Joseph Rotblat เป็นนักฟิสิกส์คนแรก ๆ ของโลกที่ตระหนักว่า ระเบิดปรมาณูมีพลังในการทำลายมนุษย์ชาติได้อย่างมหันต์ดังนั้นเขาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตจากนักฟิสิกส์มาเป็นนักเคลื่อนไหวให้ประเทศมหาอำนาจไม่คิดจะใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่ได้สะสมไว้ เพื่อทุกชีวิตบนโลกจะปลอดภัย
J. Rotblat เกิดเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1908 ที่กรุง Warsawในโปแลนด์ บิดามารดาเป็นคนเคร่งศาสนา และมีสัญชาติยิว ครอบครัว Rotblat มีฐานะปานกลางจากการทำธุรกิจกระดาษ หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเป็นเวลาที่ยุโรปตกอยู่ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ครอบครัว Rotblat จำเป็นต้องต้มเหล้าเถื่อนในห้องใต้ดินเพื่อขาย และเอาเงินที่ขายเหล้า Somogonka วอดก้าที่ผิดกฎหมายนี้มาใช้หนี้
ภาพที่ 1: Joseph Rotblat
เพราะครอบครัวกำลังอยู่ในฐานะลำบาก Joseph วัย 15 ปี จึงต้องทำงานหาเงินโดยการเป็นช่างไฟฟ้าในเวลากลางวัน และใช้เวลากลางคืนเรียนฟิสิกส์ด้วยตนเอง ความบากบั่นพยายามและความสามารถของ Rotblat ทำให้ได้รับทุนเรียนดีของรัฐบาลไปศึกษาต่อที่ Free University of Poland โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาเป็นลูกศิษย์ของ Marie Curie จนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ด้วยการทำวิจัยเรื่อง การกระเจิง (Scattering) ที่ไม่ยึดหยุ่นของอนุภาคนิวตรอนในสสาร ทั้ง ๆ ที่ห้องปฏิบัติการของมหาวิทยาลัยในขณะนั้นอยู่ในสภาพไม่พร้อมสำหรับการวิจัยขั้นสูง
จากนั้น Rotblat ได้งานที่ห้องปฏิบัติการกัมมันตรังสี (Radiological Laboratory) ของสมาคุม Scientific Society of Warsaw และขณะปฏิบัติงานที่นั่น Rotblat ได้รู้ข่าววิทยาศาสตร์ที่สำคัญมาก ว่า'Otto Hahn กับ Fritz Strassman ในเยอรมนีได้พบปรากฏการณ์ Fission ที่เกิดขึ้นเมื่ออนุภาคนิวตรอนความเร็วต่ำพุ่งชนนิวเคลียสของยูเรเนียม-235 แล้วทำให้นิวเคลียสนั้นแบ่งตัวเป็นนิวเคลียสมวลเบาสองธาตุ คือนิวเคลียสของ Krypton กับ Barium พร้อมกันนั้นก็มีอนุภาคนิวตรอน 2-3 ตัวเกิดขึ้น
Rotblat จึงทำการทดูลองนี้ซ้ำเพื่อดูว่า ในการแตกตัวของนิวเคลียสในแต่ละครั้ง มีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นกี่ตัวเพราะถ้ามีนิวตรอนเกิดขึ้นเพียง 1 ตัว ปฏิกริยานิวเคลียร์นี้ก็ไม่สามารถปลดปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาได้ แต่ถ้ามีอนุภาคนิวตรอนเกิดขึ้นมากกว่า 1 ตัว ปฏิกิริยาลูกโซ่ (Chain Reaction) ที่สามารถปล่อยพลังงานมหาศาลออกมาได้ภายในช่วงเวลาสั้น ๆ ก็จะเกิดได้จริง และนั่นหมายความว่า การค้นพบนี้สามารถนำไปสร้างระเบิดปรมาณูได้
ในที่สุด Rotblat ก็ได้พบว่า ทุกครั้งที่นิวเคลียสของยูเรเนียม-235 แตกตัวจะมีอนุภาคนิวตรอนเล็ดลอดออกมาม้ากกว่า 1 ตัวเสมอ แต่ Rotblat ได้ตีพิมพ์องค์ความรู้นี้หลัง Frederic Joliot และ Irene Curie เล็กน้อย ดังนั้นเครดิตการพบอนุภาคนิวตรอนมากกว่า 1 ตัว ในปฏิกิริยานิวเคลียร์ Fission จึงตกเป็นของ Joliot - Curie
ถึงปี ค.ศ.1939 Rotblat ได้เดินทางจากโปแลนด์โดยทิ้งคู่รักไว้เบื้องหลังเพื่อไปทำงานวิจัยกับ James Chad-wick (ผู้พิชิตรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ ประจำปี ค.ศ. 1935ด้วยการพบอนุภาคนิวตรอน) ที่มหาวิทยาลัย Liverpool ในอังกฤษ เพร่าะที่นั่นมีเครื่องเร่งอนุภาคแบบ cyclotron ที่มีประสิทธิภาพสูงมาก และ Rotblat ก็คาดหวังว่าประสบการณ์ที่เขาจะได้จาก Liverpool จะทำให้สามารถสร้างเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ที่โปแลนด์ได้ แต่เมื่อไปถึงอังกฤษ Chadwick กลับให้ Rotblat ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะสร้างระเบิดปรมาณู เพราะในเวลานั้น กองทัพนาชีกำลังคุกคามยุโรป Rotblat จึงเข้าทำงานเป็นนักวิจัยในโครงการปรมาณูของอังกฤษที่ใช้ชื่อรหัสว่า Maud and Tube Alloys
ในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1939 Rotblat ได้เดินทางกลับโปแลนด์เพื่อเข้าพิธีสมรสกับ Tola Gryn ที่กำลังศึกษาปริญญาตรีวิชาเอกวรรณคดีที่มหาวิทยาลัย Warsaw และตั้งใจจะนำภรรยาเดินทางกลับอังกฤษด้วย เพราะคิดว่ามีเงินเดือนเพียงพอสำหรับตนเองและภรรยา แต่โชคไม่ดีที่ Tola ได้ล้มป่วยด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบ จึงต้องเข้ารับการผ่าตัดทันที ทำให้ Rotblat จำเป็นต้องเดินทางกลับอังกฤษคนเดียว ทั้งที่ Tola ยังไม่ทันหายเป็นปกติ ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1939 นั้นเอง กองทัพนาซีก็บุกโปแลนด์ และยึดกรุง Warsaw ได้ในเวลาไม่นาน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 Rotblat ได้พยายามทุกวิถีทางที่จะนำภรรยาออกจากโปแลนด์ ไม่ว่าจะออกทางเบลเยี่ยม เดนมาร์กหรืออิตาลี แต่ก็ล้มเหลวทุกครั้งไป จนในที่สุดภรรยาถูกทหารนาชีจับตัวส่งเข้าค่ายกักกัน ทำให้ต้องเสียชีวิต แต่ Rotblat ไม่รู้เรื่องข่าวนี้เลย จนกระทั่งสงครามโลกยุติ
ภาพที่ 2: ระเบิดปรมาณู
ในปี ค.ศ. 1943 Rotblat วัย 35 ปี ได้ติดตาม James Chadwick ไปทำงานวิจัยที่ Los Alamos National Laboratory ในอเมริกา เมื่อนักฟิสิกส์รู้ว่า ระเบิดปรมาณู คืออาวุธสงครามที่มีแนวโน้มว่าอังกฤษสามารถสร้างได้นายกรัฐมนตรี Winston Churchill แห่งอังกฤษ และประธานาธิบดี Franklin Roosevelt แห่งสหรัฐอเมริกาจึงได้เซ็นสัญญาให้นักวิทยาศาสตร์อังกฤษ และนักวิทยาศาสตร์อเมริกามาทำงานร่วมกันที่ Los Alamos ในโครงการ Manhattan เพื่อผลิตระเบิดปรมาณู แม้ Rotblat จะเป็นชาวโปแลนด์ที่เป็นศัตรูกับสัมพันธมิตร แต่บารมีของ Chadwick ก็ได้ช่วยให้ Rotblat ได้เข้าร่วมโครงการผลิตระเบิดมหาประลัย ทั้ง ๆ ที่ Rotblat รักสันติภาพ แต่เขาก็มีอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องตัดสินใจทำงานในโครงการ Manhattan เพราะคิดว่า Adolf Hitler ผู้นำนาชีก็กำลังจะสร้างระเบิดปรมาณูเช่นกัน ดังนั้นถ้า Hitler ทำได้สำเร็จก่อน ความบรรลัยก็จะเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย
ดังนั้นในปีค.ศ. 1944 เมื่อ Rotblat สืบทราบว่ากองทัพนาชีสร้างระเบิดปรมาณูไม่ได้ เขาจึงลาออกจากโครงการ Manhattan ในทันที ทำให้เป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรก และคนเดียวที่ละทิ้งโครงการ ก่อนระเบิดปรมาณูจะเป็นตัวเป็นตน และ Rotblat ก็ยังอ้างเหตุผลการลาออกอีกว่า เมื่อเขาได้สนทนากับนายพล Leslie Groves ผู้เป็นหัวหน้าโครงการ Manhattan นายพล Groves ได้ปรารภว่าหลังสงครามโลก สหรัฐฯ จะใช้ระเบิดปรมาณูถล่มรัสเชียซึ่ง Rotblat ไม่เห็นด้วยเลย เขาจึงเดินทางกลับ Liverpool ทันที การจากไปครั้งนั้นทำให้สหรัฐสงสัยว่า Rotblat เป็นไส้ศึก
ครั้นเมื่ออเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูถล่ม Hiroshima กับ Nagasaki ในปีค.ศ. 1945 การเสียชีวิตของผู้คนนับแสนทำให้ Rotblat รู้สึกเสียใจมาก เขาจึงเปลี่ยนวิถีชีวิตไปทำงานที่องค์การ Atomic Scientists Association เพื่อนำความรู้เรื่องพลังงานปรมาณูไปถ่ายทอดให้สังคม และ Rotblat ตั้งใจปลุกระดมูประเทศมหาอำนาจให้ใช้พลังงานปรมาณูในทางสันติเท่านั้น Rotblat จึงเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์เพียงไม่กี่คนที่พยายามปลุกระดมให้มีการควบคุมการใช้พลังงานปรมาณู เมื่อสงคร่ามโลกครั้งที่สองยุติ Rotblat ได้โอนสัญชาติเป็นอังกฤษ เพราะไม่ต้องการจะเดินทางกลับโปแลนด์อีก
ในบทบาทของนักฟิสิกส์นั้น Rotblat ได้เปลี่ยนแนวการวิจัยนิวเคลียร์เพื่อความรู้บริสุทธิ์ไปเป็นการประยุกต์นิวเคลียร์ในทางการแพทย์ เพื่อหาวิธีรักษาคนที่เป็นมะเร็ง ด้วยการเข้าทำงานที่โรงพยาบาล Saint Bartholomew's Hospital Medical College มหาวิทยาลัยลอนดอน โดยวิจัยเรื่องการใช้เครื่องเร่งอนุภาคผลิตนิวเคลียสกัมมันตรังสีที่ใช้รักษามะเร็ง ในปีค.ศ. 1950 Rotblat ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ฟิสิกส์
ในการทำงานกับ Patricia J, Lindop เรื่องผลกระทบของกัมมันตรังสีพลังงานสูงต่อเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิตที่ใช้หนูเป็นสัตว์ทดลอง ทั้งสองได้พบว่ารังสีสามารถทำให้ตัวหนูเป็นมะเร็งได้หลายชนิด นอกเหนือจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (leukemia) ที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมา ผลงานนี้ได้ถูกนำไปใช้วิเคราะห์ภัยอันตรายที่เกิดกับชาวประมงญี่ปุ่น ซึ่งแล่นเรืออยู่ใกล้บริเวณที่สหรัฐฯ ทดลองระเบิดไฮโดรเจน ผลการศึกษานั้นทำให้วงการวิชาการตื่นตัว เพราะตระหนักว่าระเบิดไฮโดรเจนผลิตฝุ่นกัมมันตรังสีได้มากผิดปกติคำกล่าวหาของ Rotblat ได้ทำให้รัฐบาลฝ้ายสัมพันธมิตรรู้สึกกระวนกระวาย เพราะไม่ต้องการให้ประชาชนรู้ข้อมูลเชิงลบลักษณะนี้
ในการประชุมครั้งแรกมีนักวิทยาศาสตร์มาร่วมประชุม 22 คน (Rotblat เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น) 3 คน คือผู้ได้รับรางวัลโนเบล และมีรองประธานองค์การ Academy of Sciences ของรัสเซีย กับอดีตผู้อำนวยการขององค์การอนามัยโลกเข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมได้สรุปรายงานเสนอวิธีป้องกันและควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงได้เน้นให้ตระหนักในความรับผิดชอบและจริยธรรมที่นักวิทยาศาสตร์ต้องมีต่อสังคมด้วย
ในเวลาต่อมา การประชุม Pugwash ได้เกิดตามมาอีกกว่า 300 ครั้ง โดยมี Rotblat เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดทุกครั้งไป ในที่สุดกิจกรรมนี้ได้ทำให้เกิดองค์การ Pugwash Organization ซึ่งมีบทบาทในการลดอาวุธนิวเคลียร์ของชาติมหาอำนาจ และมีหน้าที่ดูแลกับตรวจสอบสรรพาวุธของทุกชาติมหาอำนาจ องค์การยังได้จัดทำสนธิสัญญาควบคุมอาวุธสงคราม ติดต่อประสานงานระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศ Henry Kissinger กับ Le Due Tho ในการยุติสงครามเวียดนาม และเป็นผู้ประสานความขัดแย้งระหว่างชาติอาหรับกับอิสราเอลด้วย
ในปีค.ศ. 1995 Joseph Rotblat กับองค์การPugwash ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพร่วมกัน ถึงปีค.ศ. 2004 Rotblat กับ Mikhail Gorbachev อดีตนายกรัฐมนตรีของรัสเชียได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการเตือนภัยของอาวุธนิวเคลียร์ที่มีอำนาจทำลายล้างอย่างรุนแรง (Weapons of Mass Destruction Awareness)
ในช่วงเวลาที่มีชีวิตอยู่ Rotblat วิจัยฟิสิกส์นิวเคลียร์เป็นงานหลัก และแต่งตำราฟิสิกส์กว่า 40 เล่ม นอกเหนือจากรางวัลโนเบลที่ได้รับแล้ว Rotblat ยังได้รับรางวัลของสมาคม Bertrand Russell Society ในปีค.ศ. 1983 รางวัล Albert Einstein Peace Prize ในปีค.ศ. 1992 และได้ดำรงตำแหน่งเป็น Sir ของอังกฤษในปีค.ศ. 1969 ทั้ง ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษด้วยสำเนียงชาวโปแลนด์
ในงานเลี้ยงฉลองการรับรางวัลโนเบล Rotblat ได้สรุปคำบรรยายว่า "ความประสงค์จะให้โลกปราศจากสงครามนั้น มีพื้นฐานมาจากความต้องการให้ทุกคนมีชีวิต และการที่จะบรรลุความประสงค์นั้นได้ คนเราต้องรักกันมากกว่ากลัวกัน"
Joseph Rotblat จากโลกไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม ค.ศ.2005 สิริอายุ 96 ปี
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Braun, Reiner. (2007). Joseph Rotblat: Visionary for Peace.Wiley.&Time, 376-377.
Underwood, Martin. (2009). Joseph Rotblat : A Man of Consciencein the Nuclear Age. Sussex Academic Press.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)