แร่รัตนชาติคืออะไร
รัตนชาติคือ แร่หรือหินหรืออินทรียวัตถุธรรมชาติที่นำมาใช้เป็นเครื่องประดับ
สมบัติที่สำคัญของรัตนชาติ คือ มีความสวยงาม ทนทาน มีความแข็งคงทนต่อการถูกขูดขีดและหาได้ยากหมายความว่า แร่รัตนชาติมิได้มีเหมือนกันทุกประเทศ บางประเทศมีเพชรมาก เช่น แอฟริกาใต้ ประเทศไทยและพม่า มีทับทิมที่มีคุณภาพดี สีสวย เป็นที่รู้จักดีทั่วโลก ประเทศออสเตรเลีย มีโอปอที่มีค่าสูง และสวยงาม ประเทศจีน มีหยก ประเทศญี่ปุ่น มีไข่มุก ฯลฯ
ความสวยงามของอัญมณีอยู่ที่สี ประกายแวววาว และความใสสะอาด ซึ่งเป็นผลจากการเจียระไนประกอบกัน ทำให้คุณสมบัติดังกล่าวเด่นชัดขึ้น คุณสมบัตินี้เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเพชรพลอยแต่ละชนิด มีมาตั้งแต่เกิดเองตามธรรมชาติ เพชรพลอยชนิดเดียวกัน หรือต่างชนิดก็ตาม อาจมีสีอ่อนแก่ มีความใสหรือขุ่นมัว หรือมีมลทิน
รัตนชาติที่ผ่านการเจียระไนแล้ว เรียกว่าอัญมณี
รัตนชาติแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. เพชร (Diamonds) ทั้งชนิดใสไม่มีสี และชนิดที่มีสีต่างๆ
2. พลอย (Colored stones) หมายถึง อัญมณี ต่างๆ เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต ควอตซ์ หยก ฯลฯ แต่ไม่รวมถึงเพชร นอกจากนี้ยังมีรัตนชาติบางชนิดที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น ไข่มุก ปะการัง และอำพัน
เพชรพลอยเป็นแร่รัตนชาติ การค้นหาจึงต้องมีการศึกษาถึงกำเนิดความเป็นมาของเพชรและพลอยแต่ละชนิดว่า เกิดกับหินชนิดหรือประเภทใด หรืออาจกล่าวว่า หินชนิดใด จะเป็นต้นกำเนิดเพชรหรือพลอยเหล่านั้น ในสมัยโบราณอาจเป็นการพบเพชรพลอยก่อนแล้ว มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยถึงแหล่งเพชร พลอยเหล่านั้น มีการบันทึกข้อมูลไว้ ซึ่งได้เป็นประโยชน์ในสมัยต่อมา โดยเป็นเครื่องชี้นำ หรือเป็นแนวทางในการสำรวจค้นหาแหล่งใหม่ต่อไป เพื่อให้ได้อัญมณีมาเสนอต่อผู้ใช้ ซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นโดยตลอด การศึกษาทางวิชาการอัญมณี ตลอดจนการสำรวจค้นคว้าวิจัย ทำให้ได้พบแร่รัตนชาติ ที่มีคุณสมบัติเป็นอัญมณีเพิ่มมากขึ้นอีกมากมายหลายชนิด รวมทั้งหินที่มีลักษณะแปลกเด่น เมื่อนำมาตกแต่งด้วยวิธีการ และเทคนิคต่างๆ ก็ใช้ทำเครื่องประดับได้ นอกจากนี้แร่รัตนชาติชนิดใหม่ๆ ที่พบเป็นอัญมณี ยังมีสีสันต่างๆ มีประกาย และความใสสะอาด คล้ายกับเพชร ทับทิม มรกต หรือบุษราคัม ที่เคยรู้จัก และใช้กันมาก่อนนั้นด้วย ในขณะที่เพชรพลอย พวกทับทิม มรกต ฯลฯ หาได้ยากขึ้น ผู้นิยมต้องการใช้มีมากขึ้น อัญมณีที่มีสีสันคล้ายคลึงกัน ก็ทดแทนได้ แต่คุณภาพ และคุณสมบัติของอัญมณีดังกล่าว ซึ่งไม่เหมือนกันอยู่แล้วนั้น อาจจะดีกว่า หรือด้อยกว่าก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของอัญมณีแต่ละชิ้น
ประวัติการค้นพบแร่รัตนชาติ / อัญมณี
ความสนใจในความสวยงามของอัญมณี และเครื่องประดับของคนเรานั้น มีมาตั้งแต่สมัยโบราณกาล อย่างน้อยประมาณ ๑๕๐,๐๐๐ ปี มาแล้ว จากหลักฐานประจักษ์พยานต่างๆ ทางโบราณคดี เช่น พบควอตซ์ในบริเวณเดียวกัน กับการขุดค้นพบโครงร่างบรรพบุรุษของมนุษย์ (มนุษย์ปักกิ่ง) สิ่งแกะสลักจากหิน กระดูก เขาสัตว์ ทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ที่พบตามถ้ำ หรือตามโบราณสถานในประเทศต่างๆ
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า มีการใช้อัญมณีอย่างแท้จริงในสมัยอียิปต์โบราณ จีน และอินเดีย หลายพันปีก่อนพุทธกาล ในอียิปต์ ซึ่งเป็นชาติที่มีอารยธรรมต่อเนื่องกันยาวนาน มีการใช้อัญมณีชนิดต่างๆ เช่น ลาพิส-ลาซูลี แอเมทิสต์ เทอร์คอยส์ คาร์นีเลียน ออบซิเดียน ไข่มุก มรกต เป็นต้น ในประเทศจีนซึ่งเป็นชาติที่มีอารยธรรมเก่าแก่เช่นกัน อัญมณีที่นิยมใช้คือ หยก สำหรับประเทศอินเดียนั้น ถือได้ว่า เป็น ประเทศที่มีอัญมณีที่มีค่า และมีความสำคัญหลายชนิด เช่น เพชร ทับทิม มรกต ไพลิน เป็นต้น
ความรู้ ความเชื่อถือ และการใช้อัญมณีของคนไทยในสมัยโบราณ เริ่มมีมาแต่สมัยใดยังไม่มีหลักฐานกำหนดแน่ชัด เราอาจทราบเรื่องอัญมณีของไทยในอดีต ได้จากวรรณคดีไทย บางเรื่อง บางตอน เริ่มตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา มาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยเริ่มรู้จัก และใช้อัญมณีไม่กี่ชนิด มีการจัดแบ่งอัญมณีออกเป็น 9 ชนิด เรียกว่า นพรัตน์ หรือนวรัตน์ หรือแก้วเก้าประการ เป็นต้น ในตำรานพ รัตน์ มีคำกลอนที่มีอิทธิพล ทำให้คนไทยไม่น้อยรู้จักสนใจและนิยมนับถืออัญมณีว่า เป็นสิริมงคล มีการจัดแบ่งเป็นลักษณะ สี ชนิด ลำดับชั้นคุณภาพแตกต่างกันไป คำกลอนนั้นคือ
*ในสมัยโบราณ คำว่า บุษราคัม จะหมายถึง โทแพซ แต่เมื่อเราพบว่า พลอยสีเหลืองของจันทบุรี ซึ่งเป็นแซปไฟร์สีเหลือง (Yellow Sapphire) มีคุณภาพเหนือกว่า เราจึงใช้ Yellow Sapphire แทน
อัญมณีทั้ง ๙ ชนิดนี้ ประเทศไทยมีเกือบครบ ยกเว้น มรกต และไพฑูรย์ ซึ่งยังไม่พบ ชนิดที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งในอดีตและปัจจุบันคือ ทับทิมสยาม รองลงมาคือ ไพลิน หรือนิลกาฬนั่นเอง เรื่องของอัญมณี โดยเฉพาะแก้วเก้าประการ คนไทยโดยทั่วไปนิยมเลื่อมใสนับถือว่า เป็นของมีค่าสูง และเป็นสิริมงคล นำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้าน ศาสนา และในสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น ทำเป็นพระพุทธรูปต่างๆ ตลอดจนใช้ประดับเครื่องทรง และที่ประทับ ใช้เป็นเครื่องประดับแสดงถึง ตำแหน่ง และเกียรติยศ เครื่องราชูปโภคในพระราชพิธีสำคัญ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตลอดจน สิ่งของเครื่องใช้ของที่เป็นบำเหน็จรางวัล เครื่องประดับต่างๆ ของพระราชวงศ์ ขุนนาง และข้าราชการชั้นสูง ประชาชนโดยทั่วไปทุกระดับชั้น ก็สามารถหามาได้ตามกำลังฐานะ นอกจาก เพื่อความสวยงาม และความเป็นสิริมงคลต่างๆ แล้ว ก็ยังใช้เป็นหลักทรัพย์ที่ถือเป็นมรดกสืบทอดแก่ทายาทในวงศ์ตระกูล เป็นของกำนัลตอบแทนผู้มีน้ำใจช่วยเหลือ ยามที่เคยตกทุกข์ได้ยาก เป็นของสำหรับหมั้นหมาย เป็นต้น
นอกจากนพรัตน์หรือแก้วเก้าประการแล้ว ยังมีอัญมณีอื่นๆ อีกหลายชนิด ที่คนไทยนำมาใช้ประโยชน์ ทางด้านเครื่องประดับ เป็นของสวยงาม และมีความหมายทางโหราศาสตร์เช่นเดียวกัน เช่น แก้วโป่งข่าม โมรา โมกุล ฯลฯ สำหรับแก้วโป่งข่ามเป็นแร่ควอตซ์ชนิดหนึ่ง หรือที่เรียกว่า หินเขี้ยวหนุมาน มีความโปร่งใสโปร่งตา และมักมีมลทินแร่บางชนิดอยู่ภายในเนื้อ ทำให้เกิดมีรูป ร่าง สีสัน ลวดลายแปลกประหลาดต่างๆ สวย งาม มีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ขนเหล็ก เข็มเหล็ก เข็มทอง ไหมทอง สายรุ้ง ฯลฯ แหล่งกำเนิดสำคัญอยู่ที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง และอำเภอสา จังหวัดน่าน เป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมเลื่อมใส รู้จักกันมากในหมู่คนไทยทั่วประเทศ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ มีเหตุการณ์ตื่นแก้วโป่งข่าม ซึ่งอาจถือได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการอัญมณีไทยเลยก็ว่าได้
แร่รัตนชาติไม่ว่าชนิดใดก็ตาม ที่เกิดในธรรมชาติในแหล่งต่างๆ ที่มีขนาดใหญ่หนักหลายสิบกะรัตนั้น หาได้ยากมาก โดยเฉพาะเพชรและทับทิม มีเพียงไม่กี่ชิ้นในโลก นอกนั้นส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กและปานกลาง และเนื่องจากแร่รัตนชาติมีคุณสมบัติในเรื่องความแข็งทนทาน เมื่อเกิดมากับหินต้นกำเนิดแล้ว ต่อมาหินผุพังไป แร่รัตนชาติก็จะหลุดออก และถูกน้ำพัดพาไปสะสมในที่ๆ เรียกว่า ลานแร่ (placer) การหาแร่รัตนชาติ โดยเฉพาะพวกเพชร พลอย ทับทิม และไพลิน จึงใช้วิธีขุดเป็นบ่อลงไป แล้วนำดินที่ขุดได้ ขึ้นมาร่อนหาเพชร พลอย เมื่อพบแล้ว ก็ยังถือว่า เป็นเพชรดิบ พลอยดิบ ต้องนำมาตกแต่งเจียระไนเป็นรูปแบบต่างๆ ตามลักษณะที่เหมาะสมของอัญมณีนั้น เช่น เพชรต้องเจียระไนหน้าเหลี่ยม ทับทิมเนื้อสะอาดใสสีสวย ก็นิยมเจียระไนหน้าเหลี่ยม แต่ถ้าเนื้อขุ่น ก็จะเจียระไนหน้าหลังเบี้ยมนกลม หรือหน้ารูปไข่ ดังนี้เป็นต้น จากนั้นจึงนำไปประกอบกับทองคำ หรือทองคำขาว ทำเป็นสร้อย เข็มกลัด แหวน หรือแม้แต่ประดับเสื้อผ้าหรูหรา การประดับอัญมณี นอกจากจะใช้ เพื่อความสวยงาม แสดงความมั่งคั่งมีฐานะของเจ้าของแล้ว ยังนิยมประดับ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ผู้สวมใส่ รวมทั้งยังอาจมีความเชื่อเกี่ยวกับโชคลาง และคุณสมบัติในการคุ้มกันอีกด้วย
ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงมานานมาก ในเรื่องของอัญมณี โดยเป็นแหล่งสำคัญแห่งหนึ่งของโลก ที่มีอัญมณีหลายชนิด เช่น ทับทิม ไพลิน บุษราคัม เขียวส่อง เพทาย โกเมน ไข่มุก เป็นต้น อุตสาหกรรม และการค้าอัญมณี และเครื่องประดับของไทย ได้รับการยกย่อง และยอมรับ ทั้งในด้านคุณภาพ และราคา จากนานาประเทศทั่วโลก สินค้าอัญมณี และเครื่องประดับ นับเป็นสินค้าส่งออกหมวดหนึ่งของไทย ที่ได้สั่งสมบทบาท ในการเป็นสินค้าที่สำคัญ ทำรายได้สูงให้แก่ประเทศโดยติดอันดับต้นๆ ๑ ใน ๕ ของสินค้าส่งออกประเภทต่างๆ ของประเทศ และยังคงมีแนวโน้ม ที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆ ปี นับเป็นสินค้าที่มีอนาคตที่สดใสมาก มีการผลิต และการทำเหมืองแร่อัญมณีในหลายจังหวัด เช่น กาญจนบุรี จันทบุรี ตราด ค่าแรงงานถูก ช่างฝีมือมีคุณภาพ มีทักษะ มีความรู้ความชำนาญในการเจียระไน การออกแบบ และประดิษฐ์งานประณีตศิลป์นานาชนิด ทั้งในกรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด อุตสาหกรรมการผลิต การค้า การส่งออกอัญมณี และเครื่องประดับ จึงขยายตัวอย่างรวดเร็วมากในระยะ ๑๐ ปีที่ผ่านมา ดังจะเห็นได้จากตัวเลขของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ ที่แสดงถึงสถิติของมูลค่ารวมของการส่งออกสินค้าประเภทนี้ ที่มีค่าเพิ่มมากขึ้นทุกปี ดังใน ปี ๒๕๒๖ มีมูลค่าการส่งออก ๗,๒๐๑.๑ ล้านบาท เพิ่มเป็น ๑๙,๘๒๗.๕ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๐ เป็น ๓๔,๘๙๑.๓ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๓ เป็น ๓๕,๙๖๒.๖ ล้านบาท ในปี ๒๕๓๔ และในปี ๒๕๓๖ ประมาณการไว้ที่ ๔๒,๕๐๐ ล้านบาท และยังมีเป้าหมายที่ ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ใน อีกไม่กี่ปีข้างหน้า
มูลค่าการส่งออกอัญมณี ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีนั้น เป็นมูลค่าจากอัญมณี ที่ผลิตได้ในประเทศส่วนหนึ่ง ซึ่งนับวัน ก็จะขาดแคลน และหมดไป ไม่เพียงพอ ต่อความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งเป็นอัญมณี ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งนับวัน ก็จะยิ่งมีมูลค่าการนำเข้า เพิ่มมากขึ้นทุกปีเช่นกัน อัญมณีในส่วนนี้ จะมีทั้งที่เป็นอัญมณีแท้ อัญมณีสังเคราะห์ เทียม เลียนแบบต่างๆ นำมาเจียระไน ตกแต่งเป็นเครื่องประดับ แล้วส่งออก จะเห็นได้ว่า อัญมณี และเครื่องประดับ มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก เป็นอุตสาหกรรมการผลิต และการค้า ที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายด้าน เช่น การทำเหมือง การผลิตเครื่องจักร เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิต การออกแบบ การเจียระไน และทำเครื่องประดับ การโฆษณา การบรรจุภัณฑ์ การขนส่ง ฯลฯ ล้วนแต่มีส่วนสำคัญ ที่ช่วยผลักดัน ส่งเสริมการพัฒนาประเทศ กล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีแนวโน้ม มีความพร้อมสูงมาก ที่จะเป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณี และเครื่องประดับของโลกอย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตามความนิยมของผู้ใช้ทั่วโลกยังคงต้องการใช้อัญมณี ที่เป็นแร่รัตนชาติดั้งเดิมคือ เพชร ทับทิม มรกต อยู่มาก แต่เมื่อปริมาณที่มีซื้อขายในตลาดอัญมณีมีน้อยลง ทำให้เกิดมีการค้นคว้าวิจัย ทำการสังเคราะห์อัญมณีขึ้นมา ให้เหมือนแร่รัตนชาตินั้น ๆ บ้าง ใช้วัตถุอื่นทำเทียมบ้าง มากมายหลายรูปแบบ การซื้อหาอัญมณี จึงเป็นสิ่งที่ต้องระวัง และทำความเข้าใจในธรรมชาติของอัญมณี และความก้าวหน้าในทางวิชาการอัญมณีในปัจจุบันว่า มีข้อเท็จจริงประการใด
นพรัตน์ : 1. เพชรนพรัตน์ : 2. ทับทิมนพรัตน์ : ๓. มรกต
นพรัตน์ : 4. บุษราคัม นพรัตน์ : 5. โกเมน นพรัตน์ : 6. ไพลิน
นพรัตน์ : 7. ไข่มุก นพรัตน์ : 8. เพทาย นพรัตน์ : 9. ไพฑูรย์
คุณสมบัติของแร่รัตนชาติ
คุณสมบัติของแร่ที่เป็นอัญมณี
อัญมณีส่วนใหญ่เป็นแร่ เราจึงสามารถศึกษาเรียนรู้ และเข้าใจถึงโครงสร้าง และคุณสมบัติในด้านต่างๆ ของอัญมณีได้อย่างค่อนข้าง สะดวก และรวดเร็ว แร่ทุกชนิดจะจัดแบ่งแยกจากกันได้ โดยลักษณะโครงสร้างทางผลึก และส่วนประกอบทางเคมี ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมาก เนื่องจากว่าจะไม่มีแร่หรืออัญมณี ๒ ชนิดใด ที่มีลักษณะโครงสร้างทางผลึก และองค์ประกอบทางเคมี ที่เหมือนกันทุกประการ คือ อาจมีความแตกต่าง ในคุณสมบัติทางกายภาพ ทางแสง และทางเคมี ดังนั้น จึงสามารถใช้ความแตกต่างในคุณสมบัติดังกล่าว มาช่วยในการตรวจจำแนกชนิดและคุณค่าราคาของอัญมณีต่างๆ ได้
คุณสมบัติทางเคมี (Chemical properties)
อัญมณีทุกชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีเฉพาะตัว สามารถแสดงโดยสูตรเคมี ซึ่งใช้เป็นหลักเกณฑ์อันดับแรก ที่ใช้ในการจัดแบ่งเป็นประเภท (specie) ของอัญมณีนั้นๆ สำหรับอัญมณีซึ่งเป็นแร่ประเภทหรือพวกเดียวกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของสี ความโปร่งใส หรือรูปร่างลักษณะภายนอกบางอย่างนั้น ก็จะใช้สี ความโปร่งใส และลักษณะภายนอกเหล่านั้น ในการจัดแบ่งเป็นชนิด (Variety) ของอัญมณี
กลุ่มแร่ที่มีการเกิดเหมือนกัน ในสภาพแวดล้อมเช่นเดียวกัน มีลักษณะโครงสร้างทางผลึก คุณสมบัติทางกายภาพ และทางแสงไม่ต่างกัน แต่มีองค์ประกอบทางเคมีแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย จะเรียกว่า กลุ่มแร่ หรือตระกูลแร่ (group) อัญมณีส่วนใหญ่จะประกอบขึ้น ด้วยธาตุตั้งแต่ ๒ ชนิด หรือมากกว่าขึ้นไป ยกเว้นเพชร ซึ่งประกอบขึ้นด้วยธาตุคาร์บอนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น องค์ประกอบทางเคมีของอัญมณีบางชนิด เช่น ไพลิน ทับทิม บุษราคัมมีสูตรเคมีคือ Al2O3(Al=อะลูมีเนียม, O=ออกซิเจน) หมายความว่า ไพลิน ทับทิม และบุษราคัม จัดเป็นแร่ชนิดเดียวกัน ประกอบด้วยธาตุอะลูมิเนียม และออกซิเจนเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันในเรื่องของสีคือ ไพลินมีสีน้ำเงิน ทับทิมมีสีแดง และบุษราคัมมีสีเหลือง ทำให้เรียกชื่อเป็นชนิดอัญมณีต่างชนิดกัน
คุณสมบัติทางกายภาพ (Physical properties)
รูปแบบที่อะตอมต่างๆ ของธาตุที่ประกอบเป็นอัญมณี จัดเรียงตัวเกาะกลุ่มในโครงสร้างของผลึกของอัญมณีนั้นๆ เป็นตัวกำหนดถึงคุณสมบัติทางกายภาพ ที่แตกต่างกันของอัญมณีนั้นกับอัญมณีชนิดอื่นๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการตรวจจำแนกชนิดของอัญมณีได้ โดยวิธีการที่ไม่ทำให้อัญมณีนั้นเสียหาย หรือถูกทำลายไป บางวิธีอาจจะใช้การคาดคะเน หรือโดยการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ หรือเครื่องมือธรรมดา โดยทั่วไปคุณสมบัติทางกายภาพต่างๆ ได้แก่
ความแข็ง (Hardness)
คือ ความสามารถของอัญมณี ในการต้านทานต่อการขูดขีด ขัดสี สึกกร่อนบนผิวหน้าเรียบ เป็นสิ่งที่พิจารณาได้ว่า อัญมณีชนิดใดมีความสามารถต่อการสวมใส่เพียงใด อัญมณีชนิดสามารถนำมาจัดเรียงลำดับความสามารถต้านทาน ต่อการขูดขีด จัดเป็นชุดลำดับของความแข็ง ที่มากกว่า หรือน้อยกว่า ในการวัดหาค่าความแข็งของอัญมณี ทำได้โดยการทดสอบการขูดขีดด้วยแร่ หรือด้วยปากกา วัดค่าความแข็ง ระดับค่าความแข็งที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในทุกวันนี้ เป็นค่าความแข็งสัมพัทธ์ของโมส์ (Mohs scale) ซึ่งจัดแบ่งเรียงลำดับความแข็งของแร่ที่เพิ่มขึ้นจาก ๑-๑๐ ดังนี้
๑. ทัลก์ | ความแข็ง | ๑-๒.๕ | สามารถขูดขีดได้โดยเล็บมือ |
๒. ยิบซัม | " | ๓-๔ | สามารถขูดขีดได้โดยเหรียญทองแดง |
๓. แคลไซต์ | " | ๕.๕ | สามารถขูดขีดได้โดยใบมีด หรือกระจกหน้าต่าง |
๔. ฟลูออไรต์ | |||
๕. อะพาไทต์ | |||
๖. ออร์โทเคลส เฟลด์สปาร์ | |||
๗. ควอตซ์ | |||
๘. โทแพซ | |||
๙. คอรันดัม | |||
๑๐. เพชร |
แร่แต่ละชนิดดังกล่าว จะสามารถขูดแร่พวกที่มีเลขต่ำกว่าได้ แต่จะไม่สามารถขูดขีดแร่พวกที่มีเลขสูงกว่าได้ ตัวอย่างเช่น เพชร แข็ง ๑๐ สามารถขูดขีดแร่ได้ทุกชนิด คอรันดัม แข็ง ๙ จะไม่สามารถขูดขีดเพชรให้เป็นรอยได้ แต่สามารถขูดขีด โทแพซ ควอตซ์ ออร์โทเคลส ที่มีความแข็งรองลงมาได้ ดังนี้ เป็นต้น อัญมณีที่มีค่าความแข็งเท่ากัน สามารถขูดขีดกันให้เป็นรอยได้ ความแข็งของอัญมณีชนิดเดียวกัน อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อยได้ตามส่วนประกอบ และลักษณะของการเกาะกลุ่มรวมกันของเนื้อแร่ หรือตามการผุเสื่อมสลายโดยธรรมชาติ ค่าความแข็งดังกล่าวนี้ เป็นค่าความแข็งที่เปรียบเทียบกันเท่านั้น มิใช่เป็นหน่วยวัดค่าความแข็ง ความแตกต่างของค่าความแข็งในแต่ละระดับ ก็ไม่เท่ากัน เช่น ความแตกต่างของความแข็งระหว่างเพชรกับคอรันดัม จะไม่เท่ากับความแตกต่างของความแข็งระหว่างคอรันดัมกับโทแพซ
โดยทั่วไปแล้วอัญมณีที่มีค่าความแข็งตั้งแต่ ๗ ขึ้นไป จะมีความคงทนเหมาะสมต่อการสวมใส่ในชีวิตประจำวัน ในการตรวจสอบชนิดของอัญมณีนั้น จะไม่นิยมใช้การทดสอบความแข็งกัน เนื่องจากจะทำให้อัญมณีที่ถูกทดสอบนั้นเสียหาย และอาจทำลายคุณค่าความสวยงามได้ แต่ในบางครั้งอาจจะใช้ได้ ในกรณีจำเป็นสำหรับอัญมณีที่ยังไม่ได้เจียระไน หรือแกะสลัก ซึ่งมีความโปร่งแสงถึงทึบแสง แต่ไม่ควรใช้ทดสอบอัญมณีที่โปร่งใสเจียระไนแล้วเป็นอันขาด
ความเหนียว (Toughness)
คือ ความสามารถของอัญมณีในการต้านทานต่อการแตกหัก แตกร้าว การเกาะเกี่ยว เกาะกลุ่มอยู่ติดกันแน่นมาก แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่าง ที่มีบทบาทในการลดค่าความเหนียวของอัญมณี เช่น การมีแนวแตกเรียบ (cleavage) เป็นการแตกอย่างมีทิศทาง แน่นอน ขึ้นกับลักษณะโครงสร้างของผลึกแร่ การแตกมีระนาบเรียบตามโครงสร้างอะตอมในผลึกแร่ อาจเป็นแนวเดียว หรือหลายแนวก็ได้ การแตกแบบขนาน (parting) เป็นการแตกที่เกิดขึ้นในแนวโครงสร้างของแร่ที่ไม่แข็งแรง มักเป็นรอยต่อของผลึกแฝด รอยแตกร้าว (fracture) เป็นการแตกที่เกิดขึ้น โดยไม่มีทิศทางที่แน่นอน มักมีลักษณะแตกต่างกันไป และเป็นลักษณะเฉพาะของแร่ เช่น แบบโค้งเว้าเหมือนก้นหอย หรือแบบเสี้ยนไม้ เป็นต้น
ความเหนียวไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับความแข็ง ตัวอย่างที่เห็นได้ง่าย และชัดเจน ได้แก่ เพชร ซึ่งเป็นวัตถุธรรมชาติที่มีความแข็งมากที่สุดในโลก สามารถขูดขีด ตัดสลักวัตถุ หรืออัญมณีใดๆ ได้ แต่ เพชร มีเนื้อแร่ที่ค่อนข้างเปราะ และอาจแตกหักกระจายได้โดยง่าย เมื่อได้รับแรงกระทบกระแทก ในทิศทางบางทิศทาง ดังนั้นในการตำหรือบดเพชรให้ละเอียด เพื่อนำเอาผงเพชรมาทำเป็นผงขัด หรือประลงในผิว ใบเลื่อยต่างๆจึงใช้เหล็ก ซึ่งมีความเหนียวมากกว่าเป็นตัวตำให้ละเอียดลงไป ในขณะที่หยกเจไดต์ หรือเนไฟรต์ ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีความเหนียวมากเป็นพิเศษ สามารถที่จะนำมาเจียระไนตัดเป็นแผ่นบาง หรือแกะสลักในรูปแบบที่ซับซ้อนได้ โดยไม่มีการแตกร้าว นำมาทำเครื่องประดับได้อย่างคงทนสวยงามดี
การจัดแบ่งระดับความเหนียวของอัญมณีโดยทั่วไป แบ่งได้ดังนี้ เหนียวมากเป็นพิเศษได้แก่ หยกเจไดต์ หรือเนไฟรต์ เหนียวมาก ได้แก่ คอรันดัน เหนียว ได้แก่ ควอตซ์เนื้อผลึก และสปิเนล เหนียวพอใช้ ได้แก่ ทัวร์มาลีน และเปราะ ได้แก่ เฟลด์สปาร์ และโทแพซ
ความถ่วงจำเพาะหรือความหนาแน่น สัมพัทธ์ (Specific gravity)
เป็นอัตราส่วนระหว่างน้ำหนักของวัตถุกับน้ำหนักของน้ำที่มีปริมาตรเท่ากัน (ในอุณหภูมิ ๔ °ซ) ตัวอย่างเช่น ทับทิมที่มีน้ำหนัก ๕ กะรัต และน้ำที่มีปริมาณเท่ากัน มีน้ำหนัก ๑.๒๕ กะรัต ค่าความถ่วงจำเพาะของทับทิมจะเท่ากับ ๔.๐๐ หรืออัญมณีใดๆ ที่มีค่าความถ่วงจำเพาะเท่ากับ ๓ อัญมณีนั้นๆ ก็จะมีน้ำหนักเป็น ๓ เท่าของน้ำหนักของน้ำ ที่มีปริมาตรเท่ากันนั่นเอง โดยทั่วไปแล้วค่าความถ่วงจำเพาะของอัญมณีแทบทุกชนิด จะมีค่าอยู่ในช่วงระหว่าง ๑-๗ อัญมณีที่มีค่าต่ำกว่า ๒ ถือว่า เป็นชนิดเบา เช่น อำพัน พวกที่มีค่าอยู่ระหว่าง ๒ และ ๔ เป็นชนิดปกติ เช่น ควอตซ์ พวกที่มีค่ามากกว่า ๔ เป็นชนิดหนัก เช่น มณีดีบุก สามารถนำค่าความถ่วงจำเพาะ มาใช้เป็นข้อมูลเสริม ช่วยในการตรวจจำแนก ชนิดของอัญมณีได้ โดยเฉพาะพวกที่ไม่ได้อยู่ ในตัวเรือน เพราะค่าความถ่วงจำเพาะของ อัญมณีแต่ละชนิดนั้นมักจะมีค่าที่ค่อนข้าง คงที่และสามารถตรวจสอบได้ง่ายโดยไม่ทำให้ อัญมณีเสียหายด้วย
วิธีการตรวจสอบค่าความถ่วง จำเพาะที่ได้ผลดี และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป มีอยู่ ๒ วิธีคือ วิธีการชั่งน้ำหนักอัญมณีแบบ แทนที่น้ำในเครื่องชั่ง (ใช้หลักการของอาร์คีเมเดส) และการใช้น้ำยาเคมีหนัก เช่น เมทิลีนไอโอไดด์ โบรโมฟอร์ม ฯลฯ เป็นหลักในการตรวจสอบ แต่ก็ยังมีปัญหาไม่ว่าในวิธีใดๆ นั่นคือ การมี มลทินตำหนิภายในเนื้ออัญมณี หรือรอยแตกร้าว ต่างๆ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะมีผลต่อการตรวจ สอบเพราะอาจทำให้ค่าที่ได้มีความผิดพลาดไป จากความเป็นจริง
ถึงแม้ว่าอัญมณีนั้นจะเป็นผลึก เดี่ยวก็ตาม จึงควรจะต้องพิจารณาดูอัญมณีให้ ละเอียดถึงลักษณะผิวเนื้อภายนอกและภายใน ทำความสะอาดอัญมณีให้หมดจด ระมัดระวังในการเตรียมตัวอย่าง และเครื่องมือ มีการควบคุมอุณหภูมิ ขณะทำการตรวจ ให้คงที่ มีความละเอียด และทำการตรวจหลายๆ ครั้ง เพื่อนำมาสรุปผลให้ได้ค่าที่ถูกต้องมากขึ้น ค่าความถ่วงจำเพาะ ยังช่วยในการคาดคะเนน้ำหนักและขนาดของ อัญมณีได้ด้วย เช่น เพชรที่มีน้ำหนัก ๑ กะรัต จะมีขนาดเล็กกว่าอะความารีนที่มีน้ำหนัก ๑ กะรัต และเจียระไนแบบเดียวกันที่เป็นเช่นนี้เนื่องจาก เพชรมีค่าความถ่วงจำเพาะหรือมีความหนาแน่น มากกว่าอะความารีน อัญมณีต่างชนิดกันแม้ว่ามี น้ำหนักเท่ากันแต่จะมีขนาดที่แตกต่างกันเสมอ และอีกประการหนึ่ง อัญมณีที่มีค่าความแข็งสูง ก็มักจะมีค่าความถ่วงจำเพาะสูงด้วย
รูปแบบของผลึก (Forms)
เป็นรูปร่างลักษณะผลึกภายนอกของแร่ที่เป็นอัญมณีชนิดต่างๆ ที่มองเห็น และพบได้โดยทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่มักจะเกิดเป็นผลึกเดี่ยว และมีการเติบโต ขยายออกเป็นรูปร่างเห็นเด่นชัดเฉพาะตัว เช่น โกเมน มักจะพบในลักษณะรูปร่างแบบกลม คล้ายลูกตะกร้อ เพชร และสปิเนล มักจะพบในรูปร่างลักษณะแบบ แปดหน้ารูปพีระมิดประกบฐานเดียวกัน รูปแบบของผลึกยังอาจหมายถึง ชนิดของลักษณะผลึก (habits) ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะแผ่นแบน รูปเข็มเล็กยาว แผ่นเรียวยาว แท่ง หกเหลี่ยม แผ่นหนาก้อน กลุ่ม คล้ายเข็ม คล้ายต้นไม้ คล้ายพวงองุ่น คล้ายไต เป็นต้น ในธรรมชาติจริงๆ แล้ว ผลึกอัญมณีที่เกิดขึ้นเป็นผลึกเดี่ยว และมีรูปร่างครบทุกหน้าผลึกที่ได้สัดส่วน หรือรูปร่างสมบูรณ์จะพบได้ยากมาก โดยมากจะพบเป็นผลึกขนาดเล็ก ละเอียด เกาะกลุ่มรวมกันเป็นผลึกแฝด หรือเป็นผลึกแฝดซ้ำซ้อน ควรจะระลึกไว้ในใจอยู่เสมอว่า ชนิดของอัญมณี ที่เป็นแร่ประเภทเดียวกันถ้าเกิดอยู่ในแหล่งหรือ บริเวณที่แตกต่างกัน ก็อาจจะมีรูปร่างลักษณะ ผลึกภายนอกที่ต่างกันได้ โดยสรุปแล้วความรู้ และความเข้าใจถึงความแตกต่างที่หลากหลาย ของรูปแบบของผลึก และรูปร่างลักษณะภายนอก ของอัญมณีอาจมีประโยชน์ช่วยในการตรวจ จำแนกชนิดอัญมณี ที่เป็นผลึกก้อนดิบได้อย่าง ง่ายๆ หรือบางครั้งอาจสามารถบอกแหล่งกำเนิด ได้ด้วย
คุณสมบัติทางแสง (Optical properties)
เมื่อแสงเดินทางผ่านเข้าสู่มัชฌิมที่แตกต่างกันสองชนิด เช่น อากาศ และอัญมณี จะเกิดปรากฏการณ์ขึ้น ๓ ลักษณะ ได้แก่ แสงบางส่วนจะสะท้อนกลับ หรือถูกส่งกลับจากผิวของอัญมณีนั้น ไปสู่อากาศ แสงบางส่วนผ่านเข้าไปในเนื้อของอัญมณี แล้วเกิดการหักเหของแสงขึ้น และอัญมณีนั้น จะดูดกลืนแสงบางส่วนไว้ ลักษณะปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นพร้อมๆกัน ทั้งสามลักษณะ อาจมีลักษณะหนึ่ง แสดงให้เห็นได้เด่นชัดมากกว่าลักษณะอื่นๆ ขึ้นอยู่กับลักษณะตามธรรมชาติ และชนิดของอัญมณีที่แสงมีปฏิกิริยาด้วยเช่น ในโลหะชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุทึบแสง ลักษณะที่เกิดขึ้นเด่นชัดกว่าลักษณะอื่นๆ คือ การดูดกลืนแสง ในขณะเดียวกันก็มีลักษณะของการสะท้อนแสงให้เห็นด้วย
ส่วนการหักเหของแสง โดยปกติแล้ว จะมองไม่เห็นเลย ในทางกลับกัน อัญมณีชนิดต่างๆ ที่เป็นวัตถุโปร่งใส หรือโปร่งแสง ลักษณะการหักเหของแสงจะแสดงให้เห็นได้เด่นชัดกว่าลักษณะอื่น โดยที่มีลักษณะการสะท้อนของแสง และการดูดกลืนของแสง อาจจะเปลี่ยนแปลงไป ตามลักษณะและชนิดของอัญมณี จากลักษณะ ปรากฏการณ์ทั้งสามที่กล่าวมา จะเป็นสิ่งที่ทำให้เกิด สี ความวาว การกระจายแสง การเรืองแสง การเล่นสีประกายแวว ประกายเหลือบรุ้ง และอื่นๆ อีกมากมาย คุณสมบัติทางแสงต่างๆ ได้แก่
สี (Color)
สีต่างๆ ของอัญมณีชนิดใดๆ เป็นผลเนื่องมาจากลักษณะธรรมชาติของแสงกับอัญมณีนั้นๆ โดยตรง คือ จะมองเห็นสีได้ ก็ต่อเมื่อมีแสง แสงที่มองเห็นได้ประกอบขึ้นด้วยแสงสีที่เด่น ๗ ส่วน ในแต่ละส่วนจะมีสีที่แตกต่างกัน (สีรุ้ง) ประกอบด้วยสี ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลืองแสด แดง การผสมผสาน คลื่นแสงที่มองเห็นได้นี้จะก่อให้เกิดเป็นแสงสีขาว คือ แสงอาทิตย์ เมื่อแสงที่มองเห็นได้นี้ส่องผ่าน เข้าไปในอัญมณี ก็จะทำให้อัญมณีนั้นมองดูมีสีขึ้น เนื่องจากอัญมณีนั้นได้ดูดกลืนคลื่นแสงบางส่วน เอาไว้และคลื่นแสงส่วนที่เหลืออยู่ ถูกส่งผ่าน ออกมาเข้าสู่ตาของเรา มองเห็นเป็นสีจากส่วน ของคลื่นแสงที่เหลือนั่นเอง จะมองไม่เห็นเป็นสีขาวอีก เช่น ทับทิมมีสีแดง เนื่องจากทับทิมได้ดูดกลืนคลื่นแสง ในช่วงสีน้ำเงิน เหลือง และ เขียว เอาไว้ คงเหลือแต่ส่วนที่มีสีแดงให้เรามองเห็น ในอัญมณีบางชนิดคลื่นแสงที่มองเห็นได้นี้ จะส่องผ่านทะลุออกไปหมด โดยไม่ได้ถูกกลืนคลื่นแสงช่วงใดๆ เอาไว้เลย อัญมณีนั้นก็จะดูไม่มีสี แต่ถ้าคลื่นแสงถูกดูดกลืนไว้ทั้งหมด อัญมณีนั้น ก็จะดูมีสีดำ หรือถ้าคลื่นแสงทั้งหมดถูกดูดกลืนเอาไว้ในสัดส่วนที่เท่าๆกัน อัญมณีก็จะดูมีสีเทาหรือขาวด้านๆ
สีต่างๆ ของอัญมณีนานาชนิดมีกระบวนการหลายอย่างที่ก่อให้เกิดสี สีบางสีอาจเกิดจากองค์ประกอบสำคัญทางเคมี และทางกายภาพของอัญมณีชนิดนั้นๆ สีบางสีอาจเกิดจากมลทินทางเคมีภายนอกอื่นๆ หรือจากการเปลี่ยนแปลง โครงสร้างภายในอัญมณี หรือตำหนิมลทินต่างๆ ภายในเนื้อ เป็นต้น ส่วนใหญ่แล้วสีของ อัญมณีมักจะเกิดจากมลทินทางเคมีภายนอกอื่นๆ ที่เข้าไปอยู่ภายในเนื้อของอัญมณี เช่น เบริลบริสุทธิ์ จะไม่มีสี แต่ถ้ามีมลทินของธาตุโครเมียม หรือวาเนเดียมเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เกิดเป็นสีเขียว เรียก มรกต (Emerald) หรือมีมลทินของธาตุเหล็ก ก็จะทำให้เกิดเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือน้ำเงิน อมเขียว เรียก อะความารีน (Aquamarine) คอรันดันบริสุทธิ์ก็จะไม่มีสีเช่นกัน แต่ถ้ามีสีแดง ก็เป็นทับทิม เนื่องจากมีมลทินธาตุโครเมียมเพียง เล็กน้อย หรือถ้ามีสีน้ำเงินก็เป็นไพลิน เนื่องจาก มีมลทินธาตุไทเทเนียมและธาตุเหล็ก ดังนั้นมลทิน ธาตุหลายๆ ชนิดจึงก่อให้เกิดสีต่างๆ ได้ใน อัญมณีชนิดต่างๆ
สำหรับการดูดกลืนแสงของอัญมณีชนิดต่างๆ นั้น อาจมีได้ไม่เท่ากัน และอาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะธรรมชาติ และความหนาของอัญมณีนั้นๆ อัญมณีชนิดหนึ่งๆ ถึงแม้จะมีการเจียระไนจนมีความบางมากแล้ว แต่ก็ยังคงดูดกลืนแสงไว้หมด โดยไม่ให้ส่องทะลุผ่านได้เลย จะเรียกว่า ทึบแสง ส่วนอัญมณีชนิดที่ยอมให้แสงส่องทะลุผ่านไปได้หมด แม้ว่าจะมีความหนามากจะเรียกว่า โปร่งใส ส่วนอัญมณีที่ดูดกลืน แสงในระหว่างลักษณะสองแบบที่กล่าวมาและ ยอมให้แสงส่องผ่านได้บ้างมากน้อยแตกต่างกัน ไปในอัญมณีแต่ละชนิด จะเรียกว่า โปร่งแสง ดังนั้น ช่างเจียระไนจึงอาจยึดหลักนี้ไว้เป็น ประโยชน์ในการพิจารณาตัดและเจียระไนอัญมณี ชนิดต่างๆ ด้วย อัญมณีที่มีสีอ่อนจึงมักจะตัด และเจียระไนให้มีความหนาหรือความลึกมาก หรือมักจะมีการจัดหน้าเหลี่ยมเจียระไนต่างๆ ที่ ทำให้แสงมีระยะถูกดูดกลืนมากขึ้น จะทำให้ดูมีสี เข้ามากขึ้นตามไปด้วย ในทางกลับกันอัญมณีที่ มีสีเข้มดำหรือมีสีค่อนข้างมืด มักจะตัดและ เจียระไนให้มีความบางหรือตื้นมาก เช่น โกเมน ชนิดแอลมันไดต์ ซึ่งมีสีแดงเข้มอมดำ มักจะตัด บางหรือคว้านให้เป็นโพรงอยู่ภายในเนื้อ ไพลิน จากบางแหล่งที่มีสีเข้มออกดำมักจะเจียระไนเป็น รูปแบบที่บางกว่าปกติ เป็นต้น
ส่วนใหญ่แล้ว ความเข้ม และความสดสวยของสี จะมีความสัมพันธ์โดยตรงควบคู่ไปกับคุณค่า และราคาที่สูง นอกจากนี้แสงที่ใช้ในการมองดูอัญมณี ก็มีความสำคัญ และมีผลต่อความสวยงามของสีเช่นกัน แสงอาทิตย์ในเงาร่ม หรือแสงแดดอ่อน มีความเหมาะสมมากในการมองดู สีของอัญมณีแสงจากแสงเทียนหรือแสงจาก หลอดมีไส้ จะมองดูสีน้ำเงินของไพลินได้ไม่ สดสวย แต่จะมองดูมรกตและทับทิมมีสีสวยสด ดังนั้น แสงที่ใช้ส่องมองดูอัญมณีที่ดีและเหมาะสม ควรจะมีส่วนผสมที่สมดุลกัน ระหว่างแสงจากหลอดมีไส้ และแสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนซ์ อัญมณีบางชนิดอาจจะแสดงการเปลี่ยนสีได้ เมื่อมองดูด้วยแสงต่างชนิดกัน หรือมีช่วงคลื่นของแสงที่ต่างกัน เช่น เจ้าสามสี จะมองดูมีสีเขียว หรือน้ำเงิน ในแสงแดด หรือแสงไฟฟลูออเรสเซนซ์ และมีสีแดงหรือม่วง ในแสงเทียน หรือแสงจากหลอดมีไส้ อัญมณีบางชนิดมีการแสดงลักษณะสี ที่แตกต่างกัน หรือสีที่มีความเข้ม-อ่อนต่างกัน เมื่อมองดูในทิศทางที่ต่างกัน
ทั้งนี้เนื่องจากความแตกต่างในลักษณะของการดูดกลืนแสง ในทิศทางต่างกันของอัญมณีนั้นๆ ลักษณะปรากฏนี้เรียกว่า สีแฝด ซึ่งอาจจะมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือมองเห็นได้ง่ายมากด้วย "ไดโครสโคป" อัญมณีหลายชนิดที่แสดงสีแฝดได้ ๒ สีต่างกันเรียกว่า มีสีแฝด ๒ สี (Dichroic) เช่น ทับทิม ไพลิน คอร์เดียไรนต์ ฯลฯ และอัญมณีที่แสดงสีแฝดได้ ๓ สีต่างกันเรียกว่า มีสีแฝด ๓ สี (Trichroic) เช่น แทนซาไนต์ แอนดาลูไซต์ ฯลฯ อัญมณีที่มีสีแฝด เมื่อเจียระไนแล้ว อาจจะแสดงเพียงสีเดียว หรือมากกว่า ๑ สีนั้น ขึ้นอยู่กับการจัดทิศทาง การวางตัวของเหลี่ยมหน้ากระดานของอัญมณี ที่จะแสดงให้เห็นสีนั้นๆ นอกจากนี้ ยังมีอัญมณีบางชนิดที่อาจมี สีหรือแสดงสีได้หลายสีแม้เป็นผลึกเดี่ยวและ มองดูในทิศทางเดียว เช่น โอปอ ทัวร์มาลีน ลักษณะเช่นนี้เป็นลักษณะตามธรรมชาติของรูปแบบ ของแร่หรือของผลึกชนิดนั้น ไม่ใช่สีแฝด
สีเป็นลักษณะที่มองเห็นได้ง่ายชัดเจน เป็นสิ่งสะดุดตา และดึงดูดสายตามากที่สุด ในเรื่องของอัญมณี และเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมาก ในการพิจารณาถึงคุณค่า และราคาของอัญมณี สี อาจทำให้เกิดความแตกต่างของราคาได้มาก จากตั้งแต่ ๒๕๐-๒๕๐,๐๐๐ บาทต่อกะรัต ในอัญมณีชนิดเดียวกันแต่มีสีสวยงามแตกต่างกันมาก โดยทั่วไปแล้ว สีจะไม่ถือว่าเป็นคุณสมบัติ ลักษณะสำคัญที่ช่วยในการตรวจจำแนกชนิด อัญมณี เพราะมีอัญมณีต่างชนิดกันแต่มีสี เหมือนกันได้และก็มีอัญมณีชนิดเดียวกันที่ สามารถเกิดขึ้นได้หลายสี นอกจากนี้ชื่อลักษณะ ของสีก็เป็นที่นิยมใช้กับอัญมณีบางชนิดมานานแล้ว เช่น สีเลือดนกพิราบใช้กับทับทิม สีแสดใช้กับ แพดพาแรดชา สีเหลืองนกขมิ้นและสีแชมเปญ ใช้กับเพชร เป็นต้น ชื่อลักษณะสีเหล่านี้ ใน บางครั้งจะกำกวมไม่ชัดเจน ให้ความหมายของสี ไม่ตรงกับความจริงหรือเป็นลักษณะสีที่ไม่มีความ แน่นอน แม้ว่าจะมีความบกพร่องดังกล่าว ชื่อสีเหล่านี้ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไปใน ตลาดอัญมณี อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้ได้มี การประดิษฐ์เครื่องมือที่สามารถวัดหาชนิดและ เรียกชื่อของสีของอัญมณีต่างๆ ได้อย่างเที่ยงตรง แม่นยำมากขึ้น เครื่องมือนี้มีขายทั่วไปในตลาด อัญมณี อาจเป็นวิวัฒนาการใหม่ในอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับของโลกก็ได้
ค่าดัชนีหักเหของแสง (Refractive index)
เมื่อมีแสงส่องผ่านเข้าไปในอัญมณีใดๆ แล้ว แสงส่วนหนึ่งจะมีความเร็วลดลง และอาจจะถูกบังคับให้เปลี่ยนทิศทาง หรือเกิดการหักเหแสงขึ้น ซึ่งแล้วแต่คุณสมบัติของผลึก ระดับความเร็วของแสงที่ลดลงในอัญมณีนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับความเร็วของแสงในอากาศจะเรียกว่าค่าดัชนีหักเหแสงของอัญมณีคือ เป็นอัตราส่วนระหว่างค่าความเร็วของแสงในอากาศกับค่าความเร็วของแสงในอัญมณี เช่น ค่าความเร็วของแสงใน อากาศเท่ากับ ๓๐๐,๐๐๐ กิโลเมตรต่อวินาที และค่าความเร็วของแสงในเพชรเท่ากับ ๑๒๕,๐๐๐ กิโลเมตรต่อวินาที ดังนั้นค่าดัชนีหักเหแสงของเพชรจะเท่ากับ ๒.๔ หรือหมายถึง ความเร็วของแสงในอากาศมีความเร็วเป็น ๒.๔ เท่าของ ความเร็วของแสงในเพชร อัญมณีที่มีค่าดัชนี หักเหสูงมากเท่าใด ความเร็วของแสงในอัญมณีนั้นๆ จะลดลงมากตามไปด้วย ค่าดัชนีหักเหของแสงของอัญมณีจะเป็นค่าที่คงที่ อัญมณีแต่ละชนิดจะมีค่าดัชนีหักเหที่แตกต่างกัน อาจมีเพียงค่าเดียว สองค่า หรือ สามค่า ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของผลึกและทิศทางที่แสงผ่านเข้าไป ส่วนใหญ่จะมีค่าอยู่ระหว่าง ๑.๒ และ ๒.๖
ดังนั้น จึงสามารถนำไปช่วยในการตรวจจำแนกชนิดของอัญมณีได้ เครื่องมือสำหรับใช้ในการวัดหาค่าดัชนีหักเหแสงของอัญมณีได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำเรียกว่า เครื่องรีแฟรกโตมิเตอร์ (Refractometer) แต่เครื่องมือนี้มีขีดจำกัดอยู่ที่ สามารถวัดหาค่าได้สูงสุดเพียง ๑.๘๖ เท่านั้น และจะต้องใช้กับอัญมณีที่เจียระไนแล้ว หรือพวก ที่มีผิวหน้าเรียบด้วย บางครั้งสามารถประมาณค่าได้ในอัญมณีที่เจียระไนแบบโค้งมนหลังเบี้ย หรือหลังเต่า และในบางครั้งค่าดัชนีหักเหแสงของอัญมณีที่เจียระไนแล้ว อาจประมาณได้จากประกายวาว หรือความสว่างสดใส หรือรูปแบบของการเจียระไน
การกระจายแสงสี (Dispersion or fire)
แสงสีขาวที่มองเห็นได้ในธรรมชาติ จะเป็นแสงที่เกิดจากการผสมผสานของคลื่นแสงต่างๆ ในแต่ละคลื่นแสงก็จะมีค่าดัชนีหักเหของแสงเฉพาะตัว เมื่อมีลำแสงสีขาวส่องผ่านเข้าไปในอัญมณี แสง นี้จะเกิดการหักเหเป็นมุมที่แตกต่างกัน และแยก ออกเป็นลำแสงหลากหลายสี แล้วสะท้อนออก ทำให้เห็นเป็นสีต่างๆ สีที่มองเห็นจะเป็นลำดับ ชุดของสีรุ้งเช่นเดียวกับลักษณะของการเกิดรุ้ง กินน้ำลักษณะปรากฏการณ์เช่นนี้ เรียกว่าการกระจายแสงสีหรือไฟซึ่งสามารถสังเกต เห็นได้ง่ายมากในอัญมณีที่มีค่าดัชนีหักเหของแสง สูง มีความโปร่งใสและไม่มีสี ระดับความ มากน้อยของการกระจายแสงสีจะแตกต่างกันไป ในแต่ละชนิดของอัญมณี เนื่องจากมีค่าดัชนี หักเหแสงที่แตกต่างกันนั่นเอง ดังนั้น การ กระจายแสงสีจึงเป็นคุณสมบัติที่สำคัญอีกประการ หนึ่ง ที่อาจช่วยในการตรวจจำแนกชนิดอัญมณีได้
นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อความสวยงามของอัญมณีหลายๆ ชนิด โดยเฉพาะในชนิดที่โปร่งใส แต่ไม่มีสีสวย ที่จะดึงดูดใจ เช่น การกระจายแสงสีของเพชร ซึ่งทำให้เพชรเหมือนมีสีสันหลากหลายสวยงาม กระจายทั่วไปในเนื้อ หรือ เรียกว่าประกายไฟในอัญมณีที่มีสี ก็สามารถมองเห็นการกระจายแสงสีได้เช่นกัน เช่น ในโกเมน สีเขียวชนิดดีมันทอยด์ (Demantoid) และสฟีน (Sphene) การกระจายแสงสีของอัญมณีชนิดหนึ่งๆ อาจสามารถทำให้มองเห็นสวยงามมากขึ้นได้ โดยการเจียระไนที่ได้สัดส่วน ถูกต้อง โดยพื้นฐานทั่วไปแล้ว ถ้าคลื่นแสงมีการแบ่งแยกออกได้ชัดเจนมากเท่าใด การกระจายแสงสี ก็จะมีมากเพิ่มขึ้นเท่านั้น พร้อมกับจะให้สี ที่มีความเข้มสวยมากเช่นกัน
อัญมณีประดิษฐ์
คือ อัญมณีที่ทำขึ้นโดยวิธีการใดๆ เพื่อใช้แทน หรือเลียนแบบ หรือเพิ่มคุณภาพอัญมณี ที่เกิดตามธรรมชาติ แบ่งออกเป็น ๕ ประเภทใหญ่ๆ ได้ดังนี้คือ
๑. อัญมณีสังเคราะห์ (Synthetic gemstone)
เป็นอัญมณีที่ทำขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีส่วนประกอบทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ ทางแสง เหมือนกับอัญมณีธรรมชาติ การตรวจแยกอัญมณีสังเคราะห์ออกจากอัญมณีธรรมชาติ ไม่สามารถทำได้ง่ายด้วยตาเปล่า หรือวิธีการธรรมดา ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย มนุษย์สามารถสังเคราะห์อัญมณีขึ้นให้เหมือนกับอัญมณีธรรมชาติ ที่มีราคาสูงได้เกือบทุกชนิด เช่น เพชรสังเคราะห์ ทับทิมสังเคราะห์ แซบไฟร์สังเคราะห์ มรกตสังเคราะห์ สปิเนลสังเคราะห์ เป็นต้น
๒. อัญมณีเทียม (Artificial gemstone)
เป็น อัญมณีที่ทำขึ้นด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ โดยมีส่วนประกอบทางเคมี คุณสมบัติทางกายภาพ ทางแสงเฉพาะตัว ไม่เหมือนอัญมณีใดๆ แต่มีสี และลักษณะต่างๆคล้ายเพชรหรือพลอยบางชนิด เช่น เพชรรัสเซีย (Cubic Zirconia) จีจีจี (GGG) แย็ก (YAG) สทรอนเชียมไททาเนต (Strontium titanate) แก้ว พลาสติก เป็นต้น อัญมณีเทียม ไม่พบว่าเกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยกเว้นแก้ว การตรวจแยกอัญมณีเทียมออกจากอัญมณีชนิดอื่นๆ สามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยากมากนัก เพราะอัญมณีเทียมชนิดต่างๆ มีคุณสมบัติเฉพาะตัวอยู่แล้ว แต่ก็ต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วยด้วย
๓. อัญมณีเลียนแบบ (Imitation or Simulant)
เป็นอัญมณีที่ทำขึ้น เพื่อการเลียนแบบ โดยมีลักษณะบางประการ หรือทั้งหมด คล้ายหรือเหมือนอัญมณีธรรมชาติมาก บางครั้งจะเหมือนมาก จนยากที่จะแยกได้ด้วยตาเปล่า อัญมณีธรรมชาติ อัญมณีสังเคราะห์ อัญมณีเทียม สามารถนำมาใช้ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบได้ทั้งหมด เช่น ใช้แร่เซอร์เพนทีน แร่คาลซิโดนี สีเขียว ซึ่งเป็นอัญมณีธรรมชาติ ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบหยก ใช้แซปไฟร์ไร้สีสังเคราะห์ ซึ่งเป็นอัญมณีสังเคราะห์ ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบเพชร ใช้คิวบิกเซอร์โคเนีย แย็ก จีจีจี ซึ่งเป็นอัญมณีเทียม ทำเป็นอัญมณีเลียนแบบเพชร ใช้แก้ว พลาสติก ซึ่งเป็นอัญมณีเทียม ทำเป็นอัญมณีเทียมเลียนแบบอัญมณีอื่นๆ แทบทุกชนิด การตรวจแยกอัญมณีเลียนแบบ ในบางครั้งสามารถทำได้ง่าย ด้วยตาเปล่า หรือวิธีการธรรมดา แต่บางครั้งก็อาจต้องใช้ความรู้ ประสบการณ์ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย
๔. อัญมณีประกบ (Assembled stone)
เป็น อัญมณีที่ทำขึ้นโดยใช้ชิ้นส่วนของอัญมณีธรรมชาติประกบ หรือปะเข้ากับอัญมณีสังเคราะห์ เช่น ใช้ไพลินจริงประกบกับไพลินสังเคราะห์ ทับทิมจริงประกบกับทับทิมสังเคราะห์ ฯลฯ (เพื่อหลอกลวง) ใช้ชิ้นส่วนของอัญมณีธรรมชาติประกบกับอัญมณีเลียนแบบ เช่น ใช้โกเมนประกบกับแก้ว มรกตประกบกับแก้ว ฯลฯ (เพื่อหลอกลวง) ใช้ชิ้นส่วนของอัญมณีธรรมชาติประกบกับอัญมณีธรรมชาติ เช่น ใช้หยกจริงประกบกับหยกจริง เบริลจริงประกับกับเบริลจริง ฯลฯ เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ขึ้น หรือเพื่อหลอกลวง ใช้โอปอประกบ ๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น เพื่อปรับปรุงสี ความเป็นประกาย และ/หรือปรากฏการณ์ และเพื่อความคงทนถาวรขึ้น การตรวจแยกอัญมณีประกบสามารถทำได้ง่ายด้วยตาเปล่า หรือวิธีการธรรมดา อัญมณีที่ไม่อยู่ในตัวเรือนแล้ว จะตรวจสอบได้ง่ายมากกว่าอัญมณีที่อยู่ในตัวเรือน
๕. อัญมณีเพิ่มคุณภาพ (Enhanced gemstone)
เป็นอัญมณีที่ผ่านการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก หรือภายใน โดยกรรมวิธีต่างๆ เพื่อทำให้ได้อัญมณีที่ดูสวยงามคงทนมากขึ้น เช่น อัญมณีเคลือบสี (Coated gemstone) อัญมณีเคลือบซึมสี (Color-diffused gemstone) อัญมณีอาบรังสี (Irradiated gemstone) อัญมณีย้อมสี (Dyed gemstone) อัญมณีอุด (Fracture filling gemstone) เป็นต้น สำหรับอัญมณีเผาหรือหุง (Heat- treated gemstone) บางชนิด เช่น คอรันดัม เป็นที่ยอมรับกันว่า เป็นอัญมณีแท้
แท่งอัญมณีสังเคราะห์
อัญมณีเลียนแบบบุษราคัม
วิธีเพิ่มคุณภาพของแร่รัตนชาติ
คุณภาพของอัญมณี
การพิจารณาคุณภาพของอัญมณี ก็เพื่อที่จะทราบถึงคุณสมบัติ คุณค่า และราคา ของอัญมณีนั้นๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความนิยมของคน คุณสมบัติตามธรรมชาติของอัญมณีแต่ละประเภท คุณสมบัติเฉพาะตัวของอัญมณีแต่ละชนิด นอกจากนี้คุณภาพของอัญมณีแต่ละประเภท แต่ละชนิด แต่ละเม็ด ก็จะไม่เหมือนกัน มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบ้างไม่มากก็น้อย โดยทั่วไปมีหลักเกณฑ์พื้นฐานในการพิจารณาคุณภาพของอัญมณี ดังนี้
สี (Color)
เป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรก ในการพิจารณาประเมินคุณภาพของพลอย ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาหลายประการ เช่น รสนิยมแต่ละบุคคล แต่ละยุคสมัย แต่ละชนชาติ ความสามารถส่วนบุคคลในการมองสีต่างๆ เป็นต้น สำหรับเพชรถือเอาความไม่มีสีเป็นสำคัญ ส่วนพลอยถือเอาสีของตัวพลอย ความมืด-สว่าง และความเข้มของสีพลอย เป็นสำคัญ
ความสดใสไร้มลทิน (Clarity)
เป็นองค์ประกอบสำคัญอันดับแรกในการพิจารณาประเมินคุณภาพของเพชร ซึ่งมีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณาหลายประการ เช่น ตำหนิภายนอก มลทินภายใน ซึ่งมลทินภายในนั้น จะต้องพิจารณาเป็นกรณีพิเศษเกี่ยวกับจำนวน ความมากน้อย ขนาด ที่ตั้ง และชนิดของมลทินเหล่านั้น เพชรและพลอยส่วนใหญ่ที่สะอาดสดใสไร้มลทิน หาได้ยากมาก
การเจียระไน (Cutting)
เป็นการพิจารณาถึง รูปร่าง แบบ สัดส่วน และฝีมือของการเจียระไน การเจียระไนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ คือ ช่วยเพิ่มความงามของสี ความใส ประกายของเพชรและพลอยให้มีมากขึ้น
น้ำหนัก (Carat weight)
น้ำหนักมาตรฐานในการซื้อขายอัญมณี มีหน่วยเป็น กะรัต (Carat) ๑ กะรัตมีน้ำหนักเท่ากับ ๐.๒๐๐ กรัม และใน ๑ กะรัต ยังถูกแบ่งย่อยออกได้เป็น ๑๐๐ จุด หรือสตางค์ ดังนั้น ๑ จุด หรือ ๑ สตางค์ จะมีน้ำหนักเท่ากับ ๐.๐๐๒ กรัม โดยทั่วไปอัญมณีที่มีขนาดใหญ่จะหายาก ทำให้ราคาต่อกะรัตสูงขึ้น
หลักเกณฑ์ทั้ง ๔ เรียกว่า ๔ C
แร่รัตนชาติเป็นแร่อุตสาหกรรมที่มีราคาค่อนข้างสูง ส่วนมากเกิดตามธรรมชาติ มีความแข็งแรงมากกว่า 6 มีรูปผลึก วาว สีสวย สีจะเข้มขึ้นตามอายุของแร่ จะมีสีและผลึกที่สวยงาม ราคาจะแพงตามความนิยม มักนิยมใช้เป็นเครื่องประดับ มีหลายชนิด เช่น เพชร โกเมน เพทาย ควอร์ตซ์ แร่รัตนชาติที่มีความแข็งมากที่สุด คือ เพชรมีความแข็งเท่ากับ 10
แร่รัตนชาติที่มีราคาแพงต้องมีความแข็งสูง มีความวาว เมื่อนำไปเจียระไนแล้วสามารถเกิดการหักเหของแสงที่ดี บางชนิดไม่บริสุทธิ์ อาจมีสิ่งสกปรกลงไปในเนื้อ เช่น พวกโป่งข่าม รัตนชาตินอกจากใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ยังใช้ในทางอุตสาหกรรม เช่น เพชร และทับทิม ใช้เป็นหัวขุดเจาะทำนาฬิกา และเป็นแหล่งกำเนิดแสงเลเซอร์
จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีการศึกษาค้นคว้าการทำเทียมเลียนแบบรัตนชาติที่เกิดจากธรรมชาติ ซึ่งจะมีลักษณะเหมือนกับของจากธรรมชาติมาก เช่น การผลิตเพชรเทียมหรือเพชรรัสเซีย โดยใช้ออกไซด์ของเซอร์โคเนียม (ZrO2) ซึ่งมีหลายสี และสามารถใช้ในการให้สีพวกเครื่องปั้นดินเผา โดยผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ จนทำให้สารประกอบเซอร์โคเนียมที่ผลิตได้มีโครงสร้างภายในเหมือนเพชร และสามารถทำให้โครงสร้างนั้นอยู่ตัวได้ โดยใช้สารประกอบพวกอลูมิเนียมออกไซด์ (ทับทิม) มีความแข็งประมาณ 7-9 ใกล้เคียงกับเพชรมาก มีราคาค่อนข้างถูกในไทยเนื่องจากค่าแรงในการเจียระไน มีราคาต่ำ จึงมีมากในประเทศทางภาคพื้นตะวันออก
เพชรแท้สามารถทำได้จากคาร์บอน แต่เนื่องจากราคาต้นทุนของการผลิตสูง ซึ่งไม่นิยมผลิตในทางการค้า
ส่วนเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิตพลอยจนได้พลอยเทียม หรือที่เรียกว่าพลอยอัดนั้น ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ส่วนการซ่านสีพลอยเพื่อเพิ่มคุณภาพของพลอยสีน้ำเงิน (อลูมิเนียมออกไซด์) ซึ่งปกติแล้วมีไทเทเนียมหรือเหล็กเป็นมลทินนั้น ทำได้โดยการคลุกพลอยนี้กับผงออกไซด์ของไทเทเนียมและเหล็ก แล้วนำไปเผาที่อุณหภูมิสูงประมาณ 1700oC นานกว่า 50 ชั่วโมง ทำให้มีความแข็งถึง 9และมีความสดใสยิ่งขึ้น
การเจียระไน
ถูกริเริ่มโดยชาวเยอรมัน ในปี ค.ศ.1375 ในแง่ของคำเจียระไนนี้ให้ความหมายได้สองแบบคือ ทางหนึ่งหมายถึงรูปร่างของอัญมณีที่ถูกเจียระไนขึ้น เช่น รูปทรงกลม รูปทรงไข่ เป็นต้น ส่วนอีกทางหนึ่งหมายถึงรูปร่างของการเจียระไนเหลี่ยมมุม ซึ่งราคาก็จะแปรตามคุณภาพของการเจียระไนนี้เอง ร้านเจียระไนเพชรเจ้าใหญ่เจ้าแรกตั้งขึ้นใน คริสต์ศตวรรษที่ 14 มีชื่อว่า Point Cut พวกเขานี่เองที่เป็นคนคิดค้นการเจียระไน ตามรูปผลึกของเพชร ซึ่งทำให้สูญเสียเนื้อเพชรน้อยที่สุด (เรียกว่าการเจียระไนแบบ บริเลี่ยน)
รูปแบบของการเจียระไนอัญมณี (Cut)
อัญมณีที่ได้รับการเจียระไนและขัดเงาให้มีผิวเรียบแล้ว เรียกว่า การแต่งเหลี่ยม (Facet) แบ่งออกเป็นลักษณะต่างๆดังนี้
การเผา
การปรับปรุงคุณภาพพลอยทับทิมสีคล้ำดำและแซปไฟร์ที่มีหม่าหินด้วย กรรมวิธีการใช้ความร้อนประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและ เครื่องประดับที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะทับทิมและแซปไฟร์จัดเป็นอัญมณีสำคัญที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ มากที่สุด
การเผา พลอยในเมืองไทยส่วนใหญ่ยังมิได้นำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาใช้ อย่างถึงที่สุดและมักจะอาศัยประสบการณ์เป็นหลักในการคัดเลือกวัตถุดิบและ กำหนดขั้นตอนกรรมวิธีในการเผา ซึ่งทุกฝ่ายต่างปกปิดเป็นความลับ โดยผู้ประกอบการจะคัดเลือกเฉพาะวัตถุดิบที่คาดว่านำมาเผาแล้วจะประสบความ สำเร็จ ซึ่งมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณวัตถุดิบทั้งหมด จึงเป็นการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดปี พ.ศ. 2551 กรมทรัพยากรธรณีได้ดำเนินการวิจัยการปรับปรุงคุณภาพพลอยทับทิมสีคล้ำดำและแซ ปไฟร์ที่มีหม่าหิน (พลอยคอรันดัมที่มีมลทินธาตุซึ่งเมื่อดำเนินการเผาแล้วจะจับตัวเป็นเส้นหรือ ก้อนขาวทึบในเนื้อพลอย ทำให้ลดคุณค่าของพลอยลงอย่างมาก)ด้วยกรรมวิธีการใช้ความร้อน โดยศึกษาวัตถุดิบพลอยจากแหล่งสาธารณรัฐมาดากัสการ์สรุปประเด็นสำคัญที่ ได้จากการทดลองเผาดังต่อไปนี้
1. การเผาพลอยทับทิมที่มีสีคล้ำดำซึ่งมีปริมาณธาตุมลทินของเหล็กสูง จะกำจัดหรือลดความคล้ำดำได้ยากกว่าพลอยทับทิม ที่มีมลทินของเหล็กต่ำกว่า 0.1 Wt% Fe
2. การจะกำจัดหรือลดความคล้ำดำ/แกมม่วงของพลอยทับทิมหรือแซปไฟร์สีชมพู-ม่วงที่ มีปริมาณธาตุมลทินของเหล็กสูง ต้องเผาด้วยเตาไฟฟ้าภายใต้บรรยากาศการเผาแบบออกซิไดซิงโดยเพิ่มแก๊สออกซิเจน เข้าไปในเบ้าเผาด้วยอัตรา 2 ลิตรต่อนาทีใช้อุณหภูมิสูงสุด 1,400 ํC โดยไม่ยืนอุณหภูมิ(เมื่อถึงอุณหภูมิ1,400 ํC แล้วยกเบ้าออกจากเตาทันที)
3. การปรับปรุงคุณภาพพลอยแซปไฟร์เพื่อให้ได้สีน้ำเงินเข้มขึ้น ต้องเผาด้วยภาวะบรรยากาศรีดิวซิง (มีมวลสารไฮโดรคาร์บอนในบรรยากาศการเผา) ซึ่งอุปกรณ์เตาเผาที่เหมาะสมในการควบคุมบรรยากาศรีดิวซิงได้คือ เตาเผาน้ำมันโซลา และเตาเผาแก๊สหุงต้ม ซึ่งอุปกรณ์เตาเผาทั้งสอง มีจุดเด่นและจุดด้อยต่างกันดังนี้
3.1 เตาเผาน้ำมันโซลา สามารถสร้างบรรยากาศรีดิวซิงได้ดีกว่าเตาเผาแก๊สหุงต้ม จึงสามารถเผาให้แซปไฟร์เกิดสีน้ำเงินได้มากกว่า และสามารถอบพลอยให้เย็นตัวลงอย่างช้าๆ ด้วยระยะเวลายาวนานได้ มีผลทำให้เกิดสีน้ำเงินได้มากขึ้น กรณีของพลอยแซปไฟร์ที่มีหม่าอ่อน (มีปริมาณธาตุมลทินของ Ti น้อย เมื่อเทียบสัดส่วนกับธาตุมลทินของ Fe) แต่มีข้อเสียคือ อัตราการเร่งของอุณหภูมิช้า จึงไม่เหมาะกับพลอยแซปไฟร์ที่มีศักยภาพของหม่าหิน (มีปริมาณธาตุมลทินของ Ti สูง เมื่อเทียบสัดส่วนกับธาตุมลทินของ Fe)
3.2 เตาเผาแก๊สหุงต้ม สามารถสร้างบรรยากาศรีดิวซิงได้น้อยกว่าเตาเผาน้ำมันโซลา จึงไม่เหมาะสมที่จะใช้เผาพลอยแซปไฟร์ที่มีหม่าอ่อน แต่จะเหมาะสำหรับพลอยแซปไฟร์ที่มีหม่าจัด และ/หรือพลอยแซปไฟร์ที่มีศักยภาพของหม่าหิน เนื่องจากเตาเผาแก๊ส หุงต้มสามารถเร่งอัตราการเพิ่มของอุณหภูมิได้เร็ว รวมทั้งสามารถยกเบ้าเผาที่อุณหภูมิสูงให้เย็นตัวอย่างรวดเร็วได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ ใช้ในการกำจัดหรือลดหม่าหินซึ่งอยู่ ในรูปของ TiO2 ได้
4. พลอยแซปไฟร์ที่มีหม่าอ่อนต้องเผาด้วยเตาน้ำมันโซลาที่อุณหภูมิสูงไม่ต่ำกว่า 1,600 ํC แล้วอบให้พลอยเย็นตัวอย่างช้าๆประมาณ 2.3 วัน การเผายืน ณ อุณหภูมิสูงสุดที่นาน 8 ชั่วโมง ทำให้ได้สีน้ำเงินเข้มกว่าการยืน 4 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม วัตถุดิบพลอยต้องมีปริมาณธาตุมลทินของ Ti ที่เพียงพอเมื่อเทียบสัดส่วนกับปริมาณธาตุมลทินของ Fe ด้วย หากมีปริมาณ Ti น้อยเกินไปก็ไม่สามารถทำให้เกิดสีน้ำเงินได้แม้จะเผายืนอุณหภูมิสูงสุดยาวนานสักเพียงไรก็ตาม
5. พลอยแซปไฟร์ที่มีหม่าจัด และพลอยแซปไฟร์ที่มีศักยภาพของหม่าหิน (พลอยแซปไฟร์ที่ปะปนด้วยสีน้ำตาล หรือพลอยแซปไฟร์ที่มีเชื้อหิน) ต้องนำมาเผาไล่อุณหภูมิด้วยเตาเผาแก๊สหุงต้ม โดยเริ่มอุณหภูมิแรกที่ 1,400 ํC แล้วค่อยๆ เพิ่มอุณหภูมิประมาณ 50 ํC - 100 ํCไปเรื่อยๆ จนถึงอุณหภูมิ1,600 ํC - 1,700 ํC โดยต้องเร่งอุณหภูมิของเตาตั้งแต่เริ่มติดเตา จนถึงอุณหภูมิสูงสุดที่กำหนดภายในระยะ
เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วยกเบ้าเผาที่ ใส่พลอยออกทันทีเพื่อกำจัดหรือลดมิให้หม่าหินเกิดขึ้นในเนื้อพลอย โดยอุณหภูมิที่จะมีผลเริ่ม เปลี่ยนแปลงเป็นสีน้ำเงินคือ อุณหภูมิ1,400 ํC การเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า 1,400 ํC (1,500 ํC, 1,600 ํC, 1700 ํC และ 1,800 ํC) มีโอกาส ที่จะทำให้สีน้ำเงินเข้มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็มีโอกาสเกิดหม่าหินเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ซึ่งหม่าหินที่เกิดภายหลังการเผาที่อุณหภูมิสูงแล้วจะกำจัดออกได้ยากหากการไล่อุณหภูมิด้วยเตาเผาแก๊สหุงต้มตามอุณหภูมิที่กำหนดแล้วสีน้ำเงินยังไม่เข้มพอ ก็ให้นำไปเผาด้วยเตาเผาน้ำมันโซลาต่อไป เพื่อเพิ่มระดับความเข้มของสีน้ำเงินตามต้องการปัจจัยสำคัญ 4 ประการที่มีผลต่อการเผาพลอย ได้แก่
1. ระยะเวลา (Time) หมายถึง ระยะเวลาสั้นยาว ในการใช้อุณหภูมิในแต่ละระดับ
2. อุณหภูมิ (Temperature) หมายถึง การควบคุมการเปลี่ยนแปลงของระดับอุณหภูมิที่ใช้ในการเผา ซึ่งต้องสัมพันธ์กับระยะเวลา
3. สภาพบรรยากาศภายในเตาเผา (Atmosphere) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
- Oxidizing สภาพบรรยากาศทางเคมีที่ต้องการก๊าซออกซิเจน
- Reducing สภาพบรรยากาศทางเคมีที่ไม่ต้องการก๊าซออกซิเจน
4. ตัวเชื้อ หรือ สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบสำคัญหรือเป็นธาตุผ่านที่อยู่ในพลอยที่นำมาเผา สารเคมีตัวนี้จะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่จะทำให้พลอยที่นำมาเผานั้น เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่
กรรมวิธีในการเผาขึ้นอยู่กับชนิดของพลอยที่นำมาเผา และวัตถุประสงค์ในการเผา ซึ่งจะต้องพิจารณา ถึงองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการที่กล่าวมาเป็นหลัก ถ้าจะกล่าวถึงหลักการคร่าวๆ ในการเผาจะต้องมีดังต่อไปนี้คือ
1. การเผาเพื่อไล่ SILK หรือเผาให้พลอยใส ความร้อนที่ใช้ควรจะประมาณ 1,000-1,900 องศาเซลเซียส เผาเสร็จแล้วทำให้เย็นตัวอย่างรวดเร็ว วิธีการนี้ใช้ประกอบการเผาเพื่อวัตถุประสงค์อื่นได้ด้วย
2. การเผาเพื่อปรับปรุง “SILK” ตรงข้ามกับข้อที่ 1. ความร้อนที่ใช้ปริมาณ 1,300-1,900 องศาเซลเซียส ใช้เวลาเผา 1-4 วันหรือมากกว่า วิธีการนี้ใช้เผาเพื่อทำให้ STAR ที่อยู่ในพลอยบางชนิดชัดขึ้น เช่น STAR SAPPHIRE วิธีนี้ใช้ได้ผลกับพลอยที่มีธาตุไตตาเนียมภายในมากเท่านั้น
3. การเผาเพื่อเพิ่มสีน้ำเงิน ในพลอยซัฟไฟร์ อุณหภูมิที่ใช้อยู่ประมาณ 1,600-1,900 องศาเซลเซียส ในบรรยากาศแบบไม่ใช้ก๊าซออกซิเจน (REDUCING ATMOSPHERE) ใช้ในการเผาพลอยกิวดา ซัฟไฟร์จากศรีลังกา ซัฟไฟร์จากแคชเมียร์ สามารถใช้ประกอบกับวิธีที่ 1 เผาเพื่อไล่ SILK เพื่อทำให้พลอยใสสะอาดขึ้น และมีสีน้ำเงินเข้มขึ้นด้วยเป็นที่สังเกตว่า การเผาซัฟไฟร์สีน้ำเงินจากศรีลังกา ถ้าหากใช้วิธีการ OXIDIZING ATMOSPHERE คือใช้ก๊าซออกซิเจนเข้าช่วยแล้ว จะได้สีน้ำเงินปริมาณน้อยมาก
4. การเผาเพื่อไล่สีหรือถอยสี ใช้อุณหภูมิประมาณ 800-1,900 องศาเซลเซียส บางครั้งอาจต่ำลงถึง 450 องศาเซลเซียส ในบรรยากาศแบบ OXIDIZING คือการใช้ก๊าซออกซิเจน วิธีการนี้ใช้เผาพลอยสีน้ำเงินเข้ม เช่น พลอยซัฟไฟร์จากออสเตรเลีย ไทย กัมพูชา และไนจีเรีย เผาเพื่อให้สีของพลอยอ่อนลง และนำไปใช้ในการเผาทับทิมสีแดงติดม่วงของไทย พม่า กัมพูชา ศรีลังกา เคนยา และแทนซาเนีย เพื่อให้สีน้ำเงินและสีม่วงที่ติดอยู่หายไป วิธีการนี้เรียกว่า “เผาถอยม่วง” นอกจากนี้ยังสามารถใช้เผาเพื่อไล่สีน้ำเงิน ที่ปนอยู่ในพลอยซัฟไฟร์สีเขียวจากออสเตรเลียและมอนตานา เพื่อให้ได้สีเหลืองบริสุทธิ์ และเขียวบริสุทธิ์ด้วย
5. การเผาเพื่อเพิ่มสีเหลือง ในพลอยซัฟไฟร์สีขาวและสีเหลืองอ่อนจากศรีลังกา เพื่อให้ได้สีเข้มขึ้น และอาจเปลี่ยนพลอยสีชมพูให้กลายเป็นสีส้มได้ วิธีนี้จะใช้อุณหภูมิประมาณ1,600-1,900องศาเซลเซียส ในบรรยากาศแบบ OXIDIZING
การฉายรังสีแกมมา (Gamma Radiation) การปรับปรุงสีของอัญมณีโดยการฉายรังสี ไม่มีสิ่งที่รับประกันได้ในความสำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถบอกได้ว่า รังสีจะเกิดผลกับเม็ดพลอยอย่างไร จะต้องมีธาตุที่ต้องการเจืออยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ รังสีจะต้องไปเปลี่ยนตำแหน่งของอิเล็กตรอนให้ไปอยู่ในตำแหน่งที่พอดี จึงจะเกิดสีที่ต้องการ ตามปกติพลอยหลายชนิด จะนำมา ทดลองเล็กน้อยก่อน เมื่อฉายรังสีจนได้สีที่ต้องการแล้ว จึงทำในปริมาณมาก โทแปซ มีสูตรโครงสร้างเป็น Al2[SiO4](OH,F)2 ซึ่งไม่มีสีถ้าเป็นสารประกอบบริสุทธิ์ เป็นพลอยชนิดหนึ่งที่เหมาะสำหรับการฉายรังสี เมื่อฉายด้วยโคบอลต์-60 จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล (cinnamon brown) แต่จะจางลงและกลับคืนสีเดิม เมื่อได้รับแสงสว่างเป็นเวลาหลายเดือน ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตโทแปซสีน้ำเงิน (brilliant blue topaz) ที่มีสีคงทนถาวร แบบเดียวกับโทแปซสีน้ำเงินตามธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยาก โทแปซสีน้ำเงินจากการฉายรังสี มีคุณสมบัติทางเคมีและคุณสมบัติทางแสงเหมือนกับพลอยธรรมชาติ ซึ่งจะแยกออกได้ด้วยกระบวนการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น โดยการวัดแสงที่ให้ออกมาจากพลอยที่ได้รับความร้อน |
||||||||
|
||||||||
ควอรตซ์บริสุทธิ์มีสูตรโครงสร้างเป็น SiO2 ซึ่งไม่มีสี การฉายรังสีสามารถใช้ได้กับควอรตซ์เช่นกัน ทำให้ได้สีเทา (smokey quartz) ทำให้ได้รับความสนใจและมีราคาสูงขึ้น แต่การเปลี่ยนสีนี้จะเกิดกับควอรตซ์สีขาวใสที่เจือด้วยอลูมิเนียม ความสำเร็จในการปรับปรุงสี ขึ้นกับตำแหน่งของอิเล็กตรอนภายหลังการฉายรังสี และสำหรับ amethysts สามารถทำได้โดยการฉายรังสี quartz ที่มีเหล็กเจืออยู่ แต่ amethysts ธรรมชาติมีอยู่ทั่วไป การผลิตโดยการฉายรังสีจึงไม่มีผลต่อราคามากนัก เพชร(diamonds) มีสูตรโครงสร้างเป็นคาร์บอน (C) มีสีตามธรรมชาติหลายสี และสามารถนำมาฉายรังสีให้มีความแตกต่างกันได้หลายสีเช่นกัน การฉายรังสีสามารถเปลี่ยนสีเหลืองหรือเขียวอ่อนให้มีสีเข้มขึ้น แต่การฉายรังสีอัญมณีที่มีราคาสูงอย่างเช่น เพชร มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เพราะอาจทำให้เพชรที่มีสีอ่อนแต่ยังคงมีราคา กลายเป็นสีน้ำตาลเทาซึ่งจะหมดราคาลงไป การเปลี่ยนสีอัญมณีโดยการเหนี่ยวนำนี้ ไม่ได้ให้ผลถาวรเสมอไป คุนไซต์ (kunzite) มีสูตรโครงสร้างเป็น LiAl[Si2O6] มีสีขาวใสหรือสีม่วงอ่อน เมื่อฉายด้วยโคบอลต์-60 ประมาณ 15 นาที จะกลายเป็นสีเขียวใส การฉายรังสีจะไปเปลี่ยนแปลงประจุไฟฟ้าที่ไอออนของแมงกานีสในพลอย จาก +3 ไปเป็น +4 แต่เมื่อได้รับแสงสว่าง ไอออนที่มีประจุ +4 ได้รับอิเล็กตรอนเข้ามาในโครงสร้างผลึก ทำให้กลับกลายเป็นสีขาวใสอย่างเดิม |
||||||||
การใช้ความร้อน (Heat Treatment) การเปลี่ยนสีอัญมณีด้วยการฉายรังสี เป็นกระบวนการที่ค่อนข้างใหม่ เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ความร้อน ที่มีการทำมาเป็นเวลานานแล้ว โดยมีการพัฒนามาตั้งแต่การเผาอย่างง่ายๆ ในเหมืองพลอย ไปจนถึงการทดลองที่มีการทำอย่างเป็นกระบวนการ อัญมณีที่ได้ผลดีจากการเปลี่ยนสีด้วยความร้อน คือ aquamarine ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมีหลายสี ได้แก่ สีเหลือง เหลืองเขียว เขียวน้ำเงิน และสีน้ำเงิน ขึ้นอยู่กับประจุของอะตอม และตำแหน่งของอะตอมธาตุเหล็กในผลึก การให้ความร้อนจะทำให้ประจุของอะตอมเปลี่ยนจาก +3 ไปเป็น +2 และทำให้เปลี่ยนจาก สีเหลือง (yellow aquamarine) เป็นสีน้ำเงิน (blue aquamarine) ซึ่งมีราคาสูงขึ้น เพชร (Diamonds) |
||||||||
|
||||||||
แคลไซต์ (Calcite) การฉายรังสีสามารถทำให้แคลไซต์ เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินและสีเหลืองอำพัน ฟลูออไรต์ (Fluorite) ฟลูออไรต์มีสีได้หลากหลายสี ส่วนใหญ่เกิดจากการได้รับรังสีในธรรมชาติ โดยมีธาตุในกลุ่ม Rare-earth เจือปน ซึ่งจะเกิดปฏิกิริยากับรังสีในธรรมชาติ ทำให้เกิดสีได้มากมาย เช่น การฉายรังสีแกมมาจาก Cs-137 ทำให้ Mexican fluorite ที่ไม่มีสี กลายเป็นฟลูออไรต์สีม่วง (Purple fluorite) แฮไลต์ (Halite) Blue halite จากการฉายรังสี |
||||||||
|
||||||||
โทแปซ (Topaz)
ทัวมาลีน (Tourmaline) ทัวมาลีนสีชมพูตามธรรมชาติ เป็นทัวมาลีนที่เจือด้วยแมงกานีสและได้รับรังสีธรรมชาติ ห้องปฏิบัติการสามารถทำได้เช่นกันโดยการฉายรังสีแกมมาจากโคบอลต์-60 |
||||||||
|
การฉายเลเซอร์
วัตถุประสงค์ของการปรับปรุงคุณภาพเพชรคือการเพิ่มมูลค่าให้เพชร ดังที่กล่าวแล้วว่า 4C’s Carat (น้ำหนักะรัต) Cut (รูปทรงเจียรไน) Color (สี) Clarity (ความใสสะอาด) เป็นตัวกำหนดมูลค่าเพชร การปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีใดๆล้วนเป็นไปเพื่อเพิ่มคุณค่าให้แก่คุณสมบัติ 1 ใน 4C ที่กล่าวมา สำหรับเพชรแล้วการปรับปรุงคุณภาพโดยทั่วไปมักมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความใสหรือปรับปรุงคุณภาพสี
Diamond Clarity Enhancement
ก่อนที่คุณจะเลือกเพชร มันเป็นสิ่งสำคัญที่เราพึงรู้เรื่อง
การตรวจสอบแร่รัตนชาติ
การตรวจสอบอัญมณี
ด้วยเหตุว่า อัญมณีส่วนใหญ่จะเป็นแร่ชนิดต่างๆ ดังนั้นการตรวจจำแนกประเภท และการจัดแบ่งชนิดอัญมณี จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับการตรวจจำแนกชนิดแร่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อัญมณีแต่ละประเภท แต่ละชนิดที่เป็นแร่นั้น ต่างก็มีคุณสมบัติทางเคมี ทางกายภาพ ทางแสง เฉพาะตัว และปกติจะคงที่ ดังนั้นการวัดหาค่า และตรวจสอบคุณสมบัติต่างๆ นี้ให้ถูกต้อง แม่นยำ โดยใช้เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นประโยชน์มาก ทั้งยังให้แนวทางที่เป็นไปได้ในการตรวจจำแนกประเภท และชนิดอัญมณีได้อย่างถูกต้อง แม้ว่านักแร่วิทยา และนักอัญมณีจะใช้วิธีการตรวจจำแนก และเครื่องมือหลายชนิดที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างในลักษณะพื้นฐานวิธีการ การตรวจสอบอัญมณีซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดในวิชา "อัญมณีศาสตร์" คือการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ที่เป็นการรวบรวมข้อมูลหลักฐาน ที่ได้จากการปฏิบัติการทดสอบ ที่เหมาะสมเพียงพอ
สำหรับการสรุปผล ที่จะจำแนกประเภทของอัญมณี และจัดแบ่งอัญมณีนั้นได้เป็นชื่อและชนิดแร่ ตามลำดับโดยมีวิธีการ ซึ่งไม่เหมือนกับวิธีการหลายๆ อย่างในการตรวจแร่ เป็นต้นว่า ถูกจำกัดขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสอบ ต้องมีความสมบูรณ์ ความรวดเร็ว ในการตัดสินวิเคราะห์ และต้องไม่ทำให้อัญมณีเกิดความเสียหาย นอกจากนี้ ขั้นตอนต่างๆ ของการตรวจจำแนกชนิดอัญมณีต่างๆ อย่างถูกต้องนั้น จำเป็นจะต้องประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิชาอัญมณีศาสตร์ เข้าช่วยด้วย เช่น ค่าดัชนีหักเหของแสง สีแฝด การดูดกลืนแสง ความถ่วงจำเพาะ และลักษณะตำหนิมลทินภายในต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งการแปลความหมายที่ถูกต้องจากข้อมูลที่ได้จากการทดสอบ ด้วยเครื่องมืออัญมณีศาสตร์ที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพในการตรวจสอบอัญมณีนั้น จะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับประสบการณ์ และความรู้ความสามารถของผู้ตรวจ
ขั้นตอนต่างๆ ในการตรวจสอบอัญมณีสามารถแบ่งออกได้เป็น ๕ ขั้นตอนใหญ่ๆ บนหลักเกณฑ์พื้นฐานของการวัดหาค่า และตรวจสอบสมบัติต่างๆ ของอัญมณี ทั้งทางกายภาพ ทางแสงที่ถูกต้อง ประกอบกับการตรวจดูอัญมณีนั้น ภายใต้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง เพื่อพิจารณาถึงลักษณะ ตำหนิ มลทินภายในต่างๆ เป็นต้น
๑) การตรวจดูโดยทั่วไปด้วยตาเปล่า แว่นขยาย หรือกล้องจุลทรรศน์กำลังขยายต่ำ ๑๐-๓๐ เท่า ดู สี ความโปร่ง การเจียระไน ปรากฏการณ์ ประกาย ความวาว การกระจายแสง ความหน่วง แนวแตก การแตก ตำหนิภายนอกต่างๆ การประกบ เป็นต้น
๒) การตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ กำลังขยายสูง ๓๐-๒๐๐ เท่า เป็นการตรวจวิเคราะห์จำแนกลักษณะ ชนิด มลทิน ภายในต่างๆ ของอัญมณี เช่น อัญมณีธรรมชาติ อัญมณี สังเคราะห์ อัญมณีเทียม อัญมณีเลียนแบบ อัญมณีที่ได้มีการปรับปรุงคุณภาพ เป็นต้น จะต้องใช้ระบบแสงที่ถูกต้องเหมาะสมในการตรวจ หรือการตรวจดู โดยการจุ่มอัญมณีลงในน้ำหรือน้ำยาบางอย่าง
๓) การวัดหาค่าดัชนีหักเหของแสง โดยใช้เครื่องรีแฟรกโตมิเตอร์ ซึ่งทำได้ทั้งอัญมณีที่มีผิวมันราบเรียบ และผิวโค้ง วัดหาค่าดัชนีหักเหของอัญมณีชนิดต่างๆ (ค่าเดียว สองค่า สามค่า) ค่าไบรีฟริงเจนซ์ (Birefringence) ซึ่งเป็นค่าความ แตกต่างระหว่างค่าดัชนีหักเหสูงสุดกับค่าดัชนี หักเหต่ำสุด ค่าสัญลักษณ์ทางแสง ๔) สีแฝดและลักษณะทางแสงของผลึก โดยใช้โพลาไรสโคป หาลักษณะทางเดินของแสง ในอัญมณี หาค่าสัญลักษณ์ทางแสง หาสีแฝด หรือใช้ไดโครสโคปหาสีแฝด
๕) การตรวจสอบเพิ่มเติมอื่นๆ
รายละเอียดในขั้นตอนต่างๆ นี้ จะแสดง ให้เห็นว่า ผู้สนใจ หรือใครก็ตาม จะสามารถตรวจจำแนกประเภทและชนิดอัญมณีได้ ไม่ว่าจะเป็นอัญมณีธรรมชาติ หรืออัญมณีที่ทำขึ้นทั้งหลาย โดยการใช้เครื่องมือทดสอบคุณสมบัติต่างๆ หลายชนิด รวมทั้งมีความสังเกต รอบคอบ ระมัดระวัง ในการตรวจวิเคราะห์ และรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการตรวจสอบนั้น มาแปลความหมายให้ได้ถึงประเภทและชนิดของอัญมณี และในขณะเดียวกันบุคคลนั้น ก็จะได้รับความรู้ ความเข้าใจในวิชาอัญมณีศาสตร์เพิ่มเติมมากขึ้น
หน่วยงานที่มีการศึกษาวิจัยอัญมณี
โดยทั่วๆ ไปแล้ว อัญมณีเป็นสิ่งของเครื่องประดับ มีค่า มีราคา มากน้อยต่างๆ กัน เช่นเดียวกับเครื่องประดับอื่นๆ และจากเรื่องราวที่กล่าวมา ในด้านวิชาการอัญมณีศาสตร์พื้นฐานแล้ว จะเห็นได้ว่า มีข้อมูลเนื้อหาหลักเกณฑ์ของอัญมณี ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งสามารถยึดถือ ใช้เป็นหลัก เพื่อช่วยในการพิจารณาถึงคุณภาพ และความเป็นจริงของอัญมณี หรือเป็นอัญมณีประดิษฐ์แบบใดได้
โดยที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก การศึกษา ค้นคว้า และวิจัยเกี่ยวกับอัญมณี โดยเฉพาะการวิจัยด้านการเพิ่มคุณภาพอัญมณี จึงเป็นที่น่าสนใจ เนื่องจากเป็นที่ที่เหมาะสมคือ มีแหล่งอัญมณีธรรมชาติที่สำคัญ เช่น ทับทิม ไพลิน ฯลฯ มีวัตถุดิบเพียงพอที่จะใช้ทดลองศึกษาวิจัย หากประสบผลสำเร็จ ก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ ในด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และยังส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น กรมทรัพยากรธรณีเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่มีการสำรวจ ค้นคว้า วิจัย ตลอดจนให้บริการในการตรวจสอบอัญมณี หรือรัตนชาติ มานานกว่า ๔๐ ปี โดยมีฝ่ายวิเคราะห์วิจัยทางฟิสิกส์ กองวิเคราะห์ ให้บริการตรวจอัญมณี และฝ่ายสำรวจแร่รัตนชาติ กองเศรษฐธรณีวิทยา รับผิดชอบสำรวจแหล่งแร่รัตนชาติ รวมทั้งศึกษาวิจัยการเพิ่มคุณภาพอัญมณีด้วย
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานเพิ่มขึ้นหลายหน่วย ที่สนใจทำการศึกษาวิจัยการเพิ่มคุณภาพพลอย หรืออัญมณีต่างๆ ได้แก่
๑. กองฟิสิกส์ สำนักงานพลังงาน ปรมาณูเพื่อสันติ มีการศึกษาวิจัยการเพิ่มคุณภาพอัญมณี โดยวิธีการอาบรังสี
๒. กองการวิจัย กรมวิทยาศาสตร์บริการ มีโครงการวิจัย และพัฒนา การเพิ่มมูลค่าพลอย เพื่อการส่งออก
๓. สาขาวิจัยอุตสาหกรรมโลหะ และเซรามิก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย มีการศึกษาวิจัยการปรับปรุงคุณภาพอัญมณี โดยใช้เทคนิคทางวิทยาศาสตร์
๔. ภาควิชาฟิสิกส์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี มีการศึกษา และพัฒนาการสร้างเตาไฟฟ้าอุณหภูมิสูง สำหรับใช้ในการเผาพลอย และมีการศึกษาวิจัยการปรับปรุงคุณภาพอัญมณีด้วย
๕. ภาควิชาเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาธรณีวิทยา และภาควิชาวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันศึกษาวิจัย การสร้างเตาเผาพลอยโดยใช้แก๊ส
นอกจากเรื่องการค้นคว้าวิจัยแล้ว ยังมีสถาบันการศึกษาของเอกชนหลายแห่ง และของรัฐบางแห่ง ที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับอัญมณี ทั้งในด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์ เจียระไน ออกแบบ การตลาด ฯลฯ ซึ่งทำให้การศึกษา ความรู้ และความเข้าใจในเรื่องอัญมณี มีการเผยแพร่กว้างขวางมากขึ้น
แว่นขยายตรวจอัญมณี
เครื่องมือวัดค่าดัชนีหักเหของแสง
แหล่งที่พบแร่รัตนชาติ
อัญมณีและแหล่งในประเทศไทย
ประเทศไทยมีอัญมณีหลายชนิด ที่สำคัญ ได้แก่ ทับทิม แซปไฟร์ โกเมน เพทาย และควอตซ์
ทับทิมและแซปไฟร์ (RUBY AND SAPPHIRE)
เป็นอัญมณีชนิดที่พบมาก มีค่าและราคาสูง ทำรายได้ให้กับประเทศมากที่สุด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อัญมณีทั้งสองชนิดนี้ จัดเป็นแร่อยู่ในประเภทแร่คอรันดัม หรือกะรุนในภาษาไทย คำเดิมมาจากภาษาทมิฬ (kurundum) หรือมาจากภาษาสันสกฤต (korund or karund) ruby มาจากภาษาลาติน (ruber or rubeus) หมายถึง สีแดง ส่วน sapphire มาจากภาษาละติน (sapphirus) หรือภาษากรีก (sappheiros) หมายถึง สีน้ำเงิน ผลึกแร่อยู่ในระบบเฮกซะโกนาล (Hexagonal) รูปผลึกที่พบมาก มีลักษณะเป็นแท่งยาวหกเหลี่ยม ป่องตรงกลาง คล้ายถังเบียร์ มีความโปร่งใสถึงทึบแสง ส่วนประกอบทางเคมีเป็นอะลูมิเนียมออกไซด์ (A12O3) ภายในเนื้อแร่มักมีธาตุชนิดอื่นปนเป็นมลทิน เช่น Cr, Fe, Ti, V เป็นต้น ซึ่งมลทินธาตุเหล่านี้ ที่เป็นตัวทำให้คอรันดัมมีสีแตกต่างกันออกไปในแต่ละชนิด Cr ทำให้เกิดสีแดงเรียกว่า ทับทิม Ti และ Fe ทำให้เกิดสีน้ำเงินเรียกว่า ไพลิน เป็นต้น คอรันดัมมีค่าความแข็งเท่ากับ ๙ ความถ่วงจำเพาะประมาณ ๔ มีความวาวคล้ายแก้วถึงคล้ายเพชร มีค่าดัชนีหักเหแสง ๒ ค่า และมีสีแฝดเกิดได้ ๒ สี คอรันดัมเกิดขึ้นได้ในหินชนิดต่างๆ หลายชนิด สำหรับในประเทศไทยพบเกิดในบริเวณหินภูเขาไฟชนิดบะซอลต์ ซึ่งมักพบในลักษณะผุพังจากหินต้นกำเนิดเดิมมาแล้ว (Secondary deposits) ทั้งที่เป็นแบบผุพังอยู่กับที่ในดินบะซอลต์ (Residual basaltic deposits) และแบบถูกนำพาเคลื่อนที่ไปสะสมที่อื่นๆ ตามลำห้วย แม่น้ำลำธาร ลำคลอง ท้องน้ำ และบริเวณที่ราบลุ่ม เรียกว่า แบบลานแร่ (Placer) มีการผลิตแร่ด้วยเทคนิควิธีการแบบชาวบ้าน ไปจนถึงใช้เทคนิคเครื่องมือ และวิธีการที่ทันสมัย
ทับทิม
เป็นอัญมณีที่มีค่า และราคาแพง มากที่สุดในบรรดาแร่คอรันดัมทั้งหมด สีแดงที่เป็นที่นิยมกันมากที่สุดคือ สีแดงเข้มบริสุทธิ์ มีสีน้ำเงินปนเล็กน้อย หรือที่เรียกว่า สีเลือดนกพิราบ ซึ่งเป็นสีของทับทิมคุณภาพสูง ที่มีในประเทศพม่า และทั่วโลกยอมรับกันว่า สวยที่สุด สำหรับทับทิมของไทยชาวบ้านเรียกว่า พลอยแดง ส่วนมากมีสีแดงอมม่วงถึงแดงอมดำ เป็นทับทิมคุณภาพสูง ไม่แพ้ทับทิมพม่าเช่นกัน แหล่งทับทิมที่สำคัญที่สุดของไทย คือ บริเวณอำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด บริเวณอำเภอเมือง อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ในเขตอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ และอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี ก็พบอยู่บ้าง ในปัจจุบันนี้การทำเหมืองในบริเวณดังกล่าวเหลือน้อยลง จึงมีการนำเข้ามามากขึ้น จากแหล่งในต่างประเทศ ทั้งใกล้และไกล เช่น กัมพูชา เวียดนาม พม่า แอฟริกาใต้ ลาว เป็นต้น
แซปไฟร์
เป็นแค่คอรันดัมที่มีสีต่างๆ กันที่ไม่ใช่สีแดง มีได้ทั้งสีน้ำเงิน เหลือง ส้ม ม่วงหรือเขียว สีน้ำเงิน (Blue Sapphire) เรียกว่า ไพลิน สีเหลือง (Yellow Sapphire) เรียกว่า บุษราคัม หรือพลอยน้ำบุษร์ ถ้ามีสีเขียวปนเรียก บุษร์น้ำแดง มีสีเหลืองทองเรียก บุษร์น้ำทอง สีเขียว (Green Sapphire) เรียกว่า เขียวส่อง (น้ำหน้ามีสีน้ำเงิน และน้ำข้างมีสีเขียว) เขียวมรกต (เขียวสดสีขวดน้ำอัดลมชนิดหนึ่ง) เขียวบุษร์ (เขียวอมเหลือง) สาแหรก (มีรูปดาว ๔-๖ แฉก) สำหรับไพลิน สีที่ถือกันว่าสวยที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้มสด มีสีม่วงปนเล็กน้อย ซึ่งเป็นสีของไพลินคุณภาพสูงจากแคชเมียร์ในอินเดีย ไพลินสีสวยรองลงมาเป็นไพลินจากพม่าและกัมพูชา ส่วนไพลินของไทย โดยเฉพาะจากแหล่งในอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ก็มีสีสวยเทียบได้กับไพลินจากศรีลังกา แหล่งไพลิน (แซปไฟร์อื่นๆ ด้วย) ที่ใหญ่ที่สุด คุณภาพดีของประเทศไทยในปัจจุบันนี้คือ แหล่งในบริเวณอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี ส่วนแหล่งในจังหวัดอื่นๆ ก็มี แต่คุณภาพไม่ดีนักเช่น บริเวณอำเภอเด่นชัย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ บริเวณอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย บริเวณอำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ บริเวณอำเภอกันทรลักษณ์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ บริเวณอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับในบริเวณแหล่งจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราดนั้น ได้ทำเหมืองมานานแล้ว ผลิตผลถดถอยน้อยลง จึงมีการนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลีย ศรีลังกา กัมพูชา พม่า แอฟริกาใต้ เช่นกัน
อนึ่ง พลอยคอรันดัม ไม่ว่าจะเป็นทับทิม หรือแซปไฟร์สีต่างๆ เกือบทั้งหมด ทั้งจากแหล่งในประเทศ และต่างประเทศ มักจะผ่านกรรมวิธีเพิ่มคุณภาพต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของสี เพื่อให้ดูมีสีสวยงามมากขึ้น เช่น วิธีการให้ความร้อน หรือที่เรียกว่า เผาหรือหุง การเผา เคลือบสี การอาบรังสี การย้อมสี เป็นต้น สำหรับคนไทยแล้ว การเผาพลอยเป็นวิธีการที่ คนไทยมีความรู้ ความสามารถมาก มีความเข้า ใจและมีทักษะในเทคนิควิธีการทำได้อย่างมีผล สำเร็จเป็นอย่างมาก จนเป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก แต่เทคนิควิธีการ มักจะถูกปกปิดเป็นความลับ โดยรู้กันเฉพาะสำหรับนักเผาพลอยแต่ละคน ปกติแล้วจะไม่ยอมเปิดเผย ให้เป็นศาสตร์สากล ที่เรียนรู้กันโดยทั่วไป
ลักษณะมลทินต่างๆ ที่พบในเนื้อพลอยคอรันดัมของไทย ได้แก่ มลทินผลึกของแร่ต่างๆ เช่น การ์เนต พิร์โรไทต์ อะพาไทต์ เฟลด์สปาร์ ฮอร์นแบลนด์ มลทินผลึกรูปร่าง คล้ายเข็มเล็กยาวของแร่รูไทล์ โบห์ไมต์ มลทิน ของไหลรูปร่างคล้ายลายนิ้วมือ ขนนก เมฆหรือ หมอกควัน มลทิน โซนสีแบบเส้นตรงและแบบรูป หกเหลี่ยม มลทินผลึกแฝดซ้ำซ้อน
โกเมน (GARNET)
โกเมนที่พบเป็นชนิดสีแดง ทั้งชนิดไพโรป และแอลมันไดต์ ซึ่งมีระดับสีแดงต่างๆ เช่น แดงอมดำ แดงอม น้ำตาล แดงอมม่วง แดงอมส้ม เป็นต้น การ์เนตจัดเป็นกลุ่มแร่หนึ่ง ผลึกแร่อยู่ในระบบไอโซเมทริก รูปผลึกที่พบกันมากมีลักษณะกลมคล้ายลูกตระกร้อ โปร่งแสง ถึงทึบแสง มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นแร่กลุ่มซิลิเกตกับธาตุเหล็ก หรืออะลูมิเนียมกับธาตุอื่นๆ อีกหลายชนิด มี ความแข็ง ๗-๗.๕ ความถ่วงจำเพาะ ๓.๗๘- ๔.๑๕ มีค่าดัชนีหักเหแสงค่าเดียว มีความวาวเหมือนแก้ว แหล่งที่พบมักเกิดร่วมกับพลอยคอรันดัมในแหล่งต่างๆ เช่น อำเภอเมือง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอบ่อไร่ อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด อำเภอแกลง จังหวัดระยอง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นต้น
เพทาย (ZIRCON)
เป็นอัญมณีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในอดีตของไทยถึงกับเรียกว่า"เพชรไทย"จัดเป็นแร่ที่มีผลึกอยู่ในระบบเททระโกนาล รูปผลึกที่พบกันมาก มีลักษณะเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาว ปลายแหลม ลักษณะโปร่งแสง ถึงโปร่งใส ส่วนใหญ่มีสีออกไปทางสีน้ำตาลต่างๆ มีส่วนประกอบทางเคมี เป็นเซอร์โคเนียมซิลิเกต (ZrSiO4) มีความแข็ง ๖-๗.๕ ความถ่วงจำเพาะ ๓.๙๐-๔.๗๑ มีค่าดัชนีหักเหแสง ๒ ค่า มีความวาว และมีค่าการกระจายแสงสูงใกล้เพชรมาก แหล่งที่พบก็มักเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัม ตามแหล่งต่างๆ เช่น อำเภอเมือง อำเภอขลุง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี อำเภอ กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นต้น โดยมากแล้วเพทายมักจะนำไปเผา ให้มีความใส มากขึ้นหรือทำให้เปลี่ยนเป็นสีขาว เหลือง ฟ้า แล้วจึงนำไปเจียระไน โดยเฉพาะชนิดสีขาวใส เมื่อเจียระไนแล้วจะมีลักษณะคล้ายเพชรมาก
ควอตซ์ (QUARTZ)
พบทั้งในชนิดที่เป็นเนื้อผลึก (Crystalline quartz) และชนิดเนื้อเนียนละเอียด (Crypto-crystalline quartz) เป็นแร่อยู่ในระบบผลึกเฮกซะโกนาล รูปผลึกที่พบมากมีลักษณะเป็นแท่งหกเหลี่ยมยาว ปลายแหลมปิดหัวท้ายผลึก มีสีต่างๆ เช่น สีชมพู (Rose quartz) สีม่วง (Amethyst) สีควันไฟ (Smoky quartz) หินผลึกขาวใส (Rock crystal) ผลึกขาวใสที่มี มลทินแร่ชนิดอื่นอยู่ภายในเนื้อ เช่น รูไทล์ ทัวร์มาลีน คลอไรต์ ไมกา ฮีมาไทต์ เป็นต้น ที่เรียกกันว่าแก้วโป่งข่าม ซึ่งเป็นที่นิยมมากใน ประเทศไทยเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๑๓ สำหรับชนิดเนื้อเนียนละเอียดก็พบมีลักษณะแตก ต่างกันไป เช่น คาลซีโดนี ได้แก่ ซาร์ด (Sard) มีสีน้ำตาลอ่อน-เข้ม ส้มปนน้ำตาล คาร์นีเลียน (Carnelian) มีสีแดงอมส้ม น้ำตาลแดง หรือ น้ำตาลส้ม อะเกต หรือ โมรา มีลักษณะเป็น ชั้นสีสลับขนานกันทั้งที่เป็นแนวตรงหรือแนวโค้งงอ (Banded agate) ลักษณะคล้ายต้นไม้หรือสาหร่าย อยู่ในเนื้อ (Moss agate) โอนิกซ์ มีลักษณะเป็น ชั้นสีขนานกันเป็นแนวตรง หินเลือดประ มีเนื้อ สีเขียวทึบมีจุดสีแดงฝังประในเนื้อพื้นเขียวดังกล่าว ฟรินต์ หรือหินเหล็กไฟ มีสีด้านทึบ สีเทา สีควันไฟ หรือดำอมน้ำตาล เชิร์ตมีสีอ่อนกว่าฟรินต์ แจสเพอร์มีสีแดง หรือน้ำตาลปนแดง มีลักษณะเหมือนเชิร์ต เป็นต้น ควอตซ์มีส่วนประกอบทางเคมีเป็นซิลิคอนไดออกไซด์ (SiO2) มีความแข็ง=๗ ความถ่วงจำเพาะ ๒.๖๕-๒.๖๗ มีค่าดัชนีหักเหแสง ๒ ค่า มีความวาวเหมือนแก้ว แหล่งที่พบมีดังนี้
ชนิดผลึก
ชนิดเนื้อเนียนละเอียด
นิลตะโก (BLACK SPINEL)
มักเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัมตามแหล่งต่างๆ เช่น บริเวณอำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
นิลเสี้ยนหรือไพรอกซีนดำ (BLACK PYROXENE-Augite)
มักเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัมตามแหล่งต่างๆ เช่น บริเวณ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี อำเภอ ท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี อำเภอบ่อไร่ จังหวัด ตราด อำเภอวังชิ้น อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
เพชร (DIAMOND)
พบในแหล่งแร่ดีบุกหลายแห่ง ทั้งในทะเล และบนบก ในแถบอำเภอกระทู้ จังหวัดภูเก็ต อำเภอตะกั่วป่า อำเภอเมือง จังหวัดพังงา
เพชรน้ำค้างหรือซานิดีน (SANIDINE FELDSPAR-Moonstone)
พบที่ อำเภอบ่อพลอย จังหวัดกาญจนบุรี และจังหวัดตราด
อะความารีนเบริล (AQUAMARINE- BERYL)
ส่วนใหญ่มีสีฟ้าอ่อน เนื้อทึบไม่ค่อยใส และมักมีรอยแตกร้าว พบในหินและสายแร่เพกมาไทต์ บริเวณอำเภอแม่แจ่ม อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร
ไข่มุก (PEARL)
เป็นมุกเลี้ยง (Cultured pearl) ที่เกาะนาคาน้อย จังหวัดภูเก็ต อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี
อุลกมณี (TEKTITE-ดาวตกชนิดหนึ่ง)
พบมากในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดสกลนคร จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครพนม จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดเลย จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดลำพูน จังหวัดแพร่ จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โอปอธรรมดา (COMMON OPAL)
พบที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดน่าน
แอกทิโนไลต์ (ACTINOLITE)
พบที่อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์
เพริดอต (PERIDOT)
พบเกิดร่วมเป็นเพื่อนพลอยคอรันดัมที่ อำเภอเด่นชัย อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
พรีห์ไนต์ (PREHNITE)
พบที่อำเภอเขาพระงาม จังหวัดลพบุรี
อัญมณีจากประเทศรอบเมืองไทย
พม่า
มีทับทิม เพริดอต สปอดูมีน สปิเนล ในแหล่ง Mokok
มีหยกเจไดต์ในแหล่ง Magaung, Tawmaw, Hpakan
มีไพลิน แซปไฟร์ ในแหล่ง Mokok, Kyankpyathat
กัมพูชา
มีทับทิม ในแหล่ง Pailin
มีไพลิน ในแหล่ง Pailin, Chamnop, Khum Samlot, Phnum Chnom
มีสปิเนล (ไม่ทราบแหล่ง)
มีเพทาย ในแหล่ง Pailin, Champasak, Kha
อินโดนีเซีย
มีเพชรในแหล่ง Borneo, Kalimantan
ลาว
มีไพลิน ในแหล่ง แขวงบ่อแก้ว แขวงจำปาศักดิ์
เวียดนาม
มีทับทิมและแฟนซีแซปไฟร์ ในแหล่ง : Luc Yen District,Yen Bai Province, Xuan Le District, Thanh Hoa Province Bu Khang (Quy Chau), Nghe An Province, Bien Ho, Gia Lai Kon Tum Province, Di Linh, Lam Dong Province Phan Thiet, Thuanh Hai Province Gia Kiem, Dong Nai Province
ออสเตรเลีย
มีมรกต ในแหล่ง Poona dis- trict, Western Australia
มีเพชรในแหล่ง Ellendale dis- trict, Western Australia Argyle district
มีไพลิน ในแหล่ง New South Wales : New England district Queenland : Anakie district
มีหยกเนไฟรต์ในแหล่ง South Australia : Eyre Peninsular region
มีโอปอใน : New South Wales : Lighting Ridge + White Clifs district Queenland : Eromanga, Quilpie, and Winton district
South Australia
แหล่ง : Andamooka district
แหล่ง : Coober Pedy district
แหล่ง : Mintabie district
ศรีลังกา
มีอะความารีน มีคริโซเบริล (เจ้าสามสี, เหลือง) สปิเนล ไพลิน แซปไฟร์ในแหล่ง : Sabaragamuwa Province, Ratnapura District Central Province, Elahera District
มีทับทิม มีโกเมน ในแหล่ง Central province: Kataragama District, Elahera District
มีเพริดอต ในแหล่ง Sabaraga- muwa Province, Ratnapura District
มีโทแพซ ในแหล่ง Matale District
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)