เคมีในชีวิตประจำวัน สำคัญกับเราจริงหรือ?
เคมีในชีวิตประจำวัน สำคัญกับเราจริงหรือ?
ท่านผู้อ่านเคยสังเกตบ้างไหมคะว่าในชีวิตประจำวันของเรา จะต้องเกี่ยวข้องกับสารหลายชนิดซึ่งมีลักษณะแตกต่างกัน สารที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะมีสารเคมีเป็นองค์ประกอบ ซึ่งสามารถจำแนกเป็นสารสังเคราะห์และสารธรรมชาติ เช่น สารปรุงรสอาหาร สารแต่งสีอาหาร สารทำความสะอาด สารกำจัดแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น แล้วแต่ละอย่างแต่ละชนิดมีอะไรกันบ้างที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเรา ตามไปดูกันเลย
ภาพที่ 1 สารเคมี
ที่มา https://www.pixabay.com/ , MasterTux
สารปรุงแต่งอาหาร
สารปรุงรสอาหาร เป็นสารที่ใช้ใส่ในอาหารเพื่อทำให้อาหารมีรสดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาล น้ำปลา น้ำส้มสายชู น้ำมะนาว ซอสมะเขือเทศ และสารให้รสชาติต่าง ๆ ซึ่งเราสามารถแบ่งประเภทของสารปรุงแต่งอาหาร แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำส้มสายชู น้ำปลา ซอสมะเขือเทศ เป็นต้น
ประเภทที่ 2 ได้จากธรรมชาติ เช่น เกลือ น้ำมะนาว น้ำมะขามเปียก อัญชัน เป็นต้น
ภาพที่ 2 สารปรุงแต่งอาหาร
ที่มา https://www.pixabay.com/ , Hans
เครื่องดื่ม
เป็นสิ่งที่มนุษย์จัดเตรียมสำหรับดื่ม และมักจะมีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก บางประเภทให้คุณค่าทางโภชนาการ บางประเภทดื่มแล้วไปกระตุ้นระบบประสาท และบางประเภทดื่มเพื่อดับกระหาย แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ น้ำดื่มสะอาด น้ำผลไม้ นม น้ำอัดลม เครื่องดื่มบำรุงกำลัง ชาและกาแฟ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากกล่าวถึงน้ำสำหรับการบริโภคนั้น จะต้องเป็นน้ำดื่มที่สะอาด เป็นเครื่องดื่มที่ไม่สิ่งอื่นเจือปน เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย ปัจจุบันน้ำดื่มสะอาดได้รับความนิยมมาก ผู้ผลิตมักจะบรรจุน้ำดื่มในขวดใสสะอาดแก้วที่สะอาด เหมาะสำหรับที่จะเสิร์ฟในร้านอาหาร หรือในงานเลี้ยงต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ผู้ที่ควบคุมน้ำหนักส่วนใหญ่มักจะเลือกเครื่องดื่มชนิดนี้แทนเครื่องดื่มที่มีรสหวานอื่นๆ และในส่วนของน้ำผลไม้นั้นควรจะเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์มากอย่างหนึ่ง และต้องเป็นน้ำผลไม้ที่สดๆ จึงจะได้คุณค่ามาก ผู้ผลิตมักจะนำผลไม้ที่มีมากในฤดูกาลมาคั้นเอาแต่น้ำนำมาเคี่ยวกับน้ำตาล หรือนำผลไม้สดมาปั่นผสมกับน้ำแข็งน้ำเชื่อม จะได้รสชาติแปลกๆ หลายอย่าง
ภาพที่ 3 เครื่องดื่มต่างๆ
ที่มา https://www.pixabay.com/ ; bridgesward
สารทำความสะอาด
สารที่มีคุณสมบัติในการกำจัดความสกปรกต่างๆ ตลอดจนฆ่าเชื้อโรค สารทำความสะอาดนั้นแบ่งตามการเกิด ได้ 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ก้อน สบู่เหลว แชมพูสระผม ผงซักฟอก สารทำความสะอาดพื้นเป็นต้น
ประเภทที่ 2 ได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำมะกรูด มะขามเปียก เกลือ เป็นต้น ซึ่งแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานเป็นเกณฑ์ แบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่มย่อย คือ 1) สารประเภททำความสะอาดร่างกาย ได้แก่ สบู่ แชมพูสระผม เป็นต้น 2) สารประเภททำความสะอาดเสื้อผ้า ได้แก่ สารซักฟอกชนิดต่างๆ 3) สารประเภททำความสะอาดภาชนะ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น 4) สารประเภททำความสะอาดห้องน้ำ ได้แก่ สารทำความสะอาดห้องน้ำทั้งชนิดผงและชนิดเหลว
สารทำความสะอาด เช่น สบู่ แชมพูสระผม สารล้างจาน สารทำความสะอาดห้องน้ำ สารซักฟอก บางชนิดมีสมบัติเป็นกรด บางชนิดมีสมบัติเป็นเบสซึ่งทดสอบได้ด้วยกระดาษลิตมัส ส่วนสารทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์บางชนิดมีสมบัติเป็นกรด สามารถกัดกร่อนหินปูนที่ยาไว้ระหว่างกระเบื้องปูพื้นหรือฝาห้องน้ำบริเวณเครื่องสุขภัณฑ์ ทำให้คราบสกปรกที่เกาะอยู่หลุดลอกออกมาด้วย ถ้าใช้สารชนิดนี้ไปนานๆ พื้นและฝาห้องน้ำจะสึกกร่อนไปด้วย นอกจากนี้ ยังทำให้ผู้ใช้เกิดความระคายเคืองของระบบทางเดินหายใจและผิวหนังอีกด้วย ดังนั้น ในการใช้ต้องระมัดระวังโดยปฏิบัติตามคำแนะนำการใช้อย่างเคร่งครัดและต้องใช้ในปริมาณที่เหมาะสม การใช้ในปริมาณมากเกินไป ไม่ได้หมายความว่าจะช่วยทำความสะอาดได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม อาจทำให้สิ้นเปลืองและทำลายสิ่งแวดล้อม ส่วนสารทำความสะอาดห้องน้ำและเครื่องสุขภัณฑ์
ภาพที่ 4 สารทำความสะอาด (สบู่เหลว)
ที่มา https://www.pixabay.com/ , kboyd
สารกำจัดแมลง
สารกำจัดแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช เป็นสารเคมีที่ผลิตขึ้นเพื่อใช้ป้องกันการกำจัด และควบคุมแมลงต่างๆ ไม่ให้มารบกวน มีทั้งชนิดผง ชนิดเม็ด และชนิดน้ำ แบ่งประเภทของสารกำจัดแมลงและสารกำจัดศัตรูพืชได้เป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 ได้จากการสังเคราะห์ เช่น สารฆ่ายุง สารกำจัดแมลง เป็นต้น
ประเภทที่ 2 ได้จากธรรมชาติ เช่น เปลือกมะนาว เปลือกมะกรูด เปลือกส้ม เป็นต้น
ภาพที่ 5 การใช้สารกำจัดแมลงในแปลงนาข้าว
ที่มา https://www.pixabay.com/ , wuzefe
เครื่องสำอาง
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบร่างกาย เพื่อใช้ทำความสะอาดเพื่อให้เกิดความสดชื่น ความสวยงาม และเพิ่มความมั่นใจ เครื่องสำอางแบ่งเป็น 5 ประเภท คือ 1) สำหรับผม เช่น แชมพู ครีมนวด เจลแต่งผม เป็นต้น 2) สำหรับร่างกาย เช่น สบู่ ครีม และโลชั่นทาผิว ยาทาเล็บ น้ำยาดับกลิ่นตัว แป้งโรยตัว เป็นต้น 3) สำหรับใบหน้า เช่น ครีม โฟมล้างหน้า แป้งผัดหน้า ลิปสติก ดินสอเขียนคิ้วและดินสอเขียนขอบตา 4) น้ำหอม และ 5) เบ็ดเตล็ด เช่น ครีมโกนหนวด ผ้าอนามัย ยาสีฟัน เป็นต้น
ภาพที่ 6 เครื่องสำอาง
ที่มา https://www.pixabay.com/ , Ichigo121212
จากข้อมูลข้างต้นนั้นเราจะเห็นได้ว่าสารเคมีรอบ ๆ ตัวนั้นมีมากมายหลากหลายชนิด และล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับการชีวิตของเราทั้งนั้น เราอาจไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีหรือการได้รับผลกระทบจากสารเคมีดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตามจะมีวิธีการใดเล่าที่จะช่วยทำให้เกิดผลในด้านดีทั้งต่อตัวมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆกัน มีคำคำหนึ่งที่เกิดขึ้นมาให้เราได้คุ้นชินกัน นั่นก็คือ Green Chemistry หรือเคมีสีเขียว แล้วมันคืออะไรกันเล่า ผู้เขียนจะมาขยายความกันในประเด็นนี้กันต่อในบทความเรื่อง ถ้าอยากจะฆ่าเชื้อไวรัสด้วยสารเคมีรอบตัว ต้องทำอย่างไรนะ โปรดติดตาม
แหล่งที่มา
สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข .การจัดการสารเคมีในบ้านพักอาศัยสำหรับประชาชน. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 . จาก http://env.anamai.moph.go.th/download/bkWeb/book/a025.pdf
“สารเคมีในชีวิตประจำวันที่ใกล้ชิดตัวเรา” . สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 . จาก https://numsai.com/technology-article/
Johan Abraham . Chemistry Online Courses. 33 chemical reaction examples for chemistry in everyday life. Retrieved April 1, From http://www.chemistryonlinecourse.com/2013/05/33-chemical-reaction-examples-for-chemistry-in-everyday-life.html
-
11463 เคมีในชีวิตประจำวัน สำคัญกับเราจริงหรือ? /index.php/article-chemistry/item/11463-2020-04-20-08-25-47เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง