ในทุก ๆ วันตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอนเราจะได้รับข้อมูลข่าวสารผ่านช่องทางต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ ซึ่งข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ มีทั้งรูปแบบข้อความ ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว และเสียงโดย ในแต่ละรูปแบบก็มีจุดประสงค์ของการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกัน เช่น กรณีต้องการอธิบายรายละเอียดของข้อมูล อาจสื่อสารในรูปแบบข้อความบรรยาย กรณีต้องการอธิบายลักษณะของการกระทำบางอย่างที่เหมือนจริง อาจใช้การสื่อสารในรูปแบบภาพเคลื่อนไหวประกอบกับเสียง สำหรับข้อมูลข่าวสารในประเด็นต่าง ๆ จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ จำเป็นต้องสื่อสารให้ประชาชนได้เข้าใจ และได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสโควิด-19 มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย ชีวิต เศรษฐกิจ และสังคมของคนทั่วโลก สามารถนำเสนอในรูปแบบของอินโฟกราฟิก ซึ่งเป็นการนำข้อมูลที่เป็นข้อความและรูปภาพมาจัดวางให้เหมาะสม โดยที่รูปภาพอาจนำเสนอในรูปแบบสัญลักษณ์หรือกราฟได้ และทำให้ผู้อ่านเกิดความสนใจ มีความชัดเจน อ่านเข้าใจง่ายในเวลาอันสั้นดังตัวอย่าง (ภาพ 1-4)
ภาพ 1 รายงานสถานการณ์ COVID-19 ในประเทศไทย
ที่มา https://www.facebook.com/informationcovid19/
ภาพ 2 ข้อพิจารณาการให้วัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 2
ที่มา https://ddc.moph.go.th/vaccine-covid19/pages/สื่อความรู้
ภาพ 3 ขั้นตอนการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ที่มา https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/chula-covid-19/prcovid/
ภาพ 4 สายพันธุ์โรคโควิด-19ที่ต้องเฝ้าระวัง
ที่มา https://chulalongkornhospital.go.th/kcmh/chula-covid-19/prcovid/
จากตัวอย่างของอินโฟกราฟิกทั้ง 4 ภาพ จะเห็นว่าผู้จัดทำอินโฟกราฟิกได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือ และวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อสาร จากนั้นนำเสนอในรูปแบบของข้อความและรูปภาพผสมผสานกันทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย มีความน่าสนใจ และสามารถจดจำข้อมูลในประเด็นสำคัญ ซึ่งข้อดีของการนำเสนอในรูปแบบอินโฟกราฟิก ทำให้เนื้อหาที่เข้าใจยากมองเห็นภาพได้อย่างง่าย กระตุ้นความสนใจให้เกิดความรู้สึกอยากอ่าน ตอบสนองต่อพฤติกรรมของคนที่มีชีวิตเร่งรีบและมีเวลาจำกัด รวมทั้งสามารถจดจำข้อมูลต่าง ๆ ที่นำเสนอได้มากขึ้น เนื่องจากสมองของมนุษย์สามารถจดจำสิ่งต่าง ๆที่เป็นรูปภาพได้ดีกว่าข้อความเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในการออกแบบอินโฟกราฟิกควรต้องคำนึงถึงข้อมูลที่จะนำเสนอ และการออกแบบให้น่าสนใจ เข้าใจง่าย สำหรับข้อมูลที่นำเสนอ อาจเป็นข้อมูลการรายงานสถานการณ์ ข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ ข้อมูลแสดงขั้นตอนข้อมูลบรรยายความรู้
การสร้างชิ้นงานอินโฟกราฟิกของผู้เรียน
นอกจากเราจะเห็นอินโฟกราฟิกในชีวิตประจำวันทั่วไปแล้ว ในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ครูผู้สอนสามารถมอบหมายให้ผู้เรียนสร้างอินโฟกราฟิก แล้วประเมินความเข้าใจ ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสารของผู้เรียนได้โดยกระบวนการสร้างอินโฟกราฟิกในการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์สามารถสรุปโดยย่อได้ดังนี้
1. รวบรวมข้อมูลและเลือกหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์
2. กำหนดจุดประสงค์หรือประเด็นที่ต้องการนำเสนอ ซึ่งต้องคำนึงถึงผู้รับสารคือใคร เช่น บุคคลทั่วไป นักวิชาการ ผู้เรียน
3. วางขอบข่ายการดำเนินเรื่อง โดยใช้แผนผังหรือไดอะแกรมในการจัดทำอินโฟกราฟิก และออกแบบโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น Piktochart, Canva and Venngage, Infograms, Adobe Photoshop
4. นำภาพหรือข้อความมาทำอินโฟกราฟิก ซึ่งต้องไม่ละเมิดลิขสิทธิ์และต้องอ้างอิงแหล่งที่มา
5. จัดหาวิธีการเผยแพร่อินโฟกราฟิก
6. ประเมินผลอินโฟกราฟิกที่จัดทำขึ้น
7. นำผลการประเมินมาปรับปรุงแก้ไขอินโฟกราฟิกที่จัดทำขึ้น
คำถามกระตุ้นความคิดการสร้างชิ้นงานอินโฟกราฟิก
ครูผู้สอนสามารถใช้คำถามเพื่อกระตุ้นความคิด และเป็นแนวทางให้ผู้เรียนนำข้อมูลต่าง ๆ มาสร้างชิ้นงานอินโฟกราฟิก ได้ดังนี้
1. ข้อมูลอะไรบ้างที่จะมีอยู่ในอินโฟกราฟิก และมีข้อมูลส่วนไหนที่จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจเนื้อหาในอินโฟกราฟิกได้
2. ข้อความที่เป็นจุดประสงค์ของอินโฟกราฟิกนี้คืออะไร
3. หัวข้อเรื่องชัดเจนและมีความหมายหรือไม่ อย่างไร
4. การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบที่คิดไว้ มีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร
5. การเรียงลำดับข้อมูล ช่วยให้ผู้อ่านติดตามได้ง่ายหรือไม่ อย่างไร
6. การสะกดคำ เรียงประโยค ถูกต้องตามหลักไวยากรณ์หรือไม่ อย่างไร
7. ภาพที่ใช้ในอินโฟกราฟิก สนับสนุนข้อมูลหรือไม่ อย่างไร
8. การใช้สีที่แตกต่างกันมีความหมายหรือไม่ อย่างไร
9. การเลือกรูปแบบตัวอักษร ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นหรือไม่ อย่างไร
10. แหล่งที่มาของข้อมูลน่าเชื่อถือและถูกต้องหรือไม่ อย่างไร
หากผู้เรียนต้องการสร้างชิ้นงานอินโฟกราฟิกในหัวข้อเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อสื่อสารให้บุคคลทั่วไปเข้าใจง่าย ครูผู้สอน สามารถใช้คำถามข้างต้นมาเป็นแนวทางให้ผู้เรียนสร้างชิ้นงานอินโฟกราฟิกได้ โดยครูผู้สอนต้องให้ผู้เรียนสะท้อนความคิดออกมาให้ได้ เช่น
เพราะเหตุใดจึงเลือกหัวข้อนั้น ๆ มาทำอินโฟกราฟิก
จุดประสงค์หรือประเด็นที่ต้องการนำเสนอนั้นคืออะไร
แนวทางในการดำเนินเรื่องเป็นอย่างไร
การออกแบบอินโฟกราฟิกให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจต้องทำอย่างไร
ใช้โปรแกรมอะไรมาช่วยในการออกแบบอินโฟกราฟิกเนื่องจากแต่ละโปรแกรมจะมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้เรียนจึงควรศึกษาการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ก่อนเลือกโปรแกรมนั้น ๆ มาใช้
ทั้งนี้การออกแบบอินโฟกราฟิกควรจะเรียบง่าย มีภาพและข้อความประกอบที่ชัดเจน น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อความต้องไม่อัดแน่นชับซ้อน เพราะทำให้ผู้อ่านตีความผิดพลาดไปจากสิ่งที่ต้องการสื่อสารได้ อินโฟกราฟิกที่ดีนั้นผู้อ่านสามารถเข้าใจความหมายของข้อมูลทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องมีผู้อื่นมาช่วยอธิบายเพิ่มเติม
การประเมินชิ้นงานอินโฟกราฟิกของผู้เรียน
การประเมินการสร้างชิ้นงานอินโฟกราฟิกในหัวข้อเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ครูผู้สอนสามารถสร้างเกณฑ์การประเมินชิ้นงานในด้านความเข้าใจ ด้านทักษะความคิดสร้างสรรค์ และด้านการสื่อสารของผู้เรียน โดยพิจารณาจากการที่ผู้เรียนได้วิเคราะห์ข้อมูล ที่เป็นหลักการทางวิทยาศาสตร์หรือเป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน และนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างอินโฟกราฟิกการใช้คำศัพท์ที่ถูกหลักวิชาการและเหมาะสม การออกแบบที่สื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจตรงตามจุดประสงค์ที่ต้องการนำเสนอและน่าสนใจ นอกจากนี้ ครูผู้สอนสามารถให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนช่วยกันประเมินชิ้นงานได้ด้วย เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขก่อนนำไปเผยแพร่แก่บุคคลทั่วไป ตัวอย่างชิ้นงานอินโฟกราฟิกในหัวข้อเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันดังตัวอย่าง (ภาพ 5-6)
ภาพ 5 แนะ 5 วิธีสร้างภูมิคุ้มกัน รับมือโควิด-19
ที่มา https://workpointtoday.com/phyathai-hospital-2/
ภาพ 6 อวัยวะและเนื้อเยื่อที่เกี่ยวข้องกับการสร้างหรือการตอบสนองของลิมโฟไซต์
ที่มา ดัดแปลงจาก https://bell-wellness.com/2016/12/sup-port-your-immune-system-naturally-infographic/
การใช้อินโฟกราฟิกเพื่อประกอบการเรียนการสอน
ครูผู้สอนสามารถสร้างอินโฟกราฟิกเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจได้มากขึ้น โดยเฉพาะหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับแนวความคิดหลักที่ผู้เรียนมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น เรื่องเซลล์ หรือแนวความคิดหลักอยู่ไกลตัวผู้เรียน เช่น เรื่องระบบสุริยะ (ภาพ 7) แนวความคิดหลักที่เกิดกระบวนการที่อธิบายได้ยาก เช่น การหายใจระดับเซลล์ (ภาพ 8) และแนวความคิดหลักที่ผู้เรียนสังเกตไม่ทัน เช่น เรื่องปฏิกิริยาเคมี ซึ่งหัวข้อต่าง ๆ เหล่านี้ ครูผู้สอนสามารถใช้อินโฟกราฟิกเข้ามาช่วยอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้เรียนได้มองเห็นภาพและเกิดความเข้าใจได้มากยิ่งขึ้น
ภาพ 7 ระบบสุริยะ
ที่มา http://dev1.oolorpaok.net/most/main/th/knowledge/portfolio/projeot-initiative-king/at-human-re-aouroes/445-infographio/5076-aolar-system
ภาพ 8 การหายใจระดับเชลล์
ที่มา ดัดแปลงจาก https://education.nationalgeographic.org/resource/cellular-respiration-infographic/
ข้อมูลเพิ่มเติม
"ภาพหนึ่งภาพแทนคำพูดได้หนึ่งหมื่นคำ" ข้อความนี้คงบอกได้ชัดเจนแล้วว่าการใช้อินโฟกราฟิกจะช่วยในการสื่อสารข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่ต้องอธิบายรายละเอียดมาก สามารถทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายในเวลาอันสั้น จดจำข้อมูลได้ดี และมีความน่าสนใจ ผู้เขียนหวังว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์กับครูผู้สอน นักเรียน และบุคคลทั่วไปที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในชั้นเรียน และใช้ในชีวิตประจำวันได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 231 กรกฎาคม - สิงหาคม 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/231/22/
บรรณานุกรม
Cima L., et al. (2021). The “Make Surgical Pathology Easy” project: learning Pathology through tailored digital infographics - the case for renovation of an old teaching method. Retrieved June 6, 2021, from https://www.pathologica.it/article/ download/269/249.
Derek A. Scott & Alison McE. Jenkinson. (2020). Using infographics to help students understand and communicate anatomy and physiology. Retrieved June 6, 2021, from https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1294930.pdf.
Hidayah M. Fadzil. (2018). Designing infographics for the educational technology course: prespectives of pre-service science teachers. Retrieved June 5, 2021, from https://www.researchgate.net/publication/323756929_Designing_infographics_for_the_educational_technology_course_Perspectives_of_preservice_science_teachers/ link/5b1342444585150a0a64296e/download.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)