วิทยาศาสตร์กับสังคมไทย
อริสโตเติล (Aristotle) ได้เคยกล่าวไว้ว่า "มนุษย์เป็นสัตว์สังคม (Human being is social animal)" เพราะมนุษย์มีการอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างเป็นหมวดหมู่และมีสังคม มิได้ใช้ชีวิตอยู่เพียงคนเดียวตามลำพัง มีกิจกรรมที่ต้องทำในสังคม กิจกรรมหนึ่งที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีก็คือ วิทยาศาสตร์ บทความนี้จะนำพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักกับบริบทรูปแบบหนึ่งของวิทยาศาสตร์ในฐานะกิจกรรมทางสังคม ซึ่งจะมีด้วยกันประมาณ 3 ตอน ส่วนในบทความนี้เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อสังคมไทยกันก่อน
ภาพการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตแทนแรงงานคน
ที่มา https://www.piqsels.com/th/public-domain-photo-szkma
เราคงเคยได้ยินคำจำกัดความเกี่ยวกับมาตรฐานการดำรงชีวิต และดัชนีการพัฒนามนุษย์ที่ว่า ประเทศด้อยพัฒนา ประเทศที่กำลังพัฒนา และประเทศที่พัฒนาแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีอิทธิพลต่อการให้คำจำกัดความดังกล่าว ดังเช่นที่เราต่างทราบกันดีอยู่แล้วว่า ประเทศไทยนั้นจัดอยู่ในกลุ่มของประเทศที่กำลังพัฒนา ก็เพราะความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีผลโดยตรงกับสังคมไทยในแง่ที่ว่า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ตัวชี้วัดสำคัญอย่างรายได้ของคนในประเทศชาติ สามารถจัดกลุ่มอยู่ในประเทศที่กำลังพัฒนาได้นั่นเอง
ในหลายช่วงหลายยุคสมัยของไทยที่ผ่านมา ประเทศไทยผ่านมรสุมทางด้านเศรษฐกิจมาไม่น้อย ก็อย่างที่ทราบดีอยู่แล้วว่าสังคมไทยเป็นสังคมเกษตรกรรมมาตั้งแต่อดีตอย่างยาวนาน และเมื่อสังคมโลกเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสังคมอุตสาหกรรมที่มากขึ้น สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เราเผชิญกับปัญญาเศรษฐกิจดังกล่าว ก็คือเรื่องของ การขาดความสามารถในการผลิต หรือที่เราเรียกว่า “ผลิตภาพ” (Productivity) ของภาคการผลิตนั่นเอง ประชาชนกลุ่มเดิมหรือกลุ่มพื้นฐานที่ยังเป็นเกษตรกรยังขาดความรู้ความสามารถในการสร้างผลผลิตทั้งปริมาณและคุณภาพให้ทันต่อตลาดโลกได้
เพราะการเกษตรและอุตสาหกรรมในปัจจุบันเติบโตและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็ว การผลิตมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนที่ว่า ไม่ได้อาศัยแรงงานและวัตถุดิบราคาถูกเหมือนแต่ก่อน แต่ใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มมูลค่าและการพัฒนาผลิตภาพ และเข้มข้นไปด้วยความรู้เท่านั้นจึงจะเป็นหนทางที่นำพาให้เกิดความสามารถในการผลิตที่มากขึ้น
มาถึงตรงนี้ เราอาจสรุปได้ว่า วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญอันดับต้น ๆ ที่มีความสำคัญและสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ อันเป็นตัวบ่งบอกฐานะและความเป็นอยู่ของคนในสังคมของชาติไทยได้เป็นอย่างดี หากสังคมไทยยอมรับและให้ความสำคัญของวิทยาศาสตร์ และเป็นสังคมที่ประกอบด้วยผู้คนที่มีพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงพอ หรือที่เรียกว่า Science Literacy ก็จะนำพาให้ประเทศไปสู่ความเจริญและเป็นประเทศในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างแน่นอน โปรดติดตามบทความเรื่องวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยโบราณ ได้ในตอนต่อไป
แหล่งที่มา
ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์. วิทยาศาสตร์ในสังคมและวัฒนธรรมไทย (พิมพ์ครั้งที่ 1) . กรุงเทพมหานคร: (พว.)
ผ.ศ. นิรมล สุธรรมกิจ. ลักษณะพื้นฐานของประเทศกำลังพัฒนา. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563, จาก http://www.econ.tu.ac.th/oldweb/doc/course/EC/EC361/lecture/LDC.pdf
จิตรลดา พิศาลสุพงศ์ และสุพัตรา ศรีภูมิเพชร. การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรม. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563, จาก https://waa.inter.nstda.or.th/stks/pub/2018/20181106-st-research-innovation-development-strategy.pdf
-
11499 วิทยาศาสตร์กับสังคมไทย /index.php/article-science/item/11499-2020-04-21-08-28-18เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง