เมื่อเวลาฝนตก หลายคนคงตั้งตารอคอยความสวยงามจากปรากฏการณ์ธรรมชาติในชั้นบรรยากาศของโลก ยามที่ฝนตก นั่นก็คือ รุ้ง (Rainbow) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติประเภทหนึ่งที่เรามักพบเห็นหลังช่วงเวลาฝนตกอยู่เสมอ รุ้งเกิดจากอะไร หลายคนที่พบเห็นรุ้งอาจสงสัย บทความนี้จะมาไขปริศนาให้ทราบกัน
ภาพที่ 1 ภาพรุ้ง
https://pixabay.com ,Free-Photos
รุ้ง เกิดจากแสงที่ส่องจากดวงอาทิตย์ ส่องผ่านละอองน้ำในชั้นบรรยากาศโลกหรือในอากาศนั่นเอง ทำให้เกิดการหักเหในระดับสายตาที่มุมองศา 40° - 42° กรณีที่แสงอาทิตย์ทำมุมกับหยดน้ำแล้วหักเหเป็นมุม 40° จะทำให้เรามองเห็นแสงเป็นสีม่วง แต่ถ้าแสงอาทิตย์ทำมุมกับหยดน้ำแล้วหักเหเป็นมุม 42° เราก็จะมองเห็นแสงเป็นสีแดง ซึ่งรุ้งที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วละอองน้ำในอากาศจะหักเหแสงอาทิตย์ทำให้เกิดแถบสเปกตรัมเป็นเส้นอาร์ควงกลมเหนือพื้นผิวโลก จึงเห็นเป็นแถบสีต่าง ๆ ปรากฏขึ้นบนท้องฟ้า
ในทางทฤษฎีเราอาจสรุปและอธิบายได้ว่า รุ้งเกี่ยวข้องกับการกระจายของแสง จากแสงแดดตกกระทบหยดน้ำ แล้วหักเหเข้าไปในหยดน้ำเนื่องจากมีการเคลื่อนที่ผ่านตัวกลางที่มีความหนาแน่น โดยแสงสีน้ำเงินจะหักเหมากกว่าแสงสีแดงจนเกิดการกระจายของแสง แล้วสะท้อนภายในหยดน้ำ เนื่องจากผิวภายในของหยดน้ำ มีความโค้งและผิวคล้ายกระจก ทำให้หักเหออกมาจากหยดน้ำ และกระจายแสงในลักษณะคล้ายกันกับเมื่อเราทดลองนำแสงลอดผ่านปริซึม ซึ่งจะแยกออกเป็นสเปกตรัม 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง
รุ้งสามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ รุ้งปฐมภูมิ และ รุ้งทุติยภูมิ ซึ่งมีลักษณะที่แตกต่างกัน ดังนี้
รุ้งปฐมภูมิ (Primary Rainbow)
จะเกิดจากแสงอาทิตย์ตกกระทบเข้ามาทางด้านบนของหยดน้ำ แล้งหักเหเข้าไปในหยดน้ำทำให้เกิดการกระจายของแสง และเกิดการสะท้อนแสงที่ผิวด้านในของหยดน้ำ และหักเหออกจากหยดน้ำสู่อากาศ ลักษณะรุ้งที่เกิดขึ้นจะมีสีม่วงอยู่ด้านล่างมีสีแดงอยู่ด้านบน ซึ่งเราจะมองเห็นแถบสีไล่จากม่วงไปแดง โดยแสงสีแดงอยู่สูงสุดลักษณะของรุ้งปฐมภูมิแบบนี้ จะทำมุม 40° - 42.5° กับแนวรังสีตกกระทบหยดน้ำ
รุ้งทุติยภูมิ (Primary Rainbow)
จะเกิดจากแสงอาทิตย์ตกกระทบเข้ามาทางด้านล่างของหยดน้ำ แล้วหักเหเข้าไปในหยดน้ำทำให้เกิดการกระจายของแสง และเกิดการสะท้อนที่ผิวด้านในของหยดน้ำ 2 ครั้ง และหักเหออกจากหยดน้ำสู่อากาศ ลักษณะรุ้งที่เกิดขึ้นจะมีสีแดงอยู่ด้านล่างมีสีม่วงอยู่ด้านบน ซึ่งเราจะมองเห็นแถบสีไล่จากแดงไปม่วง โดยแสงสีม่วงอยู่สูงสุด ลักษณะของรุ้งทุติยภูมิแบบนี้ จะทำมุม 51° - 54° กับแนวรังสีตกกระทบหยดน้ำ
ทั้งนี้โดยปกติ แสงอาทิตย์หรือรังสีที่ตามองเห็น (Visible light) มีความยาวคลื่น 400 - 800 นาโนเมตร โดยที่แสงสีม่วงมีความยาวคลื่นสั้นที่สุดคือประมาณ 380-440 นาโนเมตร และแสงสีแดงมีความยาวคลื่นมากที่สุดคือประมาณ 625-740 นาโนเมตร สีอื่น ๆ ก็จะมีความคลื่นยาวแตกต่างกันออกไป แต่ที่เราสามารถมองเห็นได้ก็จะอยู่ในช่วง ความยาวคลื่น 400 - 800 นาโนเมตร ดังกล่าว โดยในการเกิดรุ้งทั้ง 2 แบบ แสงที่หักเหออกจากหยดน้ำ จะมีสเปกตรัมของแสงครบทุกสี แต่จะมีแสงสีแดงสีเดียวที่ผ่านเข้าตา แสงสีอื่นจะผ่านเลยไป หรือถ้าแสงสีม่วงเข้าตา แสงสีอื่น ๆ จะผ่านเลยไป ซึ่งหยดน้ำในอากาศมีมากมาย จึงให้สเปกตรัมของแสงครบทุกสี จึงทำให้เราสามารถมองเห็นรุ้งเป็นสีต่าง ๆ
ภาพที่ 2 รุ้งในบริเวณน้ำพุ
ที่มา สุภัตรา ทรัพย์อุปการ
รุ้งเกิดขึ้นที่ไหนและตอนไหน
เราสามารถมองเห็นรุ้งได้ในช่วงหลังฝนตก และมีแดดออก เนื่องจากเป็นช่วงที่มีละอองน้ำในอากาศและมีแสงอาทิตย์ส่องมาจากด้านหลังของเราในมุมที่สูงจากพื้นไม่มาก การสังเกตควรอยู่ในที่พื้นที่สว่างซึ่งมีแสงส่องจากดวงอาทิตย์ โดยที่รุ้งจะปรากฏอยู่ด้านตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ หรือในบางครั้งเราอาจมองเห็นรุ้งได้ง่าย ๆ โดยไม่ต้องรอฝนตก นั่นก็คือ การดูรุ้งจากบริเวณบริเวณใกล้กับน้ำตกหรือน้ำพุ หรืออาจสร้างขึ้นเองก็ได้ด้วยวิธีการพ่นละอองน้ำไปในอากาศกลางแสงแดด นอกจากนี้ ยังมีรุ้งอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า moonbow ในคืนที่แสงจันทร์มีความสว่างมาก ๆ ได้ด้วยเช่นเดียวกัน แต่อาจไม่ชัดเจนนัก
แหล่งที่มา
รุ้ง. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก http://sci4fun.com/skyobserve/rainbow.html
รุ้งกินน้ำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/phenomenon/rainbow
รุ้งกินน้ำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก http://www.rmutphysics.com/charud/virtualexperiment/virtual2/rainbow/rainbow.html
รุ้งกินน้ำปรากฏการณ์ในชั้นบรรยากาศโลก . สืบค้นเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562. จาก http://www.narit.or.th/index.php/astro-photo-article/2590-rainbow-atmosphere
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)