logo IPST4 IPST4
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
    • คู่มือครู
    • คู่มือการใช้หลักสูตร
    • ชุดสื่อ 60 พรรษา
    • หนังสือเรียน
    • Ebook อื่นๆ
  • Apps
  • เกี่ยวกับ scimath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
  • คำถามที่พบบ่อย
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
    • คู่มือครู
    • คู่มือการใช้หลักสูตร
    • ชุดสื่อ 60 พรรษา
    • หนังสือเรียน
    • Ebook อื่นๆ
  • Apps
  • เกี่ยวกับ scimath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
  • คำถามที่พบบ่อย
  • learning space
  • ระบบอบรมครู
  • ระบบการสอบออนไลน์
  • ระบบคลังความรู้
  • สสวท.
  • สำนักงานสลากกินแบ่ง
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
    • คู่มือครู
    • คู่มือการใช้หลักสูตร
    • ชุดสื่อ 60 พรรษา
    • E-Books อื่นๆ
  • Apps
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ

  • คำถามที่พบบ่อย
  • สมัครสมาชิก
  • Forgot your password?
ค้นหา
    
ค้นหาบทเรียน
กลุ่มเป้าหมาย
ระดับชั้น
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ
เลือกหมวดหมู่
    
  • บทเรียนทั้งหมด
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์
  • เทคโนโลยี
  • โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สะเต็มศึกษา
  • อื่น ๆ

บรรยากาศ

โดย :
ศุภาวิตา จรรยา
เมื่อ :
วันจันทร์, 28 ธันวาคม 2563
Hits
121408
  • 1. Introduction
  • 2. ลมฟ้าอากาศและองค์ประกอบของลมฟ้าอากาศ
  • - All pages -

องค์ประกอบและการแบ่งชั้นบรรยากาศ

          เมื่อครั้งผู้เขียนเป็นเด็กเคยได้ฟังนิทานที่คุณพ่อคุณแม่เล่าให้ฟังว่าคนที่ทำความดีมาก ๆ เมื่อเสียชีวิตไปจะได้เกิดเป็นเทวดาอยู่บนสวรรค์ และสวรรค์นั้นอยู่บนฟ้า ผู้เขียนได้เชื่ออย่างนั้นมาจนกระทั่งได้เรียนเรื่อง การแบ่งชั้นบรรยากาศ จึงมีความเข้าใจที่ถูกต้อง และได้เห็นชัดมากกว่านั้นเมื่อได้มีโอกาสได้นั่งเครื่องบิน ทำให้ผู้เขียนได้เห็นด้วยตาตัวเองเลยว่าบนฟ้าไม่ได้มีเทวดา บนฟ้าไม่ได้เป็นสวรรค์อย่างที่เคยฟังในนิทาน วันนี้จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่อยู่บนฟ้า ว่าถัดจากพื้นดินที่เราอาศัยอยู่ขึ้นไปนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไร แบ่งเป็นชั้น แต่ละชั้น เรียกว่าอย่างไร และมีประโยชน์ต่อมนุษย์เราอย่างไรบ้าง

             ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า บรรยากาศ กันก่อน บรรยากาศ หมายถึง อากาศที่ห่อหุ้มโลก อยู่รอบตัวเราตั้งแต่พื้นโลกขึ้นไปจนถึงระดับความสูงหลายร้อยกิโลเมตร โดยอากาศจะมีความหนาแน่นมากในระดับที่อยู่ใกล้ผิวโลก และค่อย ๆ เบาบางลงเรื่อย ๆ เมื่ออยู่ห่างจากพื้นดินมากขึ้น โลกมีแรงดึงดูดต่อบรรยากาศทำให้บรรยากาศมีการเคลื่อนตัวตามการหมุนของโลกไปพร้อมกับพื้นโลก องค์ประกอบของบรรยากาศประกอบไปด้วยแก๊สไนโตรเจน ( 78% ) รองลงมาคือ แก๊สออกซิเจน ( 21% ) อาร์กอน ( 0.9 % ) นอกจากนั้นเป็นไอน้ำและแก๊สอื่น ๆ จำนวนเล็กน้อย

11242 1

ภาพที่ 1 ภาพแสดงชั้นบรรยากาศต่าง ๆ ที่แบ่งโดยใช้อุณหภูมิเป็นเกณฑ์
ที่มา: ศุภาวิตา  จรรยา ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File: Layers_of_the_atmosphere.PNG, The High Fin Sperm Whale

ประโยชน์ของบรรยากาศ ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกมีหลายประการ กล่าวคือ

  1. ทำให้สภาวะอากาศบนโลกเหมาะสมกับการดำรงชีวิตและป้องกันอันตรายจากรังสีต่าง ๆ โดยในช่วงเวลากลางวันดวงอาทิตย์แผ่รังสีความร้อนมายังโลก แก๊สโอโซนในบรรยากาศจะดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต ไว้บางส่วน เพื่อไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เพราะถ้ารังสีอัลตราไวโอเลตที่ลงมาสู่โลกมีความเข้มมากเกินไปจะส่งผลให้มนุษย์มีผิวหนังไหม้ เซลล์ผิวหนังถูกทำลาย และอาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้ นอกจากนี้   ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์  ถึงแม้จะมีอยู่ในบรรยากาศเพียงเล็กน้อย จะเป็นตัวดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ทำให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกอบอุ่นเหมาะแก่การดำรงชีวิต ส่วนช่วงกลางคืนที่ไม่มีแสงแดด โลกจะมีการคายความร้อน บรรยากาศจะช่วยกักเก็บความร้อนบางส่วนไว้ ไม่ให้เกิดการคายความร้อนเร็วเกินไป   จนทำให้โลกมีอุณหภูมิลดลงต่ำมากจนไม่เหมาะต่อการดำรงชีวิต  ถ้าไม่มีอากาศห่อหุ้มโลกไว้แล้วในช่วงกลางวันอุณหภูมิบนผิวโลกจะสูงถึงประมาณ 110 องศาเซลเซียส และในช่วงกลางคืนอุณหภูมิบนผิวโลกจะลดต่ำลงจนถึงประมาณ -180 องศาเซลเซียส

  2. บรรยากาศช่วยป้องกันอันตรายจากอนุภาคต่าง ๆ ที่อยู่นอกโลก ได้แก่ อุกกาบาต สะเก็ดดาวต่าง ๆ เมื่อสิ่งเหล่านั้นหลุดเข้ามายังชั้นบรรยากาศของโลกด้วยความเร็วสูง  จะเกิดการเสียดสีและลูกไหม้ทำให้มีขนาดเล็กลง จึงเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนโลกน้อยลง

  3. บรรยากาศเป็นแหล่งแก๊สที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก ได้แก่ ประกอบด้วยแก๊สออกซิเจน ซึ่งเป็นแหล่งสำหรับการหายใจของสิ่งมีชีวิต เป็นแหล่งคาร์บอนไดออกไซด์ให้พืชใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง ไอน้ำในบรรยากาศ ทำให้เกิดฝน ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของทั้งพืชและสัตว์

             การแบ่งชั้นบรรยากาศนักวิทยาศาสตร์ได้แบ่งโดยใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกัน ได้แก่ การแบ่งตามองค์ประกอบทางเคมี การแบ่งตามคุณสมบัติทางไฟฟ้า ในที่นี้จะขอกล่าวถึงการแบ่งชั้นบรรยากาศโลกตามการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ ซึ่งมักใช้ในการศึกษาด้านอุตุนิยมวิทยา สามารถแบ่งชั้นบรรยากาศออกเป็น 5 ชั้น ดังนี้

11242 2

ภาพที่ 2 ภาพแสดงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในบรรยากาศแต่ละชั้น

ที่มา: http://www.physicalgeography.net/fundamentals/7b.html, Pidwirny, M.

  1. โทรโพสเฟียร์ ( Troposphere ) เป็นบรรยากาศชั้นล่างสุดที่อยู่ตั้งแต่ผิวโลกจนถึงระดับความสูง 10 - 12 กิโลเมตร เป็นชั้นที่มนุษย์อาศัยอยู่ ร้อยละ 80 ของมวลอากาศทั้งหมดอยู่ในบรรยากาศชั้นนี้ นอกจากนี้บรรยากาศชั้นนี้มีไอน้ำ เมฆ จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำฟ้าต่างๆ เช่น เมฆ พายุ ฝน เป็นต้น จึงเหมาะแก่การดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ บนโลก การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในชั้นนี้ ยิ่งเมื่อความสูงเพิ่มขึ้น อุณหภูมิจะลดลง เนื่องจากว่า ในเวลากลางวันพื้นผิวโลกทำหน้าที่ดูดกลืนรังสีและความร้อนจากดวงอาทิตย์ แล้วแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา ทำให้อุณหภูมิใกล้ผิวโลกอบอุ่น และอุณหภูมิจะลดลงเมื่อห่างจากผิวโลกออกไป ยิ่งสูงขึ้นไปอุณหภูมิจะยิ่งลดต่ำลงในอัตรา 6.5 °C ต่อ 1 กิโลเมตร จนกระทั่งถึงระยะสูงประมาณ 12 กิโลเมตร อุณหภูมิจะคงที่ - 56.5 °C    

  2. สตราโทสเฟียร์ ( Stratosphere ) เริ่มตั้งแต่ระดับความสูง 12 กิโลเมตรจนถึงระดับความสูง 50 กิโลเมตร บรรยากาศชั้นนี้แปรปรวนน้อยกว่าโทรโพสเฟียร์มาก เนื่องจากไม่มีไอน้ำหรือความชื้น เครื่องบินจึงบินอยู่ที่ชั้นบรรยากาศชั้นนี้เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสอากาศที่แปรปรวน บรรยากาศชั้นนี้ มีแก๊สโอโซนที่เป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเล็ตให้กับสิ่งมีชีวิตบนผิวโลก ที่ชั้นนี้ที่ความสูงเพิ่มขึ้นอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้น อัตรา 2°C ต่อ 1 กิโลเมตร เนื่องจากโอโซนที่ระยะสูง 48 กิโลเมตร ดูดกลืนรังสีอัลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์เอาไว้จึงทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้น นอกจากนี้ บอลลูนตรวจอากาศสามารถลอยสูงได้เพียงบรรยากาศชั้นนี้  เพราะเมื่อบอลลูนลอยสูงขึ้นไปอีกก็จะแตกเนื่องจากความดันอากาศภายในและภายนอกแตกต่างกันมากจนเกินไป 

  3. มีโซสเฟียร์ ( Mesosphere ) เริ่มตั้งแต่ระดับความสูง 50 - 80 กิโลเมตร ในชั้นนี้มีมวลอากาศเบาบางมากไม่ถึงร้อยละ 0.1 ของมวลอากาศทั้งหมด เมื่อความสูงเพิ่มขึ้นอุณหภูมิก็จะลดลง เนื่องจากห่างจากแหล่งความร้อนในชั้นโอโซนออกไป อุณหภูมิจะลดลงไปเรื่อย ๆ จนถึง -90 °C ที่ระยะสูง 80 กิโลเมตร อุกกาบาตส่วนมากที่ตกเข้ามายังโลกจะถูกเผาไหม้ที่บรรยากาศชั้นนี้

  4. เทอร์โมสเฟียร์ ( Thermosphere ) เริ่มตั้งแต่เหนือระดับความสูง 80 กิโลเมตรจนถึงระดับความสูงราว ๆ 500 - 1,000 กิโลเมตร บรรยากาศชั้นนี้เองที่ปลดปล่อยแสงออโรราออกมา และเป็นบรรยากาศที่สถานีอวกาศนานาชาติ โคจรที่ระดับความสูง 350 - 420 กิโลเมตรด้วย ที่บรรยากาศชั้นนี้อุณหภูมิกลับสูงขึ้นอีกครั้ง โดยอุณหภูมิในชั้นนี้สามารถสูงได้ถึง 1200 °C อุณหภูมิที่สูงนี้ถูกปลดปล่อยจากโมเลกุลของแก๊สไนโตรเจนและออกซิเจนในบรรยากาศชั้นบนสุด ดูดกลืนรังสีแกมมาและรังสีเอกซ์ จนทำให้อะตอมของแก๊สมีอุณหภูมิสูงมากจนแตกตัวและสูญเสียอิเล็กตรอน กลายเป็นประจุ ( Ion ) บางครั้งเราเรียกบรรยากาศชั้นนี้ว่า "ไอโอโนสเฟียร์" ( Ionosphere ) มีสมบัติในการสะท้อนคลื่นวิทยุ ทำให้เกิดประโยชน์ในการสื่อสารโทรคมนาคมระยะไกล

  1. เอ็กโซสเฟียร์ ( Exosphere ) เป็นบรรยากาศชั้นนอกสุดของโลก บรรยากาศชั้นนี้เบาบางและมีองค์ประกอบของแก๊สเบา ๆ อย่างไฮโดรเจนและฮีเลียม แม้ว่าโมเลกุลของอากาศจะมีอยู่เบาบางและอยู่ห่างกันมาก แต่ก็มีความหนาแน่นมากพอที่จะสร้างแรงเสียดทานให้กับดาวเทียมและยานอวกาศซึ่งเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง ถัดจากชั้นนี้ขึ้นไปจะเป็นอาณาเขตซึ่งเรียกว่า อวกาศ ซึ่งมีสภาพเหมือนกับเป็นสุญญากาศ

แหล่งที่มา

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์.  ชั้นบรรยากาศ.   สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562, จาก http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/atm-structure

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่มที่ 20. เรื่องที่ 8 เวชศาสตร์การบิน/บรรยากาศ. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2562, จาก  http://www.kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=20&chap=8&page=t20-8-infodetail04.html

Pidwirny, M. (2006). "The Layered Atmosphere". Fundamentals of Physical Geography,2nd Edition. Retrieved December 17, 2019 from http://www.physicalgeography.net/fundamentals/7b.html

The UCAR Center for Science Education. Layers of Earth's Atmosphere. Retrieved December 17, 2019 from https://scied.ucar.edu/atmosphere-layers

 

 


Return to contents

ลมฟ้าอากาศและองค์ประกอบของลมฟ้าอากาศ

          หากมีใครสักคน ถามคุณว่าสภาพอากาศวันนี้เป็นอย่างไร  คุณอาจตอบเพียงว่า วันนี้ร้อนมาก วันนี้ครึ้มฟ้าครึ้มฝน หรือวันนี้หนาวกว่าเมื่อวาน แต่หากต้องการรายละเอียดมากกว่านั้นคุณคงต้องใช้ข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา ซึ่งพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง อาทิ อุณหภูมิอากาศ ความชื้น ความเร็วลม ปริมาณและประเภทของเมฆ เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกรวบรวมและประมวลผลเป็นรายงานสภาพอากาศ รวมถึงการพยากรณ์อากาศทั้งแบบรายวันหรือรายสัปดาห์ ทำให้คุณได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศอย่างละเอียดและแม่นยำ ในบทเรียนนี้เราจะได้ทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ซึ่งกล่าวโดยรวมว่า การศึกษาเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศและองค์ประกอบของลมฟ้าอากาศ

11242 3

ภาพที่ 1 ลมฟ้าอากาศ เป็นสภาวะของอากาศที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง
ที่มา :  https://www.pexels.com,  Marbel Amber

ลมฟ้าอากาศคืออะไร

          ลมฟ้าอากาศ ( Weather ) คือ ปรากฏการณ์หรือสภาวะของอากาศที่เกิดขึ้น ณ สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา

          ชวนคิด หากมีผู้กล่าวว่า “ปีนี้ประเทศไทย มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีเท่ากับ 28.5 องศาเซลเซียส” ข้อความนี้ถือเป็นการบอกสภาพลมฟ้าอากาศหรือไม่

           ตอบ ไม่เป็น เพราะข้อมูลสภาพลมฟ้าอากาศ ต้องเป็นข้อมูลที่เฉพาะเจาะจง ทั้งในแง่สถานที่ และเป็นช่วงเวลาอันสั้น  เช่น อุณหภูมิ ณ เวลาเที่ยงวัน ที่กรุงเทพมหานคร ในวันนี้ มีค่าเท่ากับ 32.2 องศาเซลเซียส

องค์ประกอบของลมฟ้าอากาศมีอะไรบ้าง

          ในพื้นที่หรือสถานที่หนึ่ง ๆ จะมีสภาพลมฟ้าอากาศแตกต่างกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ความกดอากาศ ลม ความชื้น เมฆ และหยาดน้ำฟ้า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่า องค์ประกอบของลมฟ้าอากาศ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

           1. อุณหภูมิอากาศ ( Air temperature ) เป็นค่าพื้นฐานที่ใช้บอกสภาพลมฟ้าอากาศในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิอากาศในพื้นที่หนึ่ง ๆ มีค่าแตกต่างกัน คือ การหมุนรอบตัวเองของโลก ทำให้มุมที่ลำแสงจากดวงอาทิตย์ตกกระทบมายังผิวโลกนั้นมีค่าแตกต่างกัน จึงส่งผลให้ความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์มีค่าแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เป็นผลให้อุณหภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป โดยในเวลากลางวันอุณหภูมิอากาศจะสูง และลดต่ำลงในช่วงเวลากลางคืน โดยเครื่องมือที่ใช้วัดอุณหภูมิ คือ เทอร์มอมิเตอร์

           อย่างไรก็ตาม ลักษณะทางภูมิศาสตร์และตำแหน่งของแต่ละพื้นที่ก็ส่งผลต่ออุณหภูมิอากาศด้วยเช่นกัน เช่น พื้นที่บริเวณเส้นศูนย์สูตรจะมีอุณหภูมิอากาศสูงกว่าบริเวณเขตขั้วโลก ที่ระดับความสูงเพิ่มขึ้นอุณหภูมิอากาศจะลดลง เป็นต้น นอกจากนี้ปริมาณเมฆก็ส่งผลต่ออุณหภูมิอากาศเช่นกัน โดยในพื้นที่หรือในบางช่วงเวลาที่มีปริมาณเมฆปกคลุมมาก จะมีอุณหภูมิอากาศต่ำกว่าบริเวณที่มีปริมาณเมฆปกคลุมน้อย

            2. ความกดอากาศ ( Air pressure ) เป็นค่าที่แสดงถึงน้ำหนักของโมเลกุลอากาศที่กดทับลงในหนึ่งหน่วยพื้นที่ที่พิจารณา เมื่อความกดอากาศเปลี่ยนแปลงจะมีผลต่อสภาพของลมฟ้าอากาศ โดยปัจจัยที่ส่งผลต่อความกดอากาศ คือระดับความสูงและอุณหภูมิของอากาศ โดยทั่วไปที่ระดับความสูงน้อยๆ ความกดอากาศจะมีค่าสูงและลดลงเรื่อย ๆ เมื่อระดับความสูงเพิ่มขึ้น และเมื่อพิจารณาอุณหภูมิของอากาศ จะพบว่าอุณหภูมิอากาศต่ำจะมีค่าความกดอากาศสูง

            เนื่องจากอากาศจะเคลื่อนที่จากพื้นที่ความกดอากาศสูงไปยังพื้นที่ที่มีความกดอากาศต่ำเสมอ หากการเคลื่อนที่นั้นเกิดขึ้นในระดับพื้นผิวโลก เราจะเรียกอากาศที่เคลื่อนที่นั้นว่า ลม  แต่ในระดับความสูงมาก ๆ ความกดอากาศมีค่าต่ำ ทำให้อากาศเคลื่อนที่จากผิวโลกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และเมื่อปะทะกับอุณหภูมิอากาศต่ำ จึงมีการก่อตัวเป็นเมฆ นั่นเป็นเหตุผลที่เราต้องเตรียมร่มในวันที่มีรายงานว่าความกดอากาศต่ำ เพราะเมฆที่ก่อตัวขึ้นนั้นอาจกลายเป็นฝนในที่สุด 

          เครื่องมือที่ใช้วัดความกดอากาศ คือ บารอมิเตอร์ โดยค่าความกดอากาศสัมพันธ์กับการเคลื่อนที่หรือตำแหน่งที่เปลี่ยนไปของของเหลวที่ถูกอากาศกดทับ บารอมิเตอร์มี 3 ชนิดหลัก  ๆ คือ บารอมิเตอร์แบบปรอท แอนิรอยด์บารอมิเตอร์ และบารอกราฟ ดังภาพที่ 2

11242 4

ภาพที่  2  บารอมิเตอร์ชนิดต่างๆ

ที่มา : ศุภาวิตา  จรรยา ดัดแปลงจาก https://pixabay.com/th/photos/barograph , https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Barometer_mercury_column_hg.jpg และhttps://publicdomainvectors.org/en/free-clipart/Barometer-image/71461.html

          3. ลม ( Wind ) เป็นการเคลื่อนที่ของอากาศจากบริเวณที่มีความกดอากาศสูงไปยังบริเวณที่มี ความกดอากาศต่ำ การเคลื่อนที่ของอากาศนี้เกิดจากความแตกต่างของแรงดันในแต่ละพื้นที่ ปรากฏการณ์ที่อากาศเคลื่อนที่จากความกดอากาศสูงไปยังความกดอากาศต่ำนั้น สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ จากการเป่าลูกโป่งแล้วค่อย ๆ ปล่อยลมออก จะสังเกตว่าลมเคลื่อนที่ออกมาภายนอกแทนที่จะกลับเข้าไปในลูกโป่ง ทั้งนี้เพราะอากาศภายในลูกโป่งมีมากกว่า จึงมีแรงดันมากกว่า เมื่อมีแรงดันมากกว่าจึงต้องเคลื่อนที่ออกมาสู่ภายนอกนั่นเอง

          การเกิดลมบนพื้นผิวโลกนั้น เกิดจากพื้นผิวโลกบริเวณต่าง ๆ ได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์แตกต่างกัน รวมถึงมีสภาพภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ทำให้มีอุณหภูมิอากาศและความกดอากาศแตกต่างกันจึงทำให้เกิดลม การเกิดลมเป็นที่มาของการหมุนเวียนอากาศ จนกลายเป็นฝนและพายุ ทั้งนี้หากลมที่เกิดขึ้นในอันเนื่องจากอุณหภูมิพื้นดินที่แตกต่างจากอุณหภูมิบนผิวน้ำ เราจะเรียกว่า ลมมรสุม และเมื่อพื้นที่ 2 บริเวณมีความกดอากาศแตกต่างกันมาก จะเกิดลมที่ความรุนแรง เรียกว่า “ลมพายุ”

          เครื่องมือที่ใช้ในการวัดทิศทางลม เรียกว่า “ศรลม” มีลักษณะเป็นลูกศรยาว โดยปลายลูกศรจะชี้ไปในทางที่ลมพัดเข้ามา และความเร็วของลมสามารถวัดได้โดยใช้ “มาตรความเร็วลม (anemometer) ” แสดงดังภาพที่ 3

11242 5

ภาพที่ 3 มาตรความเร็วลม ( anemometer ) 
ที่มา : https://pixabay.com, Hpgruesen

           4.ความชื้น ( Humidity ) คือ ปริมาณไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศ ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ (relative humidity) เป็นอัตราส่วนของปริมาณของไอน้ำที่มีอยู่ในอากาศต่อปริมาณของไอน้ำที่ทำให้อากาศอิ่มตัว ( saturated air ) ปัจจัยที่ทำให้อากาศมีปริมาณไอน้ำที่แตกต่างกันนั้น คือ อุณหภูมิของอากาศ โดยอุณหภูมิสูงจะสามารถกักเก็บไอน้ำได้มากกว่าอุณหภูมิต่ำ สภาวะที่อากาศไม่สามารถกักเก็บไอน้ำได้อีก เรียกว่า อากาศอิ่มตัว หรืออากาศมีความชื้นสัมพัทธ์ 100% เครื่องวัดความชื้น เรียกว่า ไฮโกรมิเตอร์ ซึ่งมีหลายชนิด ดังตัวอย่างแสดงในภาพที่ 4

11242 6

ภาพที่ 4 ไฮโกรมิเตอร์
ที่มา : https://pixabay.com, Rchanesa

         5. เมฆ ( Clouds ) คือ กลุ่มของหยดน้ำขนาดเล็กหรือเกล็ดน้ำแข็งที่รวมตัวกันลอยอยู่ในอากาศ เมฆเกิดจากการระเหยของน้ำจากแม่น้ำ ลำธาร หรือมหาสมุทร แล้วไอน้ำนั้นเคลื่อนที่สู่ชั้นบรรยากาศ เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิต่ำและความกดอากาศต่ำ ทำให้ไอน้ำเหล่านี้รวมตัวกลายเป็นละอองน้ำขนาดเล็กที่จับกันเป็นกลุ่มก้อนได้โดยมีฝุ่นละอองขนาดเล็กเป็นแกน หรือเรียกว่า แกนควบแน่น ( condensation nuclei ) หรือหากรวมตัวกันในระดับสูงละอองน้ำนั้นจะกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งขนาดเล็ก โดยเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์ตกกระทบไปยังพื้นผิวของเมฆจะสามารถสะท้อนเข้าสู่ตาเรา มองเห็นเป็นสีเทาหรือขาวได้

          เมฆ สามารถจัดแบ่งประเภทตามระดับความสูง โดยแบ่งได้เป็น เมฆชั้นต่ำ ( สูงจากพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร ) เมฆชั้นกลาง ( สูงจากพื้นดิน 2 - 6 กิโลเมตร ) และเมฆชั้นสูง ( สูงจากพื้นดินมากกว่า 6 กิโลเมตร ) หากจัดแบ่งตามรูปร่างลักษณะของก้อนเมฆ สามารถแบ่งได้เป็น เมฆก้อน ( Cumulus ) และเมฆแผ่น          ( Stratus ) โดยลักษณะและชื่อของเมฆประเภทต่าง ๆ แสดงดังภาพที่ 5

11242 7
ภาพที่ 5 ชื่อและลักษณะของเมฆประเภทต่างๆ
ที่มา : ศุภาวิตา  จรรยา ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Cloud_types.jpg, Christopher M. Klaus

          ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณเมฆหรือการเกิดเมฆที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เช่น ปริมาณของแกนควบแน่น ซึ่งแกนควบแน่นนั้นเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก เขม่าควันจากการเผาไหม้ หรือไอเกลือทะเล ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดเมฆ นอกจากนี้อุณหภูมิอากาศและลมยังส่งผลต่อการระเหยของน้ำซึ่งส่งผลต่อการเกิดเมฆและการเคลื่อนที่ของเมฆด้วยเช่นกัน เราสามารถสังเกตสภาพลมฟ้าอากาศจากการสังเกตรูปร่างลักษณะของเมฆได้ เช่น เมื่อเมฆก่อตัวในแนวตั้งสีเทา แสดงว่าจะเกิดพายุ ฝนฟ้าคะนอง หรือหากเมฆมีลักษณะเป็นแผ่นบางลอยอยู่ระดับต่ำ แสดงว่าสภาพอากาศเป็นปกติ เป็นต้น

          6. หยาดน้ำฟ้า ( Precipitation ) คือ หยดน้ำหรือน้ำแข็งทุกชนิดที่เกิดจากการควบแน่นของไอน้ำที่ลอยขึ้นสู่บรรยากาศ แล้วตกลงสู่พื้นโดยไม่ระเหยกลายเป็นไอก่อนถึงพื้น ได้แก่ ละอองหมอก ฝน หิมะ ลูกเห็บ เป็นต้น ปริมาณของหยาดน้ำฟ้าที่วัดได้ในช่วงฤดูกาลต่าง ๆ จะบ่งชี้ถึงสภาพอากาศในบริเวณหรือภูมิภาคนั้นได้ ฝน เป็นหยาดน้ำฟ้าที่สำคัญสำหรับประเทศไทย โดยเกิดจากการกลั่นตัวของละอองน้ำขนาดเล็กภายในก้อนเมฆ กลายเป็นหยดน้ำขนาดประมาณ 0.5 – 5 มิลลิเมตร ปัจจัยที่มีผลต่อปริมาณฝน คือ ปริมาณเมฆ เครื่องมือวัดปริมาณน้ำฝน เรียกว่า เครื่องวัดน้ำฝน ( rain gauge ) ซึ่งมีหลายชนิด เช่น เครื่องวัดน้ำฝนแบบธรรมดาหรือแบบแก้วตวง เครื่องวัดน้ำฝนแบบบันทึก ดังแสดงในภาพที่ 6

          กล่าวโดยสรุป ในบทเรียนนี้ เป็นการศึกษาลมฟ้าอากาศ ซึ่งเป็นสภาวะของอากาศในเวลาหนึ่งของพื้นที่หนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับองค์ประกอบลมฟ้าอากาศ ได้แก่ อุณหภูมิอากาศ ความกดอากาศ ลม ความชื้น เมฆ และหยาดน้ำฟ้า โดยหยาดน้ำฟ้าที่พบบ่อย ในประเทศไทย ได้แก่ ฝน องค์ประกอบ ของลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ปริมาณรังสีจากดวงอาทิตย์และ ลักษณะพื้นผิวโลกส่งผลต่ออุณหภูมิอากาศ อุณหภูมิอากาศและปริมาณไอน้ำส่งผลต่อความชื้น ความกดอากาศส่งผลต่อลม ความชื้นและลมส่งผลต่อเมฆ

แหล่งที่มา

ทรูปลูกปัญญา.  บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง บรรยากาศ. สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2562, จาก https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/31425/044023

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์.  บรรยากาศ.  สืบค้นเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2562, จาก http://www.lesa.biz/earth/atmosphere

The Globe program.  Precipitation Protocols.  Retrieved November 20, 2019, from https://www.globe.gov/documents/348614/97b9939c-7fb5-4b12-8113-59f988781bf5

University Cooperation for Atmospheric Research. (2019).  Learning Zone.  Retrieved November 20, 2019, from https://scied.ucar.edu/resources


Return to contents
Previous Page 1 / 2 Next Page
หัวเรื่อง และคำสำคัญ
บรรยากาศ,องค์ประกอบชั้นบรรยากาศ,การแบ่งชั้นบรรยากาศ โทรโพสเฟียร์, สตราโทสเฟียร์, มีโซสเฟียร์, เทอร์โมสเฟียร์, เอ็กโซสเฟียร์,ลมฟ้าอากาศ, อุณหภูมิอากาศ, ความกดอากาศ, ลม ความชื้น, เมฆ, หยาดน้ำฟ้า
ประเภท
Text
รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท.
สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
วันที่เสร็จ
วันอังคาร, 10 ธันวาคม 2562
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
นางสาวศุภาวิตา จรรยา
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
ระดับชั้น
ม.1
ช่วงชั้น
มัธยมศึกษาตอนต้น
กลุ่มเป้าหมาย
ครู
นักเรียน
บุคคลทั่วไป
  • 11242 บรรยากาศ /lesson-earthscience/item/11242-2019-12-19-07-25-37
    เพิ่มในรายการโปรด
  • ให้คะแนน
    Average rating
    • 1
    • 2
    • 3
    • 4
    • 5
    • Share
    • Tweet
    • Share

ค้นหาบทเรียน
กลุ่มเป้าหมาย
ระดับชั้น
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ
  • บทเรียนทั้งหมด
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์
  • เทคโนโลยี
  • โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สะเต็มศึกษา
  • อื่น ๆ
  • เกี่ยวกับ SciMath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
  • คำถามที่พบบ่อย
Scimath คลังความรู้

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.

Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved. 
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)