หลาย ๆ คนคงทราบและรู้จักกันดีอยู่แล้วว่า หู (Ear) เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าในการได้ยิน แต่จะรู้หรือไม่ว่า นอกจากการได้ยินแล้ว หูยังช่วยให้เราสามารถทรงตัว และเคลื่อนไหวทรงตัวได้อย่างปกติอีกด้วย ซึ่งหากเกิดความผิดปกติภายในหูก็อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการที่เรียกกันตามภาษาชาวบ้าน ๆ ว่าบ้านหมุนนั่นเอง ซึ่งเราจะมาดูกันว่าโครงสร้างของ “หู” ประกอบด้วยอะไรบ้าง และแต่ละส่วนทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร และส่งผลต่อการทรงตัวของเราอย่างไร
ภาพโครงสร้างอวัยวะภายในหูของมนุษย์
ที่มา https://th.m.wikipedia.org/wiki/ไฟล์:Anatomy_of_the_Human_Ear.svg , Lars Chittka; Axel Brockmann
หู เป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน และการทรงตัว ทำงานด้วยพลังงานกลและพลังงานไฟฟ้า (Mechanic and Electrical Impulse) ซึ่งจะส่งกระแสประสาทไปสู่สมองโดยตรง ทำให้การได้ยินและการทรงตัวเป็นไปอย่างอัตโนมัติ เมื่อใดก็ตามที่มีอารการผิดปกติของหูข้างใดข้างหนึ่ง ก็จะส่งผลกระทบต่อการได้ยิน เช่น มีอาการหูอื้อ หูหนวก หรือไม่สามารถทรงตัวได้ เมื่อเคลื่อนไหวก็จะเกิดอาการโคลงเคลง บ้านหมุน จนทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ดังนั้นหูจึงเป็นอวัยวะที่มีความสำคัญมากกับมนุษย์นั่นเอง
หู และการได้ยิน มีผลต่อการทรงตัวอย่างไร?
ถึงแม้ว่าในหูชั้นในจะมีอวัยวะที่ทำหน้าสำคัญในการรับรู้ตำแหน่งของศีรษะและร่างกาย ซึ่งมีผลและจำเป็นอย่างมากต่อระบบการทรงตัว แต่ระบบการได้ยินและระบบการทรงตัวนั้นทำงานแยกจากกัน ระบบการได้ยินซึ่งประกอบไปด้วยเยื่อแก้วหู (Tympanic membrane) และกระดูกขนาดเล็กทั้ง 3 ชิ้นได้แก่ ค้อน(Malleus) ทั่ง (Incus) โกลน (Stapes) จะวางตัวอยู่ในหูชั้นกลาง (Middle ear) ในขณะที่อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการทรงตัวจะวางตัวจะอยู่ในหูชั้นใน จึงจะสังเกตได้ว่าผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จะไม่ได้มีปัญหาด้านการทรงไปตัวด้วยนั่นเอง
การทรงตัว หรือภาวะสมดุลของการทรงตัว
การทรงตัว หรือภาวะสมดุลของการทรงตัว ซึ่งทำให้คนเราสามารถนั่ง นอน ยืน เดิน วิ่ง ปฏิบัติ กิจวัตรประจำวัน และปฏิบัติกิจกรรมนอกเหนือจากกิจวัตรประจำวัน เช่น การเล่นกีฬา ว่ายน้ำ ขับรถและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นเรื่องเฉพาะตัวได้อย่างปกตินั้น แต่ต้องอาศัยกลไกของการทรงตัวหลายๆอย่างทำงานประสานกันอย่างสมดุล ได้แก่ การรับรู้สภาวะแวดล้อมจากสายตา (vision) การรับรู้แรงถ่วงของร่างกาย ผ่านกล้ามเนื้อข้อต่อของร่างกาย แขน ขา และกระดูกสันหลัง (kinesthetic) และโดยเฉพาะการรับรู้การเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของศีรษะผ่านทางประสาททรงตัวในหูชั้นในทั้ง 2 ข้าง (vestibular end-organ) โดยการทำงานของระบบรับรู้ทั้งสามนี้ จะต้องประสานกันอย่างสมดุล และส่งสัญญาณไปสู่ศูนย์รับและประมวลผลข้อมูลในสมองส่วนกลางนั่นเอง
การสูญเสียสมรรถภาพของการทรงตัวอย่างถาวรเป็นผลจากความผิดปกติของอะไรก็ตาม ที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะแบบหมุน หรือการเสียสมดุลของการทรงตัวมีกลไกการควบคุมการทรงตัวมี 3 ประการ คือ สายตา (vision) แรงดึงและดัน และแรงสัมผัสของ ร่างกาย (kinesthetic และ proprioceptive sense) และระบบทรงตัวในหูชั้นในจะมีความสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของลูกตาเป็นอัตโนมัติ (vestibulo-ocular reflex) ดังนั้น การตรวจวัดสมดุลของระบบทรงตัว จึงอาจตรวจระบบสัมพันธ์อันใดอันหนึ่งหรือหลายอันก็ได้
การสูญเสียสมรรถภาพถาวรของระบบทรงตัวสามารถเกิดขึ้นจากการมีความผิดปกติของระบบการทรงตัวในหูชั้นใน (labyrinthine) และเครือข่ายเชื่อมโยงของสมอง การสูญเสียสมรรถภาพปรากฏได้ โดยการเสียสมดุลของการทรงตัวแบ่งเป็น
สูญเสียหน้าที่ทรงตัวของหูชั้นใน
การแปรปรวนของหน้าที่ทรงตัวของหูชั้นใน
สรุปว่าที่กล่าวว่า หูมีความเกี่ยวข้องกับการทรงตัวนั่นก็เพราะว่าหูเป็นอวัยวะสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนเราสามารถทรงตัวอยู่ได้คือ เซมิเซอร์คิวลาร์ คาแนล (semicircular canal) ในหู ซึ่งภายในมีของเหลวที่ไวต่อการกระตุ้น ของเหลวนี้จะทำหน้าที่ในการรับรู้สมดุล หากเราหมุนไปรอบๆ ตัวเร็วๆ หลายๆ ครั้ง จะทำให้อวัยวะนี้เกิดความสับสน เราจึงรู้สึกเวียนศีรษะ ดังนั้น เวลาที่มีคนเป็นโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน จึงมักเห็นว่าคนเหล่านั้นมักมีอาการเดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ให้เห็นบ่อยๆ นั่นเอง
แหล่งที่มา
การตรวจระบบการทรงตัว.สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563, จาก https://med.mahidol.ac.th/commdis/th/article/audio/posturo_th
William Morrison, MD. (2019, 23 Aug). What Causes Poor Balance?. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563, จาก https://www.healthline.com/health/balance-problems
Zara Jethani. (2019, 22 Nov). 5 Things About Hearing and Balance. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2563, จาก https://www.pacificneuroscienceinstitute.org/blog/eye-ear/5-things-about-hearing-and-balance/
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)