ผู้คนมักมีแนวโน้มที่จะแชร์เรื่องราวต่าง ๆ อย่างรวดเร็วผ่านสื่อสังคมออนไลน์โดยที่ไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ความเข้าใจผิดเหล่านั้นอาจกลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเชื่อว่าเป็นความจริงได้
ภาพที่ 1 การใช้สื่อสังคมออนไลน์
ที่มา rawpixel/Pixabay
ข้อเท็จจริงที่ไม่จริงเกี่ยวกับสุขภาพและร่างกายของมนุษย์มักเป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ถูกเผยแพร่อย่างรวดเร็ว หากคุณเชื่อว่า แอลกอฮอล์สามารถทำให้ร่างกายอบอุ่นได้หรือเชื่อว่าร่างกายจะย่อยหมากฝรั่งที่เผลอกลืนลงไปในอีก 7 ปี นั่นเป็นผลมาจากเรื่องเล่าหรือคลิกเบท (Clickbait) ที่ถูกเผยแพร่ต่อกันมาโดยที่เราไม่คิดที่จะสงสัยในความถูกต้อง นี่คือตัวอย่างเรื่องราวบางเรื่องราวที่มีการโพสต์และแชร์อย่างผิดๆ ในโลกออนไลน์
เล็บและผมยังคงงอกยาวได้หลังจากที่ตายแล้ว
ร่างกายของมนุษย์เน่าเปื่อยและเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่าขนลุกภายหลังความตาย แต่ไม่ใช่การเจริญเติบโตต่อไปของเล็บและผมอย่างแน่นอน เนื่องจากเล็บและผมที่งอกยาวได้จะต้องเกิดจากการผลิตเซลล์ใหม่ของร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้หลังจากทุกเซลล์ในร่างกายตายแล้ว
ภาพที่ 2 เล็บ
ที่มา Karen Bailey/Flickr
ย้อนกลับไปอย่างน้อยที่สุดในปีค.ศ. 1926 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อนักเขียนชาวเยอรมัน เอริช มาเรีย เรอมาร์ค ถ่ายทอดเรื่องราวของเพื่อนที่มีเล็บและผมที่ยาวงอกขึ้นได้หลังจากพิธีศพผ่านไปแล้วลงในงานเขียนนวนิยายต่อต้านสงครามเรื่อง แนวรบด้านตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง (All Quiet on the Western Front) และผลจากงานเขียนนั้นได้กลายมาเป็นความเป็นเชื่อเกี่ยวกับความเป็นอมตะในเวลาต่อมา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเข้าใจผิดของเขาเกิดขึ้นจากการเห็นภาพลวงตา (Optical illusion) เนื่องด้วยภายหลังจากสิ้นสุดลมหายใจสุดท้ายแล้ว ผิวหนังของมนุษย์จะเริ่มหดตัวและแห้งลง จึงทำให้มองเห็นเล็บและผมได้มากขึ้น
โชคดีที่เรื่องราวความเข้าใจผิดนี้ไม่เป็นอันตรายมากเกินไปกว่าการทำให้เด็กฝันร้ายหรือมีผลกระทบต่อผู้ที่มีภาวะ Thanatophobia หรืออาการกลัวต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตาย
กลืนหมากฝรั่งใช้เวลาย่อย 7 ปี
หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่เผลอกลืนหมากฝรั่งตั้งแต่ปีค.ศ. 2011 และยังเชื่อว่า ก้อนยางเหนียว ๆ นั้นยังคงอยู่ในร่างกายแล้วล่ะก็ คงต้องทำความเข้าใจเสียใหม่
ภาพที่ 3 การเคี้ยวหมากฝรั่ง
ที่มา Quinten de Graaf/Unsplash
หมากฝรั่ง มีความเหนียวและสามารถเคี้ยวได้เนื่องจากมีส่วนประกอบของยางบิวไทล์ (Butyl rubber) ซึ่งเป็นยางสังเคราะห์ชนิดหนึ่งที่มีโครงสร้างทางเคมีและมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับยางธรรมชาติ และไม่สามารถย่อยได้ในร่างกายของมนุษย์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า หมากฝรั่งที่กลืนลงไปจะไม่สามารถเดินทางผ่านทางเดินอาหารและถูกขับออกจากร่างกายพร้อมกากอาหารได้
กล้ามเนื้อของระบบทางเดินอาหารมีความสามารถในการบีบรัดเพื่อเคลื่อนย้ายอาหารไปตามทางเดินอาหาร หมากฝรั่ง ที่กลืนลงไปก็จะเคลื่อนตัวเช่นเดียวกับการเคลื่อนตัวของอาหารที่รับประทานในแต่ละมื้อ ดังนั้นชิ้นส่วนเล็ก ๆ ที่ย่อยไม่ได้นี้ไม่ใช่ปัญหาในการกำจัดออกจากร่างกาย เว้นเสียแต่ว่าจะกลืนหมากฝรั่งหลายชิ้นลงไป เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาในเรื่องของขนาดที่ใหญ่เกินกว่าจะสามารถเคลื่อนผ่านได้ และผลสุดท้ายอาจต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล
ไม่ควรปลุกคนเดินละเมอให้ตื่นขึ้น
การทำอาหาร เล่นดนตรี หรือแม้กระทั่งขับรถในขณะที่ยังหลับสนิท เป็นส่วนหนึ่งของภาวะการนอนหลับที่มีความผิดปกติอย่าง การเดินละเมอหรือที่เรียกว่า Somnambulism โดยทั่วไปตามธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ควรทำเมื่อพบเจอบุคคลเหล่านั้นคือ การปลุกให้เขาตื่นขึ้น แต่ก็ยังมีหลายคนที่เพิกเฉยต่อคนเดินละเมอด้วยความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องลี้ลับ
ความเชื่อที่เป็นอันตรายต่อคนเดินละเมอ เป็นความเชื่อโบราณที่ว่า จิตวิญญาณจะออกจากร่างได้ในระหว่างการนอนหลับ และการปลุกให้ตื่นขึ้นจะทำให้วิญญาณของคนผู้นั้นเร่ร่อนตลอดไป หรือบางความเชื่อกล่าวว่า การปลุกคนละเมอนั้นสามารถทำให้พวกเขาหัวใจวายหรือกลายเป็นคนวิกลจริตได้ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ นักวิจัยกล่าวว่า การปลุกให้พวกเขาตื่นนอนขึ้นไม่สร้างอันตรายใด ๆ อีกทั้งยังเป็นสิ่งที่ควรกระทำอีกด้วย
การปล่อยให้คนเดินละเมอเดินต่อไปไม่ใช่เรื่องที่ดี และนั่นอาจสร้างผลกระทบที่ร้ายแรงตามมาได้ เนื่องด้วยคนนอนละเมออาจได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ในขณะที่พวกเขามีสภาพเหมือนผีดิบที่เดินล่องลอยอย่างไม่รู้ตัว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ดีที่สุดที่ผู้พบเห็นหรือคนใกล้ชิดเห็นคนเดินละเมอก็คือ การปลุกเขาให้ตื่นขึ้นและพากลับไปส่งยังเตียงนอน
การห่อลิ้นคือลักษณะทางพันธุกรรม
ไม่ว่าจะม้วนลิ้น พลิกลิ้น หรือห่อลิ้นเป็นสามแฉก ทุกคนสามารถเปลี่ยนให้ลิ้นเป็นนักกายกรรมได้โดยที่ไม่ต้องคำนึงว่าพ่อหรือแม่มีความสามารถในลักษณะเดียวกันนี้
ภาพที่ 4 การห่อลิ้น
ที่มา AdriaanC/Flickr
ในปีค.ศ. 1940 นักพันธุศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวอเมริกัน Alfred Sturtevant ได้ตีพิมพ์ผลการศึกษาหนึ่งซึ่งกล่าวว่า ลักษณะทางพันธุกรรมเป็นตัวกำหนดความสามารถในการห่อลิ้น และสามารถถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกได้
ความรู้ดังกล่าวถูกหักล้างโดยนักพันธุศาสตร์ Philip Matlock ในปี ค.ศ. 1952 เนื่องด้วยผลจากการทดลองในการเปรียบเทียบแฝดเหมือน (Identical twin) จำนวน 33 คู่ที่พบว่า มีฝาแฝด 7 คู่ที่ไม่มีการถ่ายทอดความสามารถในการห่อลิ้นในคู่ของตน (แฝดคนหนึ่งสามารถห่อลิ้นได้ ในขณะที่อีกคนไม่มีความสามารถเช่นนั้น) ซึ่งหากว่าความสามารถในการห่อลิ้นคือลักษณะทางพันธุกรรมแฝดเหมือนจะต้องได้รับการถ่ายทอดลักษณะดังกล่าวร่วมกัน
การห่อลิ้นยังคงเป็นตัวอย่างลักษณะทางพันธุกรรมที่ยังอยู่ในตำราเรียนวิทยาศาสตร์และถูกสอนในชั้นเรียน อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่า การห่อลิ้นจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม บางทีอาจมียีนที่กำหนดความยาวหรือกล้ามเนื้อของลิ้นที่ส่งผลต่อความสามารถในการห่อลิ้นได้ เพียงแต่ไม่มียีนที่โดดเด่นเพียงยีนเดียวที่ระบุถึงการห่อลิ้น
แม้ว่าเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องเข้าใจผิดที่คุกคามชีวิต แต่ก็สามารถก่อให้เกิดความเครียดที่ไม่จำเป็นได้ในแด็กที่กังวลว่า ตัวเองไม่มีความเกี่ยวข้องกับพ่อแม่ เนื่องด้วยพวกเขาไม่มีความสามารถในการห่อลิ้นที่ถ่ายทอดร่วมกัน
ดื่มแอลกอฮอล์ช่วยให้ร่างกายอบอุ่นขึ้น
มนุษย์สามารถรักษาระดับอุณหภูมิปกติของร่างกายให้อยู่ในระดับที่ต้องการ (Set point) ได้ แม้ว่าอุณหภูมิโดยรอบจะมีความแตกต่างจากระดับที่ต้องการเป็นอย่างมาก ซึ่งโดยปกติแล้วอุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 37 องศาเซลเซียส กระบวนการเหล่านี้เป็นหนึ่งในกลไกการรักษาความสมดุลของร่างกาย (Homeostasis)
ภาพที่ 5 แอลกอฮอล์
ที่มา ongchinonn/Pixabay
ในสภาวะแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำ ร่างกายจะรักษาระดับของอุณหภูมิโดยการหดตัวของหลอดเลือด เพื่อลดการไหลเวียนของเลือดและนำเลือดไปยังอวัยวะสำคัญในแกนกลางของร่างกาย ซึ่งแอลกอฮอล์กลับกระบวนการดังกล่าว
ผู้ดื่มแอลกอฮอล์อาจรู้สึกว่าตัวเองตัวร้อนขึ้น นั่นเป็นผลมาจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ที่ทำให้หลอดเลือดขยายตัว จึงมีเลือดยังบริเวณรอบนอกของร่างกายเช่น ผิวหนัง มากขึ้น เป็นผลให้อุณหภูมิร่างกายถูกระบายออกมาภายนอก อุณหภูมิภายในแกนกลางที่พยายามรักษาไว้จึงลดต่ำลง และอาจนำไปสู่ความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะ Hypothermia หรือภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
แหล่งที่มา
Kristin Houser. (2017, 10 November). Eight “Facts” about the Human Body Debunked by Science.
Retrieved December 28, 2017,
from https://futurism.com/human-body-myths/
Kate Goldbaum. (2016, 8 June). Should You Wake Up a Sleepwalker?
Retrieved December 28, 2017,
from https://www.livescience.com/55332-should-you-wake-a-sleepwalker.html
The Genetics of man.
Retrieved December 28, 2017,
from http://www.esp.org/books/sturt/history/contents/sturt-history-ch-20.pdf
Philip Maltlock. Identical twins discordant in tongue-rolling. Journal of Heredity.1952.43;24 Catherine Woods. (2015,15 August). Debunking the biggest genetic myth of the human tongue.
Retrieved December 28, 2017,
from https://www.pbs.org/newshour/science/genetic-myth-textbooks-get-wrong
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)