Empedocles ปราชญ์กรีกเมื่อ 2,450 ปีก่อนเคยแถลงว่า สรรพสิ่งในโลกประกอบด้วยธาตุ 4 ชนิด คือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ในอัตราส่วนต่าง ๆ กัน ความเชื่อนี้เป็นที่ยอมรับของผู้คนมานานนับสองพันปี จนกระทั่ง Robert Boyle ให้คำจำกัดความของธาตุว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแบ่งแยกโดยกระบวนการทางเคมีให้เล็กลงไปได้อีก ดังนั้นตามคำจำกัดความใหม่นี้ ความคิดของ Empedocles จึงผิด เพราะลมประกอบด้วยออกซิเจน ไนโตรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ ฯลฯ ส่วนน้ำประกอบด้วยออกซิเจนและไฮโดรเจน ดังนั้น น้ำ ลม จึงไม่ใช่ธาตุ
Glenn Seaborg
ที่มา : http://farm4.staticflickr.com/3552/3523829202_c32f7a5078_o.jpg
ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์เรียกหน่วยที่เล็กที่สุดของธาตุว่า อะตอม และรู้ว่าอะตอมของธาตุต่างกัน มีสมบัติที่แตกต่างกันและมีองค์ประกอบหลักคือ แกนกลางมีนิวเคลียสซึ่งประกอบด้วยโปรตอนกับนิวตรอน และมีอิเล็กตรอนที่โคจรรอบนิวเคลียส สำหรับไฮโดรเจนซึ่งเป็นธาตุที่เบาที่สุด เพราะอะตอมไฮโดรเจนมีนิวเคลียสที่ประกอบด้วยหนึ่งโปรตอน และมีหนึ่งอิเล็กตรอนโคจรโดยรอบ ส่วนนิวเคลียสของยูเรเนียมมี 92 โปรตอน กับ 146 นิวตรอน และมี 92 อิเล็กตรอน โคจรโดยรอบ
ตามปกตินักวิทยาศาสตร์นิยมใช้สัญลักษณ์นิวเคลียร์บอกจำนวนโปรตอนในนิวเคลียส และระบุชื่อธาตุโดยใช้สัญลักษณ์แทน และมีเลขกำกับข้างบน เช่น ใช้สัญลักษณ์ 1H โดยที่ H แทนไฮโดรเจน และเลข 1 แสดงจำนวนโปรตอนในนิวเคลียส ดังนั้นสัญลักษณ์ของยูเรเนียมจึงเป็น 92U ซึ่งแสดงว่า นิวเคลียสของยูเรเนียมมีโปรตอน 92 ตัว
ในสภาวะปกติ การจะพบธาตุในธรรมชาติที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียมเป็นเรื่องยาก เพราะเมื่อใดที่นิวเคลียสของธาตุมีโปรตอนมากกว่า 92 โปรตอน นิวเคลียสจะสลายตัวโดยการปล่อยอนุภาคแอลฟา และอนุภาคเบตาหรือรังสีแกมมาออกมา นั่นคือ นิวเคลียสจะไม่เสถียร แม้ว่าธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียมจะไม่เสถียร แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มีความมุ่งมั่นจะศึกษาและสังเคราะห์ธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียมขึ้นมา รวมถึงหาวิธีประยุกต์ใช้ธาตุใหม่เหล่านี้ และตลอดเวลา 80 ปีที่ผ่านมา ได้มีการค้นพบธาตุ neptunium 93 , plutonium 94, americium 95, curium 96, berkelium 97, californium 98, einsteinium 99, fermium 100, mendelevium 101, nobelium 102, lawrencium 103, rutherfordium 104, dubnium 105, seaborgium 106, bohrium 107, hassium 108, meitnerium 109 และ darmstadtium 110
โดยเฉพาะ darmstadtium ที่มีสัญลักษณ์ Ds นั้นเป็นธาตุที่ 110 เพราะนิวเคลียสของธาตุนี้มีโปรตอน 110 โปรตอน และได้รับการสังเคราะห์ในปี 2537 โดย Sigurd Hofmann แห่ง Laboratory for Heavy Ion Research ที่เมือง Darmstadt ในประเทศเยอรมนี จึงมีการตั้งชื่อธาตุตามชื่อของเมืองที่นักเคมีสังเคราะห์ได้เป็นครั้งแรก
บุคคลผู้มีบทบาทสำคัญที่สุดในการสังเคราะห์ธาตุใหม่ ๆ ที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียม คือ Glenn Theodore Seaborg
Seaborg เกิดเมื่อวันที่ 19 เมษายน ค.ศ.1912 ที่เมือง Ishpeming ในรัฐ Michigan ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นบุตรของ Herman และ Selma ในวัยเด็ก Seaborg ชอบเล่นกีฬาและดูภาพยนตร์ มารดาจึงสนับสนุนให้อ่านหนังสือ และสร้างนิสัยให้รู้จักเก็บวารสารตั้งแต่มีอายุได้ 8 ขวบ เพื่อจะได้นำกลับมาอ่านเวลาต้องการ Seaborg เข้าเรียนชั้นมัธยมที่ Jordan High School ที่เมือง Watts และสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนยอดเยี่ยม จากนั้นได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Ohio State จนได้รับปริญญาตรี เมื่ออายุ 22 ขณะที่ศึกษาอยู่ที่นั่น ศาสตราจารย์ที่สอนภาษาเยอรมัน ได้เชิญให้ Seaborg มาพบ Albert Einstein ประสบการณ์ที่เข้าพบครั้งนั้นทำให้ Seaborg ประทับใจมาก ยิ่งเมื่อได้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตน และวิธีการให้กำลังใจแก่นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ของ Einstein Seaborg ก็ได้นำประสบการณ์นี้มาใช้ในการฝึกนิสิตที่ตนสอนในเวลาต่อมา ขณะเรียนมหาวิทยาลัย Seaborg ได้ทำงานไปด้วย โดยรับจ้างเก็บผลไม้และเป็นผู้ช่วยในห้องปฏิบัติการเคมี
หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี Seaborg ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley และสำเร็จการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตเมื่ออายุ 25 ปี ด้วยวิทยานิพนธ์ เรื่อง การกระเจิงของนิวตรอนแบบไม่ยืดหยุ่น โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ Gilbert Newton Lewis จากนั้นได้เข้าทำงานเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley
ในปี 1941 Phil Abelson และ Edwin McMillan ได้พบธาตุ neptunium 93 ซึ่งมีมวลมากกว่า uranium 92 เพราะธาตุใหม่นี้ปล่อยรังสีเบตา โดยมีครึ่งชีวิตที่สั้นมาก Seaborg จึงวิเคราะห์เหตุการณ์นี้แล้วเสนอความเห็นว่า ธรรมชาติจะต้องมีธาตุใหม่ที่มีมวลมากกว่า neptunium และมีครึ่งชีวิตที่นานกว่า ซึ่งธาตุใหม่อาจเกิดจากการที่นิวเคลียสของ uranium ถูกระดมยิงด้วยนิวตรอน และเมื่อนิวเคลียสของ uranium รับนิวตรอนเข้าไป 2 ตัว นิวตรอนทั้ง 2 ตัว จะสลายตัวให้โปรตอน 2 ตัว กับ อิเล็กตรอน 2 ตัว และแอนตินิวทริโน 2 ตัว นิวเคลียสของธาตุใหม่จึงมีโปรตอนเพิ่มขึ้น 2 ตัว นั่นคือ ยูเรเนียม 92 ก็จะเป็น plutonium 94
เพื่อทดสอบการวิเคราะห์นี้ Seaborg ได้ขอใช้แหล่งกำเนิดนิวตรอน จากเตาปฏิกรณ์ปรมาณูที่ Hanford ในรัฐ Washington เพื่อระดมยิงยูเรเนียม ในที่สุดก็ได้พบธาตุใหม่คือ plutonium ซึ่งมีสมบัติเชิงเคมีแตกต่างจาก uranium มาก เช่น สามารถแยก Pu จาก 238U ได้ง่ายกว่าจะแยก 235U จาก 238U
แต่ความประเสริฐของ plutonium มีมากยิ่งกว่านั้น คือ เมื่อนิวเคลียสของ plutonium ได้รับนิวตรอนจะเกิดปฏิกิริยา fission ในทำนองเดียวกับ 235U และปลดปล่อยพลังงาน
Seaborg จึงพยายามผลิตธาตุ plutonium ให้ได้มากที่สุดเพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในการสร้างระเบิดปรมาณู ทั้ง ๆ ที่เป็นธาตุที่ไม่มีใครรู้จัก (ในขณะนั้น) และไม่มีใครรู้สมบัติทางเคมีของมันเลย
โครงการสร้าง plutonium ได้รับอนุมัติจากประธานาธิบดีสหรัฐให้ดำเนินการจนสำเร็จ ทำให้กองทัพสหรัฐฯ มีระเบิดปรมาณู 2 ลูก คือ ลูกที่ทำด้วย uranium และที่ทำด้วย plutonium เพื่อนำมาใช้ในการยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และกองทัพก็ได้นำออกใช้คราวละลูก เพื่อให้ญี่ปุ่นเข้าใจว่าสหรัฐฯ มีระเบิดปรมาณูหลายลูก โดยให้ระเบิดปรมาณูที่ทำจาก uranium 235 ทำลายเมือง Hiroshima และระเบิดปรมาณูที่ทำด้วย plutonium 94 ทำลายเมือง Nagasaki
ดังนั้น Seaborg จึงเป็นบุคคลสำคัญที่ได้สร้างระเบิดปรมาณูเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่สอง และเป็นคนที่ห้ามมิให้ประเทศใดฮึกเหิมจะเริ่มทำสงครามโลกครั้งที่สาม
นอกจากผลงานชิ้นสำคัญนี้แล้ว Seaborg ยังได้สร้างธาตุใหม่ ๆ อีกมากมาย เช่น ใช้อนุภาคนิวตรอนยิง plutonium ได้ธาตุ americium ใช้ไอออนฮีเลียมจากเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron ที่ Berkeley ยิง plutonium ได้ธาตุ curium ซึ่งธาตุต่อไปนี้ล้วนเป็นธาตุที่มีมวลมากกว่า uranium ทั้งสิ้น เช่น plutonium 94, americium 95, curium 96, californium 98, einsteinium 99, fermium 100, mendelevium 101, nobelium 102, seaborgium 106 และ darmstadium 110
Seaborg ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีร่วมกับ E. M. McMillan จากการสร้างธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียม (transuranic element)
ได้รับเหรียญ National Medal of Science ของสหรัฐอเมริกา
ได้รับรางวัล Nichols, Gibbs และ Parsons ของ AmericanChemical Society
ได้เป็นที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของประธานาธิบดีสหรัฐ 3 ท่าน
เป็นผู้อำนวยการขององค์การ Atomic Energy Commission 10 ปี
เป็นอธิการบดีของมหาวิทยาลัย California
มีครอบครัวที่มีลูก 6 คน
มีผลงานวิชาการตีพิมพ์กว่า 500 เรื่อง
เรียบเรียงหนังสือ 16 เล่ม
ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 50 ปริญญา
ชื่อ Seaborg ได้รับการใช้เป็นชื่อของธาตุที่ 106 ว่า seaborgium
Seaborg เสียชีวิตเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1999 ที่เมือง Lafayette ในรัฐ California สิริอายุ 86 ปี
หลังจากที่ Seaborg เสียชีวิตไปแล้ว การสร้างธาตุใหม่ก็ยังดำเนินต่อไป เพราะเทคโนโลยีการสังเคราะห์ธาตุใหม่เป็นระดับซูเปอร์ไฮ ดังนั้นโลกจึงมีห้องปฏิบัติการสำหรับเรื่องนี้เพียงไม่กี่แห่ง เช่น
1. Institute for Heavy Ion Research ที่ Darmstadt ในเยอรมนีหรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า GSI
2. Joint Institute for Nuclear Research ที่ Dubna ในรัสเซีย
3. Lawrence Berkeley National Laboratory ที่มหาวิทยาลัย California ที่ Berkeley ในสหรัฐอเมริกา
4. RIKEN Accelerator Laboratory ใกล้กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น
โดยทั่วไป ในการสร้างธาตุที่มีมวลมากกว่ายูเรเนียม นักวิทยาศาสตร์จะใช้วิธียิงกระสุน ซึ่งมักเป็นนิวเคลียสของธาตุเบา ให้พุ่งชนนิวเคลียสของธาตุหนักด้วยความเร็วที่เหมาะสม เพราะถ้ากระสุนมีความเร็วมากเกินไป นิวเคลียสที่เป็นเป้าจะถูกชนจนแตกกระจาย แต่ถ้ากระสุนที่ใช้ยิงมีความเร็วน้อยเกินไป นิวเคลียสทั้งที่เป็นเป้าและกระสุนจะมีแรงไฟฟ้าผลักกัน ทำให้นิวเคลียสสองนิวเคลียสไม่สามารถหลอมรวมเป็นนิวเคลียสหนักได้ ทั้งนี้เพราะนิวเคลียสทั้งสองต่างก็มีโปรตอนที่มีประจุบวกเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเกิดแรงผลักทางไฟฟ้ากันมาก
ในการหาพลังงานที่เหมาะสมของกระสุนเพื่อใช้ยิงให้หลอมรวมกับนิวเคลียสเป้าเป็นนิวเคลียสใหม่ เป็นเรื่องยุ่งยากมากเรื่องหนึ่งในการสร้างธาตุใหม่ นอกจากนั้นก็ยังมีความยุ่งยากอีกหลายประเด็น เช่น นักวิทยาศาสตร์พบว่าจากจำนวนนิวเคลียสกระสุนที่ใช้ยิงจำนวนนับล้าน ล้าน ล้านตัวนั้น มีนิวเคลียสกระสุนเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะหลอมรวมกับนิวเคลียสเป้าได้สำเร็จ นอกจากนี้นิวเคลียสของธาตุใหม่ที่เกิดขึ้นยังสลายตัวเร็วด้วย ดังนั้นเทคโนโลยีการตรวจจับและสังเกตผลิตผลที่ได้ จึงต้องว่องไว ละเอียดและรอบคอบอย่างสุด ๆ
ดังตัวอย่างการสังเคราะห์ธาตุ rutherfordium 112 ในปี 1991 โดยสถาบัน GSI ใช้นิวเคลียสของสังกะสี Zn (ธาตุที่ 30) เป็นกระสุนจำนวน 5 ล้านล้านล้านตัว ยิงนิวเคลียสตะกั่ว Pb (ธาตุที่ 82) กระสุนธาตุสังกะสีที่มีความเร็ว 112 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้พุ่งชนนิวเคลียสตะกั่วที่เป็นเป้า ทำให้เกิดนิวเคลียสของธาตุที่ 112 จำนวน 2 ตัว ซึ่งมีชีวิตอยู่ได้นานเพียง 0.0028 วินาทีเท่านั้นเอง
การทดลองสร้างธาตุใหม่ในอดีตได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อนิวเคลียสของธาตุมีจำนวนโปรตอนมากขึ้น (นักวิทยาศาสตร์เรียกจำนวนโปรตอนในนิวเคลียสว่า เลขเชิงอะตอม ดังนั้นในกรณี Ds ซึ่งมีโปรตอน 110 ตัวในนิวเคลียส เลขเชิงอะตอมของ Ds จึงเท่ากับ 110) ธาตุที่มีมวลมากขึ้น ๆ จะมีเวลาที่เสถียรลดลง ๆ ตัวอย่างเช่น ธาตุ Hs hassium 108 มีชีวิต 1 วินาที และธาตุ Rg rontgenium 111 ซึ่งมีมวลมากกว่า Hs มีชีวิตยืนนานเพียง 0.0015 วินาที เท่านั้นเอง
ถึงกระนั้นทฤษฎีควอนตัมฟิสิกส์ก็ทำนายว่า ธรรมชาติจะมีธาตุ X ที่นิวเคลียสของมันมีโปรตอน 114 ตัว และนิวตรอน 184 ตัวซึ่งจะเป็นธาตุที่เสถียรมาก คือ มีชีวิตอยู่ได้นานถึง 1 ล้านปี ซึ่งนับว่านานพอสำหรับการนำไปทำระเบิดชนิดใหม่ หรือประดิษฐ์วัสดุชนิดใหม่ หรือเป็นแหล่งพลังงานใหม่ และถ้าจะให้ดียิ่งกว่านั้น นักเคมีจะต้องพยายามสร้างธาตุที่ 126 ขึ้นมา ซึ่งนักทฤษฎีนิวเคลียร์ได้ทำนายไว้ว่าจะเสถียรยิ่งกว่าธาตุที่ 114 เสียอีก
ในวารสาร Physical Review C ฉบับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2004 Y. Oganessian แห่ง Joint Institute for Nuclear Research ที่เมือง Dubna ในรัสเซีย กับคณะนักวิทยาศาสตร์แห่ง Lawrence Berkeley National Laboratory ได้รายงานความสำเร็จในการสังเคราะห์ธาตุใหม่ 2 ธาตุ คือ ธาตุที่ 113 กับ 115 โดยได้ใช้นิวเคลียสของแคลเซียม ซึ่งมีโปรตอน 20 ตัว และนิวตรอน 28 ตัว เป็นกระสุนที่พลังงาน 248 Mev (Mev มาจากคำว่า million electron volt) ยิงนิวเคลียสของธาตุ americium ซึ่งมีโปรตอน 95 ตัว และนิวตรอน 148 ตัว ทำให้ได้นิวเคลียสของธาตุที่ 115 (115=20+95) 4 นิวเคลียส แต่นิวเคลียสนี้ได้สลายตัวให้ธาตุที่ 113 ภายในเวลา 0.083 วินาที โดยการปล่อยอนุภาคแอลฟาออกมา สำหรับเหตุการณ์นี้ ถ้า International Union of Pure and Applied Chemistry หรือ IUPAC เห็นพ้อง Yuri Oganessian ก็มีสิทธิ์ตั้งชื่อธาตุใหม่ที่เขากับคณะพบโดยอาจใช้ชื่อของนักเคมี นักฟิสิกส์หรือห้องปฏิบัติการที่มีชื่อเสียงก็ได้
ส่วนการตรวจสอบที่ว่า คณะนักวิจัยสามารถสังเคราะห์ธาตุที่ 115 และ 113 ได้หรือไม่นั้น IUPAC ต้องให้ห้องปฏิบัติการอื่นอีกหนึ่งหรือสองแห่ง ทำการทดลองเดียวกันนี้ซ้ำ เพื่อยืนยันว่าธาตุที่ 115 และ 113 มีสมบัติต่าง ๆ เหมือนดังที่คณะวิจัยภายใต้การนำของ Oganessian วัดได้ เช่น มีมวลหรือมีชีวิตอยู่ได้นานเท่ากัน แต่ถ้าผลการทดลองทั้งหลายแตกต่างกัน IUPAC ก็จะต้องให้นักวิทยาศาสตร์คณะที่ 3 เป็นคนประเมินว่า ผลการทดลองของฝ่ายใดถูกต้อง และถ้าพบว่าคณะวิจัยใดให้ข้อมูลเท็จหรือสร้างหลักฐานปลอม เพื่อจะได้ชื่อเสียงว่าพบธาตุใหม่ คณะนักวิจัยนั้นก็อาจถูกอัปเปหิออกจากวงการ ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมื่อ 2 ปีก่อนที่ Victor Ninov อ้างว่าคณะวิจัยของเขาสามารถสังเคราะห์ธาตุที่ 118 ได้ แต่การตรวจสอบในเวลาต่อมาทำให้โลกรู้ว่า Ninov ให้ข้อมูลเท็จ เขาจึงถูกไล่ออกจากสถาบันวิจัยทันที ในขณะที่นักทดลองกำลังมุ่งมั่นจะสร้างธาตุใหม่ นักฟิสิกส์ทฤษฎีก็กำลังใช้ทฤษฎีควอนตัมคำนวณว่าธาตุใหม่ ๆ จะเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขใดบ้าง เช่น ในกรณีการสร้างนิวเคลียสของธาตุที่มีโปรตอนและนิวตรอนรวมกันมากกว่า 220 อนุภาค นักวิทยาศาสตร์สมควรใช้นิวเคลียสของธาตุใดเป็นเป้าและเป็นกระสุน เพราะปฏิกิริยานิวเคลียร์ดังต่อไปนี้ ต่างก็ให้ธาตุที่มีจำนวนโปรตอนและนิวตรอนเป็น
ในปี 2002 D. J. Hinde กับคณะได้รายงานในวารสาร PhysicalReview Letters ฉบับที่ 89 ว่า ถ้านักทดลองใช้นิวเคลียสเป้ากับนิวเคลียสกระสุนที่มีขนาดแตกต่างกันมาก เช่น 16O กับ 204Pb การหลอมรวมเป็นธาตุใหม่จะเกิดขึ้นง่ายกว่าการใช้ 82Se กับ 138Ba เพราะถ้ากระสุนและเป้ามีขนาดแตกต่างกันมาก เป้าใหญ่จะสามารถกลืนกระสุนเล็กได้ดี แต่ถ้านิวเคลียสคู่กรณีมีขนาดไล่เลี่ยกัน การรวมนิวเคลียสจะเกิดขึ้นยาก
ทุกวันนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังประสบความสำเร็จในการค้นพบหรือสังเคราะห์ธาตุใหม่อยู่เรื่อย ๆ ทำให้ตารางธาตุ (periodic table) ที่ D. Mendeleev สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 1869 เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่โครงสร้างหลัก ๆ ของตารางก็ยังไม่เปลี่ยน แต่ในขณะเดียวกันความสำเร็จในการสร้างธาตุของนักวิทยาศาสตร์ที่ผ่านมา ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังมีอีกมาก เช่น เรายังไม่รู้ว่ามนุษย์จะธาตุใหม่ได้อีกกี่ธาตุ ตารางธาตุมีขนาดจำกัดหรือไม่ และสมบัติของธาตุใหม่ ในอนาคตจะทำให้ทฤษฎีควอนตัมที่เป็นสรณะของนักฟิสิกส์ทุกวันนี้ผิดพลาดหรือไม่
เหล่านี้คือปริศนาที่ต้องการเวลาและความมุ่งมั่นในการพิสูจน์แนวคิดของ Seaborg (อ่านเพิ่มเติมจาก Cathedrals of Science :The Personalities and Rivalries That Made Modern Chemistry โดย Patrick Coffey)
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 41 ฉบับที่ 184 กันยายน - ตุลาคม 2556
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Coffey, Patrick. (2008). Cathedrals of Science : The Personalities and Rivalries ThatMade Modern Chemistry. Oxford: Oxford University Press.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)