562. สืบค้นวันที่ 05 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.etda.or.th/publishing-detail/thailand-internet-user-behavior-2019-slides.html
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, สิ่งพิมพ์เผยแพร่. แผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม. สืบค้นวันที่ 05 พฤษภาคม 2563 จาก https://www.dga.or.th/upload/download/file_9fa5ae40143e13a659403388d226efd8.pdf
พรมแดนสื่อใหม่ (New Media, New Frontier). โลกอนาคตที่ไม่มี สมาร์ตโฟน. สืบค้นวันที่ 06 พฤษภาคม 2563 . จาก https://mgronline.com/columnist/detail/9600000104139
ยูธิจิต ภัตตาจาร์จี.สมาร์ตโฟน ส่งผลอย่างไรต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมปัจจุบัน.สืบค้นวันที่ 06 พฤษภาคม 2563 .จาก https://ngthai.com/science/17503/impactofsmartphones/
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)