"คุณเคยได้ยินเสียงบ่น หรือเห็นสีหน้ากังวล เบื่อหน่ายของนักเรียนหรือไม่...เมื่อรู้ว่าจะมีการทดสอบหลังจบบทเรียน มันเกิดขึ้นเพราะอะไร"
ผู้เขียนก็เคยเจอประสบการณ์การตอบสนองจากนักเรียนแบบนี้เช่นกัน พฤติกรรมเหล่านี้อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่บ่อยครั้งเกิดจากครูเลือกใช้รูปแบบการประเมินการเรียนรู้ที่ไม่ได้ส่งเสริมให้นักเรียนได้คิดอย่างสร้างสรรค์ หรือไม่มีการกระตุ้นให้เกิดความสนใจ นักเรียนจึงเกิดความเครียด กดดัน หรือถ้าครูใช้วิธีการประเมินแบบเดิมช้ำ ๆ ก็สร้างความจำเจเบื่อหน่ายแก่นักเรียนได้ เราควรทำอย่างไร เพื่อไม่ให้อาการเหล่านี้เกิดขึ้นกับนักเรียนของเราที่จริง ก็ไม่ยากเลย เพียงเราต้องเข้าใจพฤติกรรม ความสามารถ และความต้องการของนักเรียน แล้วลองตอบคำถามว่า จริง ๆ แล้วรูปแบบการประเมินที่เราใช้ หรือการประเมินความเข้าใจเนื้อหาของนักเรียนเพียงอย่างเดียวนั้น เหมาะสมเพียงพอแล้วหรือไม่กับนักเรียนในปัจจุบันที่มีวิธีคิด วิธีการตัดสินใจแตกต่างจากยุคก่อน ๆ รวมทั้งมีสมรรถนะหลายอย่างที่สูงจนบางครั้งเราคาดไม่ถึง อีกทั้งสามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้ไว และสามารถใช้สื่อดิจิทัลต่าง ๆ หาคำตอบจากสิ่งที่ต้องการรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งถ้าเรายังใช้การประเมินรูปแบบเดิม ๆ ก็ไม่แปลกเลยที่ไม่สามารถดึงดูดความสนใจจากนักเรียนได้
ภาพ 1 นักเรียนกำลังทำการประเมินผ่านสื่อเทคโนโลยี
การประเมินที่ดึงดูดความสนใจและเกิดคุณค่ากับนักเรียน ควบคู่กับการควบคุมให้อยู่ในเวลาที่เหมาะสมนั้น ทำได้โดยปรับให้มีความสร้างสรรค์ แปลกใหม่ในการประเมิน เน้นการประเมินตามสภาพจริงและประเมินระหว่างเรียน ซึ่งอาจปรับให้อยู่ในรูปแบบที่รวดเร็ว สนุก เช่น การให้เขียนบรรยายด้วยภาษาของตนเอง การแสดงบทบาทสมมติ การเขียนผังมโนทัศน์ การประเมินผ่านสื่อเทคโนโลยี รวมไปถึงการออกแบบและสร้างชิ้นงาน เช่น การวาด สร้างแบบจำลอง สร้างภาพกราฟิก โปสเตอร์ สร้างแอนิเมชันหรือภาพเคลื่อนไหว สร้างเกมกระดาน (Mulvahill, 2018) ซึ่งวิธีการต่าง ๆ เหล่านี้เหมาะกับทั้งการประเมินเนื้อหาความรู้ความสามารถ เจตคติ และทักษะกระบวนการ รวมถึงทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 และสามารถใช้ได้กับทั้งการประเมินระหว่างเรียนและการประเมินเพื่อสรุปผลการเรียนรู้
มีการนำแอนิเมชันมาใช้ประเมินการเรียนรู้ (Liu and Elms, 2019, Shreesha and Tyagi, 2016) โดยสามารถใช้ได้ทั้งการประเมินความรู้เดิม และการประเมินสิ่งที่ได้เรียนรู้ใหม่ (Dalacosta, et al., 2011) เพื่อให้เห็นภาพว่าการประเมินด้วยรูปแบบที่แตกต่างจากเดิมทำได้อย่างไรบ้าง และให้ผลอย่างไร ในที่นี้จึงขอยกตัวอย่างการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน โดยการมอบหมายให้สร้างชิ้นงานแอนิเมชัน ซึ่งผู้เขียนได้นำไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แล้วด้วย
ตัวอย่างการประเมินโดยให้นักเรียนสร้างแอนิเมชันสรุปความคิดรวบยอดจากเนื้อหาที่เรียน
การประเมินการเรียนรู้ของนักเรียนโดยให้สร้างแอนิเมชัน ในตัวอย่างนี้เป็นการประเมินหลังจบบทเรียน เรื่องการถ่ายเรณูและการปฏิสนธิของพืชดอก ซึ่งใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้แบบ 5 E ประกอบด้วยขั้นการสร้างความสนใจ การสำรวจและค้นหา การอธิบายและลงข้อสรุป การขยายความรู้ และขั้นการประเมิน โดยในขั้นการประเมินนั้นได้มอบหมายให้นักเรียนทำงานเป็นกลุ่มในการสร้างแอนิเมชันอธิบายการถ่ายเรณูและการปฏิสนธิของพืชดอกที่สนใจ 1 ชนิด โดยใช้แอปพลิเคชัน Animatic (ภาพ 2) ซึ่งนอกจากจะมีการประเมินด้านเนื้อหาแล้ว ยังมีการประเมินทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่จะเกิดขึ้นจากการสร้างแอนิเมชันอีกด้วย
ภาพ 2 แอปพลิเคชัน Animatic
ขั้นตอนการดำเนินการของครู
ก่อนที่จะให้นักเรียนลงมือสร้างสรรค์ชิ้นงาน ครูแนะนำวิธีการใช้แอปพลิเคชัน และแจ้งขอบเขตภาระงานที่นักเรียนต้องทำ รวมทั้งรายละเอียดการประเมินให้นักเรียนทราบอย่างชัดเจน ดังแสดงในภาพ 3
ภาพ 3 การมอบหมายงาน และรายละเอียดการประเมิน
ผลการทดลองใช้
สิ่งที่ได้จากการสังเกตห้องเรียนเมื่อมีการปรับรูปแบบการประเมิน จากการให้นักเรียนเขียนคำตอบในใบงานมาเป็นการสร้างแอนิเมชันสรุปความคิดรวบยอด พบว่านักเรียนมีความผ่อนคลาย ตื่นเต้น กระตือรือร้น และให้ความร่วมมืออย่างดีซึ่งตรงกับเป้าหมายของผู้สอน คือ ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ควบคู่กับความสนุกสนานระหว่างเรียน การประเมินด้วยวิธีนี้ครูสามารถสังเกตพฤติกรรมการทำงานของนักเรียนได้อย่างชัดเจน สามารถให้คำแนะนำ รวมทั้งพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคลได้และจากผลการสะท้อนคิดของนักเรียน พบว่านักเรียนชื่นชอบการสร้างแอนิเมชัน เนื่องจากมีความสนุก และได้วาดรูปสร้างเรื่องราวได้ด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม นักเรียนยังต้องการเวลาในการสร้างมากขึ้น และต้องการเวลาในการปรับปรุงแก้ไขหลังได้รับข้อเสนอแนะ ผลการประเมินนักเรียนตามรายการประเมินที่รวบรวมได้ มีดังนี้
1. ด้านเนื้อหา
นักเรียนสามารถแสดงลักษณะโครงสร้างของดอกพืชที่เลือก ให้เหตุผลในการเลือก วิธีการถ่ายเรณูที่สอดคล้องกับลักษณะของพืชที่เลือก และสามารถอธิบายวิธีการถ่ายเรณู ขั้นตอนการปฏิสนธิ และผลของการปฏิสนธิของพืชดอกได้ อย่างไรก็ตามผลงานของนักเรียนบางกลุ่ม ยังมีเนื้อหาคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการวาดรูป ทำให้สื่อสารได้ไม่ชัดเจนในกรณีเช่นนี้ครูจำเป็นต้องให้นักเรียนร่วมกันอภิปรายเพื่อสรุปให้ได้เนื้อหาที่ถูกต้อง ตัวอย่างผลงาน ดังภาพ 4
ภาพ 4 ผลงานแอนิเมชันของนักเรียน
2. ด้านทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์
นักเรียนสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาร่วมอธิบาย สรุป ขยายความรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียน หรือให้ลงความเห็นเกี่ยวกับการถ่ายเรณู การปฏิสนธิและผลของการปฏิสนธิของพืชดอกที่เลือก และนำขึ้นมาจัดกระทำและสื่อความหมายในรูปแบบแอนิเมชันได้ สามารถตีความหมายและสรุปข้อมูลเกี่ยวกับการถ่ายเรณูและการปฏิสนธิของพืชดอกได้
3. ด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
นักเรียนได้ร่างแบบก่อนสร้างแอนิเมชันจริง และสร้างแอนิเมชันซึ่งเป็นชิ้นงานที่สร้างขึ้นใหม่ เป็นการส่งเสริมให้นักเรียนเกิดความสร้างสรรค์ นอกจากนี้นักเรียนมีการสื่อสารพูดคุยและร่วมมือกับเพื่อนในกลุ่มขณะสร้างแอนิเมชัน รวมทั้งได้นำเสนอผลการสร้างแอนิเมชันต่อเพื่อนร่วมชั้นเรียน (ภาพ 5) อย่างไรก็ตาม พบว่ายังมีนักเรียนบางคนแสดงพฤติกรรมชี้นำและกีดกันเพื่อนในการทำงานกลุ่ม ดังนั้น ครูควรแนะนำให้นักเรียนแบ่งหน้าที่ในกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อสร้างทักษะของการทำงานร่วมกับผู้อื่น นอกจากนี้ นักเรียนได้ฝึกทักษะการใช้เทคโนโลยีและสื่อสารสนเทศ โดยใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะโครงสร้างของดอกพืชที่เลือก รวมทั้งใช้แอปพลิเคชันในการสร้างแอนิเมชัน
ภาพ 5 นักเรียนกำลังร่วมกันสร้างแอนิเมชัน
การใช้แอนิเมชันในห้องเรียน
นอกจากสามารถนำแอนิเมชันมาใช้ในการประเมินแล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในห้องเรียนได้อีกด้วย หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับภาพยนตร์แอนิเมชัน หรืออาจเคยสร้างแอนิเมชันง่าย ฯ มาบ้างแล้ว ในทางการศึกษา แอนิเมชันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ เนื่องจากเป็นสื่อซึ่งมีทั้งภาพ เสียง ข้อความที่มีการนำมาร้อยเรียง ทำให้เข้าใจง่ายและน่าสนใจ สามารถใช้ได้ทั้งการกระตุ้นความสนใจ และการอธิบาย
การนำแอนิเมชันมาใช้ในห้องเรียนนั้น ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ และวัยของนักเรียน (F.Learning Studio, 2017) ในระดับปฐมวัย การใช้แอนิเมชันเป็นการจูงใจให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ เพราะเป็นการสื่อสารที่ไม่ซับซ้อน ทั้งยังช่วยฝึกทักษะการสังเกต เชื่อมโยงกับเหตุการณ์ในชีวิต และปลูกฝังการรู้คิด (Keen, 2014) สำหรับระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา การให้นักเรียนฝึกทำแอนิเมชัน เป็นการส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ตั้งแต่อายุยังน้อย กระตุ้นการเรียนรู้ ทำให้สนใจและอยู่กับสิ่งที่กำลังเรียนได้นานขึ้น และเป็นการฝึกทักษะกระบวนการต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี ซึ่งสำหรับนักเรียนแล้วการได้สร้างสรรค์แอนิเมชันขึ้นด้วยตนเองถือเป็นสิ่งที่ท้าทาย สร้างความสนุก และทำให้รู้สึกภูมิใจกับสิ่งที่ได้ทำ (Desai, 2018, Education Scotland, 2019, Vargo, 2017)
แอนิเมชันเหมาะกับการนำมาใช้ในห้องเรียนในวิชาที่มีการอธิบายสิ่งที่ได้เรียนรู้ โดยผ่านทักษะการเชื่อมโยงเรื่องราวหรือการเล่าเรื่อง เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สำหรับการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ แอนิเมชันมีประโยชน์อย่างมากในการอธิบายเนื้อหาที่มีความซับซ้อน หรือเป็นนามธรรม รวมทั้งเนื้อหาที่เสนอกระบวนการเปลี่ยนแปลง หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ
ข้อเสนอแนะการประเมินการเรียนรู้จากการสร้างแอนิเมชัน
จากตัวอย่างจะเห็นแล้วว่า การให้นักเรียนสร้างแอนิเมชันเพื่อสรุปความคิดรวบยอดจากเนื้อหาที่เรียน เป็นการฝึกให้นักเรียนได้ใช้ประสาทสัมผัสที่หลากหลาย สามารถสรุปข้อมูลต่างฯ ส่งเสริมให้เกิดความสร้างสรรค์ในการนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้และก่อให้เกิดแรงจูงใจในการเรียนรู้เรื่องอื่น ๆ ต่อไป นอกจากนี้ ยังช่วยในการฝึกการทำงานเป็นกลุ่ม และสิ่งสำคัญ คือ ครูสามารถประเมินได้ทั้งเนื้อหา และพฤติกรรมของนักเรียน
อย่างไรก็ตาม ครูต้องชี้แจงรายละเอียดหรือเกณฑ์การประเมินแก่นักเรียนอย่างครบถ้วน และต้องประเมินตามเกณฑ์ที่ตั้งขึ้น ไม่ควรประเมินหรือตัดสินความสวยงามของผลงาน หรือประเมินตามความพอใจของครู นอกจากนี้ การประเมินที่ก่อให้เกิดคุณค่า ควรมีการนำผลสะท้อนจากผลการประเมินของนักเรียนมาปรับปรุงแก้ไขการสอนของครู และควรให้ข้อมูลย้อนกลับแก่นักเรียน เพื่อกระตุ้นให้นักเรียนมีความกระตือรือร้น มีความรับผิดชอบ สามารถแก้ไขข้อผิดพลาดและพัฒนาการเรียนรู้ของตนเองให้มากขึ้น
นักเรียนสร้างแอนิเมชันได้อย่างไรบ้าง
นอกจากแอปพลิเคชัน Animatic แล้วนั้น ยังมีแอปพลิเคชันอื่น ๆ ที่ใช้สร้างแอนิเมชันพื้นฐานได้ ซึ่งสามารถติดตั้งได้ฟรีและใช้งานง่ายได้ด้วยตัวเอง เช่น FlipaCip, AnimeMaker, Paint Studio, MotionBook, Stop Motion (ภาพ 6) ทั้งนี้ครูควรศึกษาวิธีการใช้แอปพลิเคชันนั้น ๆ รวมทั้งทดลองสร้างแอนิเมชันด้วยตนเองก่อนนำมาแนะนำนักเรียน และควรให้เวลานักเรียนในการสร้างสรรค์ผลงานอย่างพอเหมาะ
ภาพ 6 แอปพลิเคชันสำหรับสร้างแอนิเมชัน
ผู้เขียนหวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์ต่อครูผู้สอน ในการเลือกนำรูปแบบการประเมินไปใช้ในห้องเรียนได้อย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ ตรงกับเนื้อหา และหวังว่าครูจะมีความรู้สึกผ่อนคลายในการปรับรูปแบบการประเมินในห้องเรียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งต่อครูและนักเรียน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 49 ฉบับที่ 228 มกราคม - กุมภาพันธ์ 2564
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Dalacosta, K. & Paparrigopoulou-Kamariotaki, M. & Pavlatou, E. A. (2011). Can we assess pupil’s science knowledge with animated cartoons?.
Dalacosta, K. & Paparrigopoulou-Kamariotaki, M. & Pavlatou, E. A. (2011). Can we assess pupil’s science knowledge with animated cartoons?.Procedia Social and Behavioral Sciences. 15(2011), 3272–3276.
Desai, A. (2018). Animation in Education. Retrieved November 26, 2019, from https://www.cgpundit.com/animation-in-education/.
Education Scotland. (2019). Animation in the classroom - Developing skills in animation. Retrieved November 28, 2019, from https://education.gov.scot/improvement/practice-exemplars/animation-in-the-classroom-developing-skills-in-animation/.
F.Learning Studio. (2017). How to make animation for educational purposes work?. Retrieved November 26, 2019, from https://www.flearningstudio.com/how-to-make-animation-for-educational-purposes-work/.
Keen, M. (2014). 7 ways animation can help enhance learning in the classroom. Retrieved November 28, 2019, from http://www.innovatemyschool.com/ideas/7-ways-animation-can-help-enhance-learning-in-the-classroom.
Liu, C. & Elms, P. (2019). Animating student engagement: The impacts of cartoon instructional videos on learning experience. Research inLearning Technology. DOI: 10.25304/rlt. 27, 2124.
Mulvahill, E. (2018). 25 Alternative Assessment Ideas. Retrieved November 26, 2019, from https://www.weareteachers.com/alternative-assessment-ideas/.
Shreesha, M. & Tyagi, S. K. (2016). Does Animation Facilitate Better Learning in Primary Education? A Comparative Study of Three DifferentSubjects. Creative Education. 7, 1800-1809.
Vargo, J. (2017).10 Reasons to Use Animation in the Classroom. ASCD Guest Blogger Retrieved November 27, 2019, from https://inservice.ascd.org/10-reasons-to-use-animation-in-the-classroom/.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)