บอร์ด Makey Makey สื่อเพิ่มความสนุกในการเรียนรู้กระแสไฟฟ้าและโค้ดดิ้ง
การจัดการศึกษาของไทยในอดีตที่ผ่านมา พบว่าไม่ได้ขึ้นกับวิธีการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ยังพบว่าตัวผู้เรียนเองก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่าง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีสารสนเทศที่เอื้อให้ผู้เรียนในปัจจุบันเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุมในทุกด้าน ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาสื่อใหม่ ๆ ยังคงจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างเช่น บอร์ด Makey Makey เพื่อเรียนรู้ตัวนำไฟฟ้า ฉนวนไฟฟ้า และกระแสไฟฟ้า ในบทเรียนเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าพูดถึง “กระแสไฟฟ้าเกิดเพราะมีอิเล็กตรอนเป็นตัวพาประจุเคลื่อนที่ไป” คำถามที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนคือ อิเล็กตรอนที่เป็นตัวพาประจุมีรูปร่างอย่างไร จะทราบได้อย่างไรว่าอิเล็กตรอนกำลังเคลื่อนที่อยู่ การใช้สื่อจึงเข้ามามีบทบาทในบทเรียน เพื่อช่วยสร้างสถานการณ์เชิงประจักษ์ให้ผู้เรียนเห็นการทำงานของอิเล็กตรอนที่เกิดขึ้นระหว่างเกิดกระแสไฟฟ้า และเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นงานวิจัยและพัฒนาสื่อบอร์ด Makey Makey
ภาพ 1 ชุดบอร์ด Makey Makey (แหล่งข้อมูล https://www.moma.org/collection/works/187574)
ภาพ 2 แสดงรายละเอียดการเชื่อมต่อกับบอร์ด Makey Makey
ภาพ 3 แสดงรายละเอียดการเชื่อมต่อระหว่างบอร์ด Makey Makey กับวัตถุต่างๆ (ประยุกต์ข้อมูลจาก Ryanalexanderhunt, 2014)
บอร์ด Makey Makey เป็นผลงานวิจัยที่ถูกเรียกขานว่า “ชุดสิ่งประดิษฐ์แห่งศตวรรษที่ 21 สำหรับทุกคน” โดยทีมวิจัย Jay Silver และ Eric Rosenbaum จาก Lifelong Kindergarten Group ใน MIT Media Lab ของสถาบัน MIT (Massachusetts Institute of Technology) (Marin-Marin, J., 2020) พัฒนาขึ้นขณะที่เป็นนักศึกษาปริญญาเอก จากภาพ 1 แสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ต่าง ๆ ใน Makey Makey ประกอบไปด้วยสายไฟคลิปปากจระเข้ สายยูเอสบี และสายไฟ (Connector Wires) ชื่อ Makey Makey มาจากหลักการทำงานของตัวบอร์ด คือ Make + Key เมื่อบอร์ด Makey Makey ถูกเชื่อมต่อด้วยสายยูเอสบี คอมพิวเตอร์จะเชื่อมการทำงานของ Makey Makey เสมือนเป็นคีย์บอร์ดหรือเมาส์ ซึ่งใช้หลักการทำงานของวงจรไฟฟ้านั่นเอง จึงสามารถประยุกต์บอร์ด Makey Makey เป็นสื่อการเรียนรู้ ตัวนำไฟฟ้า (Conductor) ฉนวนไฟฟ้า (Insulator) และกระแสไฟฟ้า (Electric Current) ดังแสดงในภาพ 3 จะเห็นได้ว่า กระแสไฟฟ้าจากคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานหรือเสมือนแหล่งกำเนิดไฟฟ้า เดินทางผ่านสายยูเอสบีสู่บอร์ด Makey Makey และเดินทางผ่านสายไฟจากส่วนเชื่อมต่อกับตัวนำไฟฟ้า ดังภาพ 2 ไปสู่ตัวนำไฟฟ้าต่าง ๆ จากนั้นกระแสไฟฟ้าเดินทางต่อผ่านสายดินสู่บอร์ด Makey Makey และกลับสู่แหล่งพลังงาน เรียกรูปแบบการเดินทางของกระแสไฟฟ้านี้ว่า วงจรปิด (วงจรที่มีการไหลของกระแสไฟฟ้าครบวงจร) ในทางตรงกันข้าม วงจรเปิด จะเกิดขึ้นเมื่อการไหลของกระแสไฟฟ้าเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งตามภาพ 3 ไม่เชื่อมต่อกัน เช่น ตัวนำไฟฟ้าที่เป็นคนไม่สัมผัสผลแอปเปิล หรืออีกปลายของสายดินไม่เชื่อมต่อกับบอร์ด Makey Makey นอกจากนั้น ยังสามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้คุณสมบัติของตัวนำไฟฟ้าและฉนวนไฟฟ้าได้ โดยเปลี่ยนวัตถุต่าง ๆ มาแทนที่แอปเปิล ดังภาพ 3 อาทิ เสื้อผ้า วัตถุที่เป็นโลหะ ขนมปัง ฟอยล์ห่ออาหาร
นอกจากการทดลองทดสอบคุณสมบัติของตัวนำไฟฟ้าและฉนวนไฟฟ้าของวัตถุต่าง ๆ ยังสามารถทำให้การเรียนรู้สนุกสนานขึ้นด้วยการเชื่อมต่อกับโปรแกรมออนไลน์เสริมการเรียนรู้ ตัวอย่างเช่น 1) โปรแกรมเสริมการเรียนรู้วงจรไฟฟ้าอย่างง่าย ที่ https://apps.makeymakey.com/play/#is%20it%20conductive และเล่นโดยต่อสายไฟคลิปปากจระเข้กับส่วนเชื่อมต่อกับตัวนำไฟฟ้าบนบอร์ด Makey Makey ช่อง “SPACE” กับวัตถุตัวนำไฟฟ้า และต่อสายไฟคลิปปากจระเข้อีก 1 สายกับส่วนเชื่อมต่อสายดิน ให้ผู้ทดสอบถือปลายสายนี้ไว้ระหว่างแตะกับวัตถุตัวนำไฟฟ้า และดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นผ่านโปรแกรมบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ 2) โปรแกรมเสริมการเรียนรู้กระแสไฟฟ้าผ่านเสียงเปียโน ที่ https://apps.makeymakey.com/piano/ ดังแสดงในภาพ 4.1 และเล่นโดยต่อสายไฟคลิปปากจระเข้กับส่วนเชื่อมต่อกับตัวนำไฟฟ้าบนบอร์ด Makey Makey ทุกช่องกับวัตถุตัวนำไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น ผลไม้ตามภาพ 4.2 และต่อสายไฟคลิปปากจระเข้อีก 1 สายกับส่วนเชื่อมต่อสายดิน ให้ผู้ทดสอบถือปลายสายนี้ไว้ ระหว่างแตะผลไม้ต่าง ๆ จะทำให้เกิดเสียงดนตรีที่มีโน้ตแตกต่างกันในผลไม้แต่ละลูก จากการทดสอบในตัวอย่างที่ 1) และ 2) แสดงให้เห็นการไหลเวียนของกระแสไฟฟ้าแบบวงจรปิด และยังสามารถทดสอบอีกหลายกิจกรรมผ่านโปรแกรมออนไลน์ใน ตัวอย่างที่ 3) ที่ https://makeymakey.com/pages/plug-and-play-makey-makey-apps อีกด้วย
ภาพ 4.1
4.2
ภาพ 4 แสดงโปรแกรมเสริมการเรียนรู้กระแสไฟฟ้าผ่านเสียงเปียโนด้วยบอร์ด Makey Makey
ด้วยหลักการทำงานของบอร์ด Makey Makey แบบวงจรปิด จึงสามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้เพิ่มเติมในโปรแกรมการเขียนโค้ดดิ้ง Scratch ได้ ด้วยการเลือกคำสั่ง “Add Extension” จากนั้นเลือก Makey Makey ในหน้า “Choose an Extension” ดังภาพ 5 จะปรากฏกลุ่มบล็อกคำสั่ง Makey Makey ในแท็บ “Code” ภาพ 6 แสดงตัวอย่างการเขียนโค้ดในกลุ่มบล็อก Makey Makey ในโปรแกรม Scratch ให้เป็นโปรเจ็กต์เกมตัวละครเคลื่อนที่ ที่สามารถประยุกต์ตัวนำไฟฟ้าต่างๆ รอบตัวมาเป็นคำสั่งให้ตัวละครเคลื่อนที่ ดังภาพ 7 หรือแม้กระทั่งให้ผู้เรียนด้วยกันเองซึ่งมีคุณสมบัติเป็นตัวนำไฟฟ้ารับบทเป็นหนึ่งคำสั่งของการเคลื่อนที่
ภาพ 5 แสดงการเชื่อมต่อบอร์ด Makey Makey กับโปรแกรม Scratch
ภาพ 6 แสดงการเพิ่มและใช้คำสั่งบล็อก Makey Makey ในโปรแกรม Scratch
ภาพ 7 แสดงการประยุกต์บอร์ด Makey Makey เชื่อมกับวัตถุต่างๆ และใช้ร่วมกับเกมจากโปรแกรม Scratch
หลังจากทดสอบนำบอร์ด Makey Makey มาใช้ร่วมกับสื่อการสอนทั้งเรื่องกระแสไฟฟ้าและการเขียนโปรแกรม Scratch พบว่า นักเรียนมีส่วนร่วมในการใช้สื่อ Makey Makey รวมถึงเป็นข้อมูลในการประยุกต์กิจกรรมในกรณีที่มีบอร์ด Makey Makey สำหรับผู้เรียนจำนวนหนึ่ง ผู้สอนสามารถตั้งโจทย์กระตุ้นให้ผู้เรียนมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อประดิษฐ์หรือสร้างนวัตกรรมจากบอร์ด Makey Makey โดยไม่จำกัดรูปแบบการใช้ ซึ่งมีการเผยแพร่ผลการศึกษาการใช้บอร์ด Makey Makey อย่างแพร่หลาย อาทิ Fokides, E และ Papoutsi, A (2020) ที่ใช้บอร์ดดังกล่าวในการสอนเรื่องไฟฟ้าสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษาในช่วงอายุ 10 - 11 ปี และได้ผลลัพธ์ในการเรียนรู้เรื่องไฟฟ้าที่ดีขึ้น รวมทั้งนักเรียนสนุกกับสื่อการเรียนรู้มากกว่าการใช้สื่อแบบเดิม นอกจากนั้น ยังกล่าวถึงการนำ Makey Makey ไปใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ทั้งในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ทางดนตรีในกลุ่มผู้เรียนสูงวัย เป็นสื่อเรียนรู้เรื่องอาหารสำหรับกลุ่มก่อนวัยเรียน ดังภาพ 8.1 หรือการใช้ประโยชน์จากบอร์ดสู่สื่อการสอนสำหรับครู ดังภาพ 8.2
ภาพ 8.1 แสดงการประยุกต์บอร์ด Makey Makey เป็นสื่อเรียนรู้เกี่ยวกับอาหาร (ข้อมูล: https://www.stuartschool.org/uploaded/Academics/Lower_School/CircuitryHandout.pdf)
ภาพ 8.2 แสดงการประยุกต์บอร์ด Makey Makey สู่สื่อการสอน
(ข้อมูล: https://makeymakey.com/blogs/blog/community-highlight- interactive-solar-system-by-lucia-rannuci)
การใช้บอร์ด Makey Makey มาเป็นสื่อเสริมเพื่อเริ่มกิจกรรมเรียนรู้โค้ดดิ้งด้วยโปรแกรม Scratch ในชั้นเรียน พบว่า บรรยากาศการเรียนรู้สนุกสนานและผู้เรียนให้ความสนใจ โดยสังเกตได้จากผู้เรียนเสนอตัวเข้าร่วมทดสอบใช้บอร์ด Makey Makey หน้าชั้นเรียนและตั้งคำถามกับผู้สอนถึงวิธีการสร้างเกมด้วยบอร์ดดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับคำอธิบายของ Anita, S. D. และ Lisa, A. M. (2018) ที่กล่าวถึงการใช้ Makey Makey เป็นสื่อการสอนอย่างแพร่หลายในกลุ่มนักการศึกษาระดับ K12 มากกว่า 30 ประเทศ ในการสอนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับวิศวกรรม Design Thinking และการสร้างนวัตกรรม บอร์ด Makey Makey จัดเป็นสื่อที่พัฒนาจากงานวิจัยสู่สื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจสำหรับบูรณาการกับการสอน STEM กิจกรรม Problem-Based Learning หรือกิจกรรม Problem-Solving รวมไปถึงกิจกรรมที่ออกแบบเพื่อให้เกิดการส่งเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการวางแผนและออกแบบกิจกรรมร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียน การตั้งโจทย์กระตุ้นให้ผู้เรียนนำสื่อไปสู่การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ โดยผู้เขียนหวังว่า การแชร์ประสบการณ์ใช้สื่อบอร์ด Makey Makey จะเป็นทางเลือกในการใช้สื่อสำหรับผู้อ่านต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 51 ฉบับที่ 243 กรกฎาคม – สิงหาคม 2566
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/243/46/
บรรณานุกรม
Anita, S. D. & Lisa, A. M. (2018). Makey Makey Educator’s Guide. The International Technology and Engineering Educators Association (ITEEA). 10 (January, 2018).
Fokides, E. & Papoutsi, A. (2020). Using Makey-Makey for Teaching Electricity to Primary School Students a Pilot Study. Education and Information Technologies, 25: 1193–1215.
Fokides, E. & Papoutsi, A. (2020). Using Makey-Makey for Teaching Electricity to Primary School Students a Pilot Study. Retrieved June 20, 2023, from https://link.springer.com/article/10.1007/s10639-019-10013-5.
MaKey MaKey by Jay Silver and Eric Rosenbaum - Made by JoyLabz. Retrieved June 20, 2023, from https://www.adafruit.com/product/1068.
Marin-Marin, J. (2020). Makey Makey as an Interactive Robotic Tool for High School Students’ Learning in Multicultural Contexts. Education Science, 10: 239.
Marin-Marin, J. (2020). Makey Makey as an Interactive Robotic Tool for High School Students’ Learning in Multicultural Contexts. Retrieved June 20, 2023, from: https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1272037.pdf.
Ryanalexanderhunt (2014). HOW DOES A MAKEY MAKEY WORK?. Retrieved June 20, 2023, from https://makerbus.blog/2014/05/12/how-does-a-makey-makey-work/.
Silver, J. (2013). Jay Silver: hack a banana, make a keyboard!. The TED Talks channel. Retrieved June 20, 2023, from: https://www.youtube.com/watch? v=kiUnJ1d8vvw.

