รถเด็กเล่นกับพลังงานที่ซ่อนอยู่
ถ้าถามถึงของเล่นในวัยเด็กของใครหลาย ๆ คน คงไม่มีใครไม่รู้จัก รถเด็กเล่น ในลักษณะที่เรียกว่า “รถเข็นถอยหลังวิ่ง” (Pullback Car) ซึ่งพบเห็นมากมายตามร้านของเล่นตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน อยากรู้หรือไม่ว่า มันทำงานโดยใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อย่างไรบ้าง
ภาพที่ 1 รถของเล่น
ที่มา Gustavo_Belemmi / Pixabay
เจ้ารถของเล่นชนิดนี้ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ถ้ามีลักษณะที่ว่า เราต้องใช้มือจับแล้วเข็นมันถอยหลัง และปล่อยมือออกจากตัวรถ รถจะเคลื่อนที่ไปข้างหน้า นี่คือลักษณะการเล่นของเจ้า Pullback Car ซึ่งเป็นขั้นตอนการเล่นที่ง่าย ๆ แทบไม่ต้องฝึกฝนหรือเรียนรู้อะไรเลย
แต่ที่น่าสนใจไปกว่าวิธีการเล่น คือหลักการทำงานที่น่าสนใจว่าด้วยเหตุผลเริ่มต้นคือ รถดังกล่าวเคลื่อนที่โดยอาศัยพลังงาน ซึ่งก็เป็นการดีที่เราจะใช้ของเล่นนี้เป็นสื่อในการสอนวิทยาศาสตร์ในเรื่องของพลังงาน
เราสามารถจำแนกพลังงานตามลักษณะการทำงานได้ 3 แบบดังนี้
- พลังงานศักย์ (Potential Energy)
- พลังงานจลน์ (Kinetic Energy)
- พลังงานสะสม (Stored Energy)
ซึ่งในกระบวนการเล่นของเจ้ารถชนิดนี้ มีหลักการเกี่ยวกับพลังงานที่น่าสนใจดังนี้
การเคลื่อนที่ของวัตถุใด ๆ ต้องได้พลังงานในการขับเคลื่อน การเคลื่อนของรถเด็กเล่นเริ่มต้นที่ต้องใช้มือจับเพื่อเข็นลากถอยหลังออกมา ซึ่งในขั้นตอนนี้ทำให้เกิดพลังงานศักย์ (Potential Energy) คือเมื่อวัตถุถูกวางอยู่ในตำแหน่งที่สามารถ เคลื่อนที่ได้ไม่ว่าจากแรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดจากแม่เหล็ก
เนื่องจากการถอยหลังในล้อหลังที่มีกลไกเชื่อมต่อกับฟันเฟืองภายในรถ ฟันเฟืองดังกล่าวที่มีอยู่หลายชิ้นจะไปหมุนสปริงก้นหอย ทำให้ปริงก้นหอยหดตัวหมุนเข้าไป พลังงานศักย์ที่เกิดขึ้นจะสะสมอยู่ภายในสปริงก้นหอย เมื่อปล่อยมือ สปริงก้นหอยที่หมุนขดตัวเข้าไปจะคลายตัวออกมา ในขณะที่คลายตัวออกมาจะไปหมุนเฟืองอีกครั้ง ซึ่งทำให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ การเคลื่อนที่ของรถตรงจุดนี้เคลื่อนที่ไปด้วยพลังงานจลน์ (Kinetic Energy) คือ พลังงานที่เกิดขึ้นเมื่อวัตถุเคลื่อนที่
ในขณะเดียวกันพลังงานกลก็เป็นพลังงานสะสม คือ เป็นพลังงานที่เก็บสะสมในวัตถุ หรือ สิ่งของต่าง ๆ ในวัตถุกำลังเคลื่อนที่หรือพร้อมจะเคลื่อนที่ ซึ่งพลังงานดังกล่าว จะถูกเก็บไว้ในรูปขององค์ประกอบทางเคมีหรือของวัสดุหรือสิ่งของนั้น ๆ และจะถูกปล่อยออกมาเมื่อวัสดุหรือสิ่งของดังกล่าวมีการเปลี่ยนรูป ซึ่งสามารถเรียกรวมระหว่างพลังงานศักย์และพลังงานจลน์ได้ และในกรณีที่เราปล่อยรถจากที่สูงเหนือพื้นดินก่อนปล่อย ก็จะเกิดพลังงานศักย์โน้มถ่วงซึ่งเกิดจากแรงดึงดูดของโลก
และในโอกาสต่อไป จะนำเรื่องราวเกี่ยวกับรถของเล่นในอีกรูปแบบหนึ่งมาให้ได้อ่านกันคือ รถของเล่นไฟฟ้า
แหล่งที่มา
พลังงาน. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2560, จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/พลังงาน
พลังงานศักย์ พลังงานจลน์ พลังงานกล. สืบค้นเมื่อ 2 ธันวาคม 2560, จาก
http://www.seal2thai.org/sara/sara249.htm
-
7806 รถเด็กเล่นกับพลังงานที่ซ่อนอยู่ /article-physics/item/7806-2017-12-19-01-57-18เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง