logo IPST4 IPST4
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
    • คู่มือครู
    • คู่มือการใช้หลักสูตร
    • ชุดสื่อ 60 พรรษา
    • หนังสือเรียน
    • Ebook อื่นๆ
  • Apps
  • เกี่ยวกับ scimath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
  • คำถามที่พบบ่อย
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
    • คู่มือครู
    • คู่มือการใช้หลักสูตร
    • ชุดสื่อ 60 พรรษา
    • หนังสือเรียน
    • Ebook อื่นๆ
  • Apps
  • เกี่ยวกับ scimath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ

  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
  • คำถามที่พบบ่อย
  • learning space
  • ระบบอบรมครู
  • ระบบการสอบออนไลน์
  • ระบบคลังความรู้
  • สสวท.
  • สำนักงานสลากกินแบ่ง
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
    • คู่มือครู
    • คู่มือการใช้หลักสูตร
    • ชุดสื่อ 60 พรรษา
    • E-Books อื่นๆ
  • Apps
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ
ลงชื่อเข้าสู่ระบบ

  • คำถามที่พบบ่อย
  • สมัครสมาชิก
  • Forgot your password?
ค้นหา
    
ค้นหาบทเรียน
กลุ่มเป้าหมาย
ระดับชั้น
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ
เลือกหมวดหมู่
    
  • บทเรียนทั้งหมด
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์
  • เทคโนโลยี
  • โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สะเต็มศึกษา
  • อื่น ๆ

ปฏิสัมพันธ์ในระบบสุริยะ

โดย :
ศุภาวิตา จรรยา
เมื่อ :
วันจันทร์, 07 ธันวาคม 2563
Hits
30523
  • 1. Introduction
  • 2. ปรากฏการณ์จันทรุปราคา
  • 3. ปรากฏการณ์สุริยุปราคา
  • - All pages -

ปรากฏของดวงอาทิตย์

          ความหมายของคำว่า “ฤดู” จากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ส่วนของปี ซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก  และ คำว่า “กาล” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง ดังนั้น คำว่า ฤดูกาล จึงหมายถึง ช่วงเวลาใน 1 ปี ที่แบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก

11001 1

ภาพที่ 1 ภาพแสดงฤดูกาลต่าง ๆ ในประเทศเขตอากาศหนาวและเขตอากาศอบอุ่น
ที่มา: ศุภาวิตา  จรรยา

          ปัจจัยที่ส่งผลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ดวงอาทิตย์ การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และแกนโลก นอกจากนี้ในประเทศที่อยู่ในเขตอากาศร้อน ( Tropical zone ) ลมมรสุม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเช่นกัน

          ฤดูกาล ( Seasons ) เกิดจากโลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงรี ในขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นแกนของโลกจะเอียงทำมุมคงที่ตลอดเวลา แกนของโลกจะวางตัวในแนวเอียงจากแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศา ทำให้บริเวณซีกโลกทางเหนือ และซีกโลกทางใต้ได้รับแสงสว่างและความร้อนไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ สลับกันไปในเวลา 1 ปี เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ

11001 2

ภาพที่ 2 ภาพแสดงวงลักษณะโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ใน 1 ปี ซึ่งมีผลต่อการเกิดฤดูกาล
ที่มา: ศุภาวิตา  จรรยา ดัดแปลงจาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/Seasons1.svg,Duoduoduo and Gothika

          จากภาพที่ 2 เราสามารถแบ่งการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ได้เป็น 4 ช่วงหลัก ๆ ได้แก่

  1. Vernal Equinox หรือวันวิสันตวิษุวัต ( ตำแหน่งที่ 1 ) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีโดยประมาณ จะเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน หรือที่เรียกว่า Equinox ( Equal Night ) ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกตรงกับทิศพอดี และเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุด โดยประเทศที่อยู่ทางซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนประเทศฝั่งซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
  2. Summer Solstice หรือวันครีษมายัน ( ตำแหน่งที่ 2 ) ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปีโดยประมาณ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด โดยจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ของประเทศทางด้านซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืนของประเทศทางฝั่งซีกโลกเหนือ ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย และจะเป็นฤดูหนาว และมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน
  3. Autumnal Equinox หรือวันศารทวิษุวัต ( ตำแหน่งที่ 3 ) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ของทุกปีโดยประมาณ โดยดวงอาทิตย์จะกลับมาขึ้นและตกตรงกับทิศพอดีอีกครั้งหนึ่ง กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน แต่ในคราวนี้ประเทศทางซีกโลกเหนือกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงเนื่องจากโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ลดลงเมื่อเทียบกับฤดูร้อน ต้นไม้จึงผลัดใบทิ้ง ในขณะที่ประเทศทางซีกโลกใต้ก็กำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
  4. Winter Solstice หรือวันเหมายัน ( ตำแหน่งที่ 4 )  ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคมโดยประมาณ โลกหันซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์  ทิศทางดวงอาทิตย์ขึ้นจะเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ทำให้ประเทศทางซีกโลกใต้มีกลางวันยาวกว่ากลางคืน ซีกโลกใต้จะย่างเข้าสู่ฤดูร้อน โดยทางซีกโลกเหนือจะย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประเทศทางซีกโลกเหนือมีกลางวันสั้นกว่ากลางคืน

เมื่อแบ่งพื้นที่โลกของเราตามสภาพภูมิอากาศ สามารถแบ่งเขตภูมิอากาศในแต่ละซีกโลกออกเป็น  3  เขต ดังนี้

  1. เขตอากาศหนาว ( Frigid zone ) อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล ซึ่งตั้งอยู่ที่ละติจูด 5° เหนือ ขึ้นไป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, รัสเซีย, ไอซ์แลนด์, สวีเดน, ฟินแลนด์, นอร์เวย์และกรีนแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก และฝั่งซีกโลกใต้อยู่ที่ใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล ( ละติจูด 66.5° ใต้ ) ลงมา แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมลาด จนในฤดูหนาวบางวันไม่มีดวงอาทิตย์ขึ้นเลย
  2. เขตอากาศอบอุ่น ( Temperate zone ) อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ (ละติจูด 5° เหนือ) กับเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล ( ละติจูด 66.5° เหนือ ) และพื้นที่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน  ( ละติจูด 23.5° ใต้ ) กับเส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล ( ละติจูด 66.5° ใต้ ) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมเฉียง แม้ว่าไม่มีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะ แต่ก็ยังได้รับแสงอาทิตย์ตลอดปี ตัวอย่างของประเทศในเขตอากาศอบอุ่นได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมันนี สเปน ออสเตรีย กรีก แม็กซิโก ญี่ปุ่น ตุรกี จีน อียิปต์ ฝรั่งเศส เกาหลี เป็นต้น
  3. เขตอากาศร้อน ( Tropical zone )​ อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ซึ่งตั้งอยู่ที่ละติจูด 5° เหนือ กับเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน ( ละติจูด 23.5° ใต้ ) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมชัน และมีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะได้ พื้นที่เขตนี้จึงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก ตัวอย่างของประเทศที่อยู่ในเขตอากาศร้อนได้แก่ ฟิจิ มาเลเซีย ซูดาน บังกลาเทศ กานา มาลี บราซิล ฮ่องกง ไทย กัมพูชา อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย คิวบา เคนยา สิงคโปร์ ลาว ศรีลังกา เป็นต้น

ฤดูกาลในโลกแบ่งตามโซนเขตอากาศ ได้  2  แบบ ได้แก่

ประเทศในโซนเขตอากาศหนาวกับเขตอากาศอบอุ่นและแถบขั้วโลก มี 4 ฤดูกาล ได้แก่

  1. ฤดูใบ้ไม้ผลิ ( Spring ) หรือวสันตฤดู เริ่มต้น 21 มีนาคม และสิ้นสุด 20 มิถุนายนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้น 23 กันยายน สิ้นสุด 20 ธันวาคมในซีกโลกใต้ ธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิจะเต็มไปด้วยต้นไม้

นานาพันธุ์ ผลิดอก ออกใบงดงาม เป็นช่วงเวลาแห่งความสดชื่นเบิกบานเป็นฤดูที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา

11001 3

ภาพที่ 3 บรรยากาศในฤดูใบไม้ผลิ
ที่มา: https://pixabay.com, Larisa-K

  1. ฤดูร้อน ( Summer ) หรือ คิมหันตฤดู ในซีกโลกเหนือจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 21 มิถุนายน ถึง 21 กันยายน และในซีกโลกใต้เริ่มต้น 21 ธันวาคม สิ้นสุด 20 มีนาคม เป็นฤดูที่มีอากาศร้อนที่สุดในปี โดยทั่วไปในตอนกลางวันจะมีความร้อน และชื้นเป็นอย่างมาก เวลาตอนกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน    ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลายอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ผู้คนหลีกหนีจากอากาศของฤดูร้อน ไปเที่ยวตามแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ ได้แก่ แม่น้ำ ทะเลสาบ เขื่อน ทะเล
  1. ฤดูใบไม้ร่วง ( Fall ) หรือสารทฤดู อยู่ระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว ในซีกโลกเหนือจะเริ่มต้นวันที่ 22 กันยายน สิ้นสุดวันที่ 20 ธันวาคม และในซีกโลกใต้ เริ่มต้นวันที่ 21 มีนาคม และสิ้นสุดลงวันที่ 20 มิถุนายน ใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วงจะเปลี่ยนสี เนื่องมาจากในฤดูร้อนที่มีกลางวันยาวนานแต่กลางคืนนั้นสั้น  มีแสงแดดและดินที่อุดมด้วยน้ำเพียงพอสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงย่างเข้ามา อากาศจะเริ่มเย็นลง กลางวันจะสั้นลงและกลางคืนจะยาวขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พืชทราบว่าฤดูกาลกำลังจะเปลี่ยน และเป็นสัญญาณเตือนให้พืชเตรียมตัวสำหรับสภาพอากาศอันเลวร้ายและหนาวจัดของฤดูหนาวที่พืชไม่มีน้ำและแสงเพียงพอสำหรับการสร้างอาหารอีกต่อไป เพื่อความอยู่รอดพืชจึงต้องสลัดใบของมันทิ้งไปเพื่อลดการใช้พลังงาน

11001 4

ภาพที่ 4 บรรยากาศในฤดูใบไม้ร่วง
ที่มา: https://pixabay.com, Kareni

  1. ฤดูหนาว ( Winter ) หรือเหมันตฤดู เป็นฤดูกาลที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดในรอบปี ในซีกโลกเหนือ ระยะเวลาเริ่มต้น 21 ธันวาคม ถึง 20 มีนาคม และในซีกโลกใต้เริ่มต้น 21 มิถุนายน สิ้นสุด 20 กันยายน ในประเทศเขตอบอุ่นสภาพภูมิอากาศในฤดูหนาวจะแห้ง และท้องฟ้าโดยทั่วไปมักจะเป็นสีฟ้า สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเต็มไปด้วยสีขาวโพลนของหิมะ ในแถบประเทศที่มีภูเขาสูงจะมีหิมะปกคลุมภูเขาอยู่ขาวนวล แม่น้ำลำคลอง และทะเลสาบ บางแห่งจะกลายเป็นน้ำแข็ง กิจกรรมที่นิยมในฤดูนี้ ได้แก่ เล่นสกี ถไลสโนว์บอร์ดลงไปตามเนินหิมะ และเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของผู้คนทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่    ที่เต็มไปด้วยการประดับประดาไฟ ต้นคริสต์มาส การแต่งกาย

11001 5

ภาพที่ 5 บรรยากาศในช่วงฤดูหนาว
ที่มา : https://www.pexels.com, Simon Materzinger

ประเทศที่ตั้งอยู่ในโซนเขตอากาศร้อน จะมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งผู้เขียนจะให้รายละเอียดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลประเทศไทย ดังนี้

  1. ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีท้องฟ้าแจ่มใสที่สุดแต่มีอุณหภูมิสูงที่สุด น้ำในแม่น้ำบางแห่งลดลงและแห้งขอดและมีอากาศร้อนจัดโดยทั่วไป และจะร้อนมากที่สุดในเดือนเมษายน แม้ว่าโดยทั่วไปอากาศจะร้อนและแห้งแล้ง แต่ในบางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมากับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้เรียกว่า “พายุฤดูร้อน” เทศกาลในฤดูร้อนที่ช่วยผ่อนคลายความร้อนของคนไทย ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์

11001 6

ภาพที่ 6 บรรยากาศการเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์
ที่มา: https://pixabay.com, laydown

  1. ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ฤดูนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และ มรสุมตะวันออกฉียงเหนือ โดยจะเริ่มต้นเมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกโดยทั่วไป แบ่งออกเป็นช่วงเวลา ดังนี้
  • ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับ จนถึงปลายเดือนมิถุนายนจะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง เรียกว่า “ฝนทิ้งช่วง” ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจนานนับเดือน
  • ในเดือนกรกฎาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
  • ช่วงเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย แทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในเขตภูมิภาคตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีอากาศเย็นและฝนลดลง ส่วนในภาคใต้จะมีฝนตกชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม และอาจตกหนักมากจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย
  • ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว มีอากาศแปรปรวนไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็น หรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง เรียกว่า “ระยะเปลี่ยนจากฤดูฝนไปฤดูหนาว”

          ในฤดูนี้ประเทศไทยเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย เพราะมีน้ำ จากฝนที่ตกลงมา แต่ในบางปีเกิดฝนทิ้งช่วงนานกว่าปกติ ในพื้นที่ที่มีแหล่งชลประทานไม่เพียงพอ ทำให้พืชไม่เจริญเติบโตเต็มที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่ตกต่ำได้

11001 7

ภาพที่ 7 ภาพการเริ่มต้นเพาะปลูกในฤดูฝน
ที่มา: https://pixabay.com, nandhukumar

  1. ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะที่ขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ตำแหน่งลำแสงของดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับผิวพื้นโลก ขณะเที่ยงวันจะอยู่ทางซีกโลกใต้ ทำให้ลำแสงที่ตกกระทบกับพื้นที่ในประเทศไทยเป็นลำแสงเฉียงตลอดเวลา ทำให้อากาศในประเทศไทยหนาวเย็นโดยทั่วไป เว้นแต่ในภาคใต้จะไม่ค่อยหนาวนัก และบริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้จะมีฝนตกชุกในช่วงนี้ ในฤดูนี้ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวตามแหล่งภูเขา เพื่อสัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอก และชมไม้เมืองหนาวที่ผลิดอก ในช่วงฤดูนี้

11001 8

ภาพที่ 8 บรรยากาศการท่องเที่ยวในฤดูหนาว
ที่มา: https://www.maxpixel.net/Travel-Girl-Sky-Outdoors-Nature-3256059

แหล่งที่มา

กระทรวงศึกษาธิการ.  การเกิดฤดูกาล.   สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=2pcxAU70AvE

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลกและดาราศาสตร์. เขตภูมิอากาศโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 จาก https://sites.google.com/a/lesa.biz/www/earth/atmosphere/earthzones

www.reference.com.  Which Countries Lie in the Frigid Zones?.  Retrieved October 17, 2019 from https://www.reference.com/geography/countries-lie-frigid-zones-
45ca27d08fb9fe5f


Return to contents

ปรากฏการณ์จันทรุปราคา

 

 

          ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นนอกโลกที่ผู้สังเกตสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน อันเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ สามารถเรียกว่าอุปราคาของดวงจันทร์ก็ได้ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวง หรือวันเพ็ญ ซึ่งเกิดจากการโคจรของโลกรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ และ การโคจรของดวงจันทร์รอบโลก เมื่อโลกโคจรมาอยู่ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงาของโลก ซึ่งเราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงในตัวเอง แสงที่เรามองเห็นจากดวงจันทร์นั้นเกิดจากแสงเกิดการสะท้อนมาจากดวงอาทิตย์ตกกระทบไปยังพื้นผิวของดวงจันทร์ ทำให้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีแสงสว่าง และมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ในระหว่างที่เกิดจันทรุปราคาแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ถูกปิดบังโดยโลก  ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับพื้นผิวของดวงจันทร์ ดังนั้น ความสว่างของดวงจันทร์จึงลงลดอย่างรวดเร็ว ซึ่งดวงจันทร์ไม่ได้ถูกบดบังจนมองไม่เห็นทีเดียว แต่ยังมีแสงจากชั้นบรรยากาศของโลกสะท้อนมาถึงพื้นผิวของดวงจันทร์เล็กน้อย ทำให้เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้นอยู่บ้าง  ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ดวงจันทร์จะมืด หรือจางลงเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปรากฏการณ์จันทรุปราคามีความเกี่ยวพันกับความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของผู้คนในประเทศต่าง ๆ รวมถึงผู้คนในประเทศไทยที่มีความเชื่อต่อปรากฏการณ์จันทรุปราคาว่าเกิดจากพระราหูกำลังกลืนกินดวงจันทร์เข้าไป สร้างความกลัว ความตื่นตระหนกให้ผู้คนเป็นอย่างมาก ต่างก็เอาฆ้อง โหม่ง เกราะออกมาเคาะ ตีกันให้เสียงดังระงมไปหมด บ้างก็เอาปืนผา หน้าไม้ออกมายิง หาข้าวของออกขว้างปา ส่งเสียงตะโกนไล่พระราหูกัน เพราะต้องการให้พระราหูตกใจและคายดวงจันทร์ออกมา เมื่อผู้คนทำเช่นนั้นได้ครู่หนึ่ง พระจันทร์ก็กลับมาสว่างเหมือนเดิม กลายเป็นความเชื่อของคนโบราณเช่นนั้นสืบต่อมา จนกระทั่งถึงยุคที่วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ และการศึกษาวิทยาศาสตร์เข้าถึงผู้คนมากยิ่งขึ้น จึงมีความเข้าใจว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่ใช่เหตุการณ์ราหูอมจันทร์อย่างที่ทุกคนเคยเชื่อ จึงยกเลิกการตีเคาะฆ้องโหม่งกันตั้งแต่นั้นมา

11001 9 1

ภาพที่ 1 ปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ที่มา: https://www.pexels.com/th-th/photo/2673802/, Sylvia Nenntwich

11001 9

ภาพที่ 2 ปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org

บริเวณของเงา

เงาที่เกิดจากโลกเคลื่อนที่เข้ามาบดบังทางเดินของแสงจากดวงอาทิตย์ มี 2 ส่วนด้วยกันได้แก่

  1. เงามืด ( Umbra Shadow )

แสงจากดวงอาทิตย์ที่ถูกโลกบังไว้ทั้งหมด เราจึงเห็นมองเห็นดวงจันทร์มืดสนิท หากอยู่ในบริเวณที่ถูกบดบังในบริเวณเงามืดนี้ เราอาจจะมองเห็นแสงสีแดงเรือง ๆ โดยรอบดวงจันทร์ อันเกิดจากการกระเจิงของแสงที่ชั้นบรรยากาศของโลก

  1. เงามัว ( Penumbra Shadow )

แสงจากดวงอาทิตย์ถูกโลกบังไว้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด เมื่อดวงจันทร์ผ่านเข้ามาในบริเวณเงามัวเราจะเห็นว่าดวงจันทร์มืดลง เนื่องจากปริมาณแสงสะท้อนที่ตกกระทบพื้นผิวดวงจันทร์ลดลง จนบางครั้งทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่าได้ยาก  

เราสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาจากโลกได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาจจะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาในเงามืดและเงามัว ซึ่งปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับระยะห่างของดวงจันทร์และจุดศูนย์กลางของเงา ดังแสดงให้เห็นในภาพด้านล่างนี้ แสดงให้เห็นโอกาสในการเกิดจันทรุปราคาแบบเต็มดวง ( Total Eclipse )  จันทรุปราคาบางส่วน ( Partial Eclipse ) และจันทรุปราคาแบบเงามัว ( Penumbra Eclipse )

11001 10

ภาพที่ 3 ปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org

ดังนั้น เราสามารถแบ่งลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ 3 ลักษณะ ดังนี้ 

  1. ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ( Total Eclipse )
  2. ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ( Partial Eclipse )
  3. ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ( Penumbra Eclipse )
  1. ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ( Total Eclipse )  เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบดบังทั้งหมด เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งเงามืดของโลก และไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ส่องตรงมายังดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์มืดสนิท แต่ถึงอย่างไรก็ตามการหักเห หรือการเลี้ยวเบนของแสงที่เกิดขึ้นขณะที่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคา ทำให้มองเห็นดวงจันทร์มืดที่มีสีแดง ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นสีของดวงจันทร์อีก เช่น เมฆที่ปกคลุม ฝุ่นที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ และยังขึ้นอยู่กับสีของดวงจันทร์ที่จะทำให้สีที่มองเห็น ใกล้เคียงสีดำ ไปจนถึงสีสนิม สีแดงอิฐ สีทองแดงสว่าง หรือสีส้ม

11001 11

ภาพที่ 4 การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org

  1. ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ( Partial Eclipse ) ส่วนหนึ่งของดวงจันทร์อยู่ในบริเวณที่เป็นเงามืดของโลก หากสังเกตจากโลก เราจะเห็นดวงจันทร์มีเงาบางส่วน ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เกือบจะไม่เต็มดวง

11001 12

ภาพที่ 5 ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วน
ที่มา: https://pxhere.com/th/photo/1199243

  1. ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ( Penumbra Eclipse ) เกิดจากดวงจันทร์เต็มดวงเข้าสู่พื้นที่เงามัวของโลก แสงจากโลกถูกบดบังบางส่วน และทำให้ดวงจันทร์มืดลง ซึ่งอาจจะเกิดจันทรุปราคาแบบเงามัวบางส่วน และเงามัวเต็มดวง ถึงอย่างไรก็ตามเราพบว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวส่วนใหญ่เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัวบางส่วน

11001 13

ภาพที่ 6 การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัว
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org

แหล่งที่มา

Pakistan Space & Upper Atmosphere Research Commission.  Lunar Eclipse.  Retrieved October 15, 2019, from http://www.suparco.gov.pk/downloadables/Lunar%20
Eclipse.pdf

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์.  จันทรุปราคา.  สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/lunar-eclipse

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน).  ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.narit.or.th/index.php/nso/1713-total-lunar-eclipse-2557


Return to contents

ปรากฏการณ์สุริยุปราคา

 

 

          ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เรียกอีกอย่างว่า สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โดยที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาอยู่บนเส้นแนวระหว่างดวงอาทิตย์และโลก ทำให้เงาของดวงจันทร์ที่ขวางทางเดินแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลกตกกระทบไปยังพื้นผิวบางส่วนของโลก และยังทำให้ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังอีกด้วย

          ซึ่งหากเราสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เราจะพบว่าในทุก ๆ เดือน จะมีช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์    ดวงจันทร์ และโลก อยู่บนแนวระนาบเดียวกัน แต่ไม่ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาทุก ๆ เดือน นั่นเป็นเพราะว่าดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นมุมประมาณ 5 องศา ซึ่งสัมพันธ์กับระนาบของดวงอาทิตย์และโลก    ดวงจันทร์เคลื่อนที่ข้ามระนาบวงโคจรของโลกเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เราเรียกเวลานั้นว่า ฤดูอุปราคา    เพราะเป็นช่วงเวลานี้เท่านั้นที่สามารถเกิดอุปราคาได้ในแต่ละปี  โดยที่ดวงจันทร์จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมในช่วงฤดูอุปราคาด้วย จึงจะเกิดอุปราคาได้ สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ทำให้ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเกิดขึ้นได้ยากกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคา

          ปรากกฏการณ์สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เมื่อครั้งโบราณกาล มนุษย์มีความเชื่อในปรากฏสุริยุปราคาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือธรรมชาติ ต่างมองว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดและเป็นลางร้าย โดยเฉพาะปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงยิ่งทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องราวดาราศาสตร์เกิดความหวาดกลัวได้ เพราะในช่วงปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์จะมืดหายไปในช่วงกลางวัน ทำให้ท้องฟ้าพลางมืดดำไปด้วยชั่วขณะ

          ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเกิดขึ้นเฉพาะในวันแรม 15 ค่ำ แต่ไม่ได้เกิดในทุกเดือน จะเกิดเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่อยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ทำให้ขวางทางเดินแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะส่องมายังโลก ทำให้เงาของดวงจันทร์ตกทอดไปยังโลก และการมองเห็นของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก เงาของดวงจันทร์ที่ตกทอดไปยังผิวโลกส่วนที่มืดที่สุด เรียกว่า เงามืด ( Umbra ) เป็นเงาที่เกิดจากการกีดขวางทางเดินของแสงดวงอาทิตย์โดยตรง ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้บริเวณที่เงามืดตกทอดลงมา จะมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวง ส่วนบริเวณอื่น ๆ เป็นเงาที่มีความเข็มน้อยกว่าบริเวณเงามืด มีขนาดของเงาใหญ่กว่าเงามืด เรียกเงานี้ว่า    เงามัว ( Penumbra ) ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้เงามัวนี้จะมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วน เพราะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้บางส่วน

เราสามารถจำแนกลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ 4 ลักษณะ ได้แก่

  1. สุริยุปราคาแบบเต็มดวง ( Total Solar Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อเงามืดของดวงจันทร์บดบังแสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่กำลังส่งมายังโลกอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งดวง ในขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวงนี้ ผู้คนที่อยู่บนโลกสามารถสังเกตเห็นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นช่วงปกติที่ไม่เกิดปรากฏการณ์นี้เราจะมองเห็นดวงอาทิตย์สว่างจ้าไปทั้งหมดจนไม่สามารถแยกส่วนที่เป็นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ด้วยตาเปล่า

11001 15

ภาพที่ 1 ภาพสุริยุปราคาแบบเต็มดวง
ที่มา: www.publicdomainpictures.net/, Piotr Siedlecki

  1. สุริยุปราคาแบบวงแหวน (Annular Solar Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่บนระนาบเส้นตรงเดียวกันอย่างแท้จริง แต่ขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถบังแสงของดวงอาทิตย์ได้สนิท ทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นแสงของดวงอาทิตย์สว่างจ้าเป็นเส้นโดยรอบดวงจันทร์ซึ่งเรามองเห็นเป็นแผ่นกลม มองเห็นคล้ายวงแหวน จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า สุริยุปราคาแบบวงแหวน 

11001 16

ภาพที่ 2 ภาพสุริยุปราคาแบบวงแหวน
ที่มา: www.flickr.com/,  Takeshi Kuboki

  1. สุริยุปราคาแบบบางส่วน ( Partial Solar Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ไม่ได้อยู่บนระนาบเดียวกันทีเดียว ทำให้บางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่บดบังทางเดินแสงของดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นแผ่นกลมดวงจันทร์บังแสงบางส่วน

11001 17

ภาพที่ 3 ภาพสุริยุปราคาแบบบางส่วน
ที่มา: www. pixabay.com, skeeze

  1. สุริยุปราคาแบบผสม ( Hybrid Solar Eclipse ) เป็นปรากฏการณ์ที่มีความก้ำกึ่งอยู่ระหว่างสุริยุปราคาแบบเต็มดวง และแบบวงแหวน เราสามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคา ณ ตำแหน่งหนึ่งเป็นแบบเต็มดวง ในขณะเดียวกัน ณ ตำแหน่งอื่น ๆ เราจะมองเห็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน ซึ่งปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบผสมเป็นลักษณะของสุริยุปราคาที่สังเกตเปรียบเทียบกันยากมาก

ข้อควรระมัดระวังขณะดูปรากฏการณ์สุริยุปราคา

          ข้อควรระมัดระวังสำคัญคือห้ามมองสุริยุปราคาด้วยตาเปล่า หรือห้ามมองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาลักษณะใดก็ตาม ต้องมีอุปกรณ์ช่วยมอง เพราะแสงจ้าของดวงอาทิตย์สามารถทำลายสายตาของเรา รุนแรงที่สุดถึงขั้นตาบอดได้ ควรสวมใส่แว่นป้องกันตาพิเศษ

11001 18

ภาพที่ 4 แว่นป้องกันตา สำหรับมองปรากฏการณ์สุริยุปราคา
ที่มา: www. pixabay.com, Dave Davidson

ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลกที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4  ทรงพระปรีชาสามารถทางดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทรงคำนวณวัน เวลา การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวงได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี ทรงเชิญนานาประเทศมาชมปรากฏการณ์นี้พร้อมกัน อีกทั้งยังทรงระบุบริเวณที่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้นานาประเทศเห็นเป็นที่ประจักษ์เป็นที่ยอมรับ     ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ของไทย และวันที่ 18 สิงหาคม ของทุก ๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และยังได้รับการถวายพระราชสมัญญานามตามที่ได้บันทึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว      พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช  เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10

แหล่งที่มา

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2562, 18 ตุลาคม).   ในหลวง ถวายพระราชสมัญญา ร.4 “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช”. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 จาก https://www.prachachat.net/royal-house/news-382298

ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์.  สุริยุปราคา.  สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/solar-eclipse

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน).  เบื้องหลังของสุริยุปราคา. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/619-solar-eclipse

 


Return to contents
Previous Page 1 / 3 Next Page
หัวเรื่อง และคำสำคัญ
ฤดูกาล, ฤดูใบไม้ผลิ, ฤดูร้อน, ฤดูใบไม้ร่วง, ฤดูหนาว, ฤดูฝน เขตอากาศหนาว, เขตอากาศอบอุ่น, เขตอากาศร้อน,ปรากฏการณ์จันทรุปราคา,Lunar Eclipse,ปรากฏการณ์สุริยุปราคา,Solar Eclipse
ประเภท
Text
รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท.
สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
วันที่เสร็จ
วันอาทิตย์, 20 ตุลาคม 2562
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
นางสาวศุภาวิตา จรรยา
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
ระดับชั้น
ม.3
ช่วงชั้น
มัธยมศึกษาตอนต้น
กลุ่มเป้าหมาย
ครู
นักเรียน
บุคคลทั่วไป
  • 11001 ปฏิสัมพันธ์ในระบบสุริยะ /lesson-earthscience/item/11001-2019-10-28-07-12-15
    เพิ่มในรายการโปรด
  • ให้คะแนน
    Average rating
    • 1
    • 2
    • 3
    • 4
    • 5
    • Share
    • Tweet
    • Share

ค้นหาบทเรียน
กลุ่มเป้าหมาย
ระดับชั้น
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ
  • บทเรียนทั้งหมด
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์
  • เทคโนโลยี
  • โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สะเต็มศึกษา
  • อื่น ๆ
  • เกี่ยวกับ SciMath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
  • คำถามที่พบบ่อย
Scimath คลังความรู้

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.

Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved. 
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)