ทำความรู้จักกับ Lesson Study
ทำความรู้จักกับ Lesson Study
โกสุม กรีทอง นักวิชาการ สาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา สสวท.
แนวปฏิบัติของ Lesson Study อันมีกระบวนการปรับปรุงการสอนอย่างต่อเนื่อง ถือกำเนิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 โดยมีจุดมุ่งหมายคือช่วยให้ครูญี่ปุ่น ซึ่งแต่เดิมต่างคนต่างสอนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการสอนจากครูผู้สอนในประเทศตะวันตก ปัจจุบัน Lesson Study เป็นรูปแบบของการพัฒนาครูที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ระบบโรงเรียนประถมศึกษาในญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาการสอนในชั้นเรียน
กระบวนการของ Lesson Study โดยทั่วไปประกอบด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้
(1) Problem Identification กำหนดประเด็นที่จะสอน ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักเรียน
(2) Class planning วางแผนการสอน โดยเน้นที่นักเรียนและครูเป็นสำคัญ
(3) Class implementation นำแผนการสอนไปใช้ โดยเน้นบทเรียนที่ส่งเสริมการเรียนรู้และกระบวนการคิดของนักเรียน และแก้ไขความเข้าใจคลาดเคลื่อน
(4) Class evaluation and review of result ประเมินผลบทเรียนว่าส่งผลต่อการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างไร และร่วมกันอภิปรายสะท้อนความคิด
(5) Reconsideration of class ปรับปรุงบทเรียนโดยอาศัยข้อมูลที่รวบรวมได้
(6) Implementation base on reconsideration นำแผนการสอนที่ปรับปรุงแล้วมาสอนนักเรียนกลุ่มอื่น
(7) Evaluation and review ประเมินผลบทเรียนและร่วมกันอภิปรายสะท้อนความคิดเกี่ยวกับบทเรียน
(8) Share result นำผลที่ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน
กระบวนการของ Lesson Study นำเสนอในรูปแผนภาพได้ดังนี้
Lesson Study ในประเทศญี่ปุ่น
Lesson Study มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาครูในประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของการศึกษามวลชนของญี่ปุ่นมากว่าสองร้อยปีแล้ว เหตุผลที่ Lesson Study ได้รับความนิยมอาจเป็นเพราะ Lesson Study ทำให้ครูผู้สอนได้มีโอกาส
(1) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติในการสอน
(2) ปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้
(3) เรียนรู้ที่จะพิจารณาแนวปฏิบัติของตนจากมุมมองของเด็ก
(4) ได้รับการสนับสนุนช่วยเหลือจากเพื่อนครู
นอกจากนี้ ลักษณะต่อไปนี้ของ Lesson Study ทำให้ Lesson Study แตกต่างจากโปรแกรมการพัฒนาครูทั่วไป
(1) Lesson Study เปิดโอกาสให้ครูได้มองเห็นการสอนและการเรียนรู้ในชั้นเรียนอย่างเป็นรูปธรรม ครูร่วมกันอภิปรายเกี่ยวกับการวางแผนการสอน การทำแผนการสอนไปใช้ การสังเกตการสอน และสะท้อนความคิดเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในชั้นเรียน การที่ได้สังเกตการสอนจริงในชั้นเรียน ทำให้ครูได้เข้าใจและเห็นภาพว่าการสอนที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเข้าใจในสิ่งที่ตนกำลังเรียนได้ดียิ่งขึ้น
(2) นักเรียนเป็นหัวใจสำคัญของโปรแกรมพัฒนาครู ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ครูได้ศึกษา วิเคราะห์การกระบวนการเรียนรู้และความเข้าใจของนักเรียนผ่านทางการสังเกตการสอนและการอภิปรายเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการสอน
(3) Lesson Study นำโดยครู Lesson Study ทำให้ครูได้มีบทบาทสำคัญในการก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการสอนและการพัฒนาหลักสูตร
Lesson Study ในแง่ของการวิจัยของครู
Lesson Study เป็นรูปแบบของการวิจัยที่เปิดโอกาสให้ครูได้เป็นตัวหลักในการศึกษาวิเคราะห์แนวปฏิบัติในการสอนในชั้นเรียนของตนเอง และเป็นผู้ที่สามารถคิดได้ด้วยตนเอง เป็นนักวิจัยการสอนและการเรียนรู้ในชั้นเรียนตลอดชีวิต Lesson Study มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาหลักสูตร หนังสือเรียน และสื่อการเรียนรู้ในประเทศญี่ปุ่น ผู้จัดทำหนังสือเรียนคณิตศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นโดยส่วนใหญ่จะจ้างครูผู้สอนที่ทำ Lesson Study มาเขียนหนังสือเรียน นอกจากนี้ครูชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ Lesson Study ซึ่งจะเล่าถึงประสบการณ์ในการทำ Lesson Study และแผนการสอนที่นำไปใช้กับนักเรียน รวมถึงข้อสมมติฐานและสะท้อนความคิด/มุมมองเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้ในชั้นเรียน หนังสือเหล่านี้หาซื้อได้ในร้านหนังสือชั้นนำทั่วไป หนังสือเกี่ยวกับ Lesson Study เหล่านี้ช่วยให้ครูได้แนวคิดใหม่ ๆ สำหรับการสอนและเข้าใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ของนักเรียน
Lesson Study กับการพัฒนาการสอนของครู
Lesson Study ประกอบด้วยคุณลักษณะที่นักวิจัยพบว่ามีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครู เช่น การใช้สื่อของจริงเพื่อช่วยให้นักเรียนเรียนรู้การแก้ปัญหาอย่างมีความหมาย การที่ครูได้วิพากษ์เกี่ยวกับการสอน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การที่ครูได้มีเครือข่ายสนับสนุนทางวิชาการภายในโรงเรียน ในขณะเดียวกัน Lesson Study หลีกเลี่ยงลักษณะอันไม่พึงประสงค์ที่พบในโปรแกรมการพัฒนาครูทั่วไป เช่น เป็นการอบรมระยะสั้นไม่ต่อเนื่อง จัดทำโดยบุคคลภายนอกองค์กร และไม่ได้ปรับให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนและความต้องการของครู
องค์ประกอบสำคัญของการทำ Lesson Study คือ “the research lesson” ซึ่งกลุ่มของผู้สอนร่วมกันเตรียมแผนการสอนของบทเรียนหนึ่ง จากนั้นนำแผนการสอนนั้นไปสอนในชั้นเรียน โดยมีทีม Lesson Study และบุคลากรทางการศึกษาอื่น ๆ เข้าร่วมสังเกตการสอน หลังจากนั้น จะมีการอภิปรายหลังการสอนเพื่อวิเคราะห์การสอนบทเรียนนั้น The research lesson จะช่วยให้ครูสนใจกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในบทเรียน อีกทั้งเป็นโอกาสที่ครูจะได้รวบรวมข้อมูลจากการสอนตามแผนการสอนที่ทีม Lesson Study ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น ระหว่างการอภิปรายหลังการสอน ครูร่วมกันพิจารณาข้อมูลเพื่อ
(1) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดทางการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับแนวปฏิบัติในการสอน
(2) แบ่งปันความคิดและปรับเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการสอนและการเรียนรู้
(3) พิจารณาการสอนจากมุมมองของนักเรียน
(4) แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเพื่อนครูด้วยกัน
Lesson Study กับการสอนคณิตศาสตร์
การนำ Lesson Study มาใช้ในการสอนคณิตศาสตร์ จะมีจุดเน้นต่อไปนี้
- การคิดทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Thinking) ในกระบวนการ Lesson Study ขณะที่ครูกำลังพิจารณาสื่อการเรียนรู้ หนึ่งในหัวใจสำคัญคือการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ดังนั้นครูจะต้องศึกษาวิธีการตั้งคำถามที่จะช่วยส่งเสริมการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน นอกจากนี้ครูยังวิเคราะห์ผลของจำนวนที่เลือกใช้ในโจทย์ที่มีต่อกระบวนการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน
- การแก้ปัญหา (Problem Solving) ในการสอนผ่านการแก้ปัญหา ครูจะต้องมีความชัดเจนว่าต้องการให้นักเรียนเข้าใจอะไร และช่วยส่งเสริมให้นักเรียนพัฒนาความเข้าใจโดยต่อยอดจากสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้มาแล้ว
- การใช้คำถามของครู (Teachers’ Questioning) การใช้คำถามของครูมีผลต่อการคิดทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน ดังนั้นประเด็นหลักในการประชุมเพื่อวางแผนการสอนในกระบวนการ Lesson Study ก็คือจะตั้งคำถามอย่างไรในกิจกรรมการเรียนรู้หลักของบทเรียน ตัวอย่างเช่น สมมติว่า ต้องการให้นักเรียนหาพื้นที่ของรูปตัวแอล แทนที่ครูจะสอนให้นักเรียนหาพื้นที่ของรูปที่กำหนด ครูอาจจะพูดว่า
“เรามาช่วยกันคิดวิธีต่าง ๆ ที่เราจะคำนวณหาพื้นที่ของรูปนี้กันเถอะ”
“เรามาช่วยกันคำนวณหาพื้นที่ของรูปนี้โดยใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาแล้วกันเถอะ”
“เรามาช่วยกันคิดว่าเราจะใช้สูตรการหาพื้นที่รูปสี่เหลี่ยมมุมฉากในการหาพื้นที่รูปนี้อย่างไร”
ครูสังเกตว่านักเรียนทำอย่างไรเมื่อครูใช้คำถามเหล่านี้ เพื่อประเมินว่าคำถามที่ใช้นั้นเหมาะสมหรือมีประสิทธิภาพหรือไม่
- การเขียนบนกระดาน (Board Writing) การเขียนบนกระดานเป็นส่วนสำคัญของการศึกษาคณิตศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่น จากการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างญี่ปุ่นกับอเมริกาพบว่า การเขียนบนกระดานในญี่ปุ่นกับในอเมริกานั้นต่างกันอย่างชัดเจน ในประเทศญี่ปุ่น จุดประสงค์ของการเขียนกระดานนั้นมีหลายประการ เช่น เป็นที่สำหรับให้นักเรียนได้แสดงวิธีคิด สำหรับสรุปแนวคิดสำคัญ หรือเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการเขียนลงสมุด
- การจดบันทึก (Note Taking) ทักษะการจดบันทึกที่ดีนั้นเป็นทักษะที่สำคัญ ครูต้องช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ว่าการจดบันทึกที่ดีนั้นเป็นอย่างไร ทักษะดังกล่าวจะทำให้นักเรียนได้มีบันทึกของบทเรียนที่ได้เรียนไป และรู้ว่าได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง
- การส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายในชั้นเรียน (Facilitating a Whole-Class Discussion) การอภิปรายในชั้นเรียนถือว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดสำหรับบทเรียนที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหา ระหว่างการอภิปรายนักเรียนได้วิเคราะห์ เปรียบเทียบความคล้ายและความแตกต่างระหว่างแนวคิดต่าง ๆ การร่วมกันสะท้อนความคิดจะช่วยให้นักเรียนได้สื่อสารทางคณิตศาสตร์มากขึ้นอีกทั้งช่วยพัฒนาให้เกิดความเข้าใจใหม่ ๆ ทางคณิตศาสตร์ ครูต้องวางแผนว่าจะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการอภิปรายในชั้นเรียนอย่างไร โดยครูจะต้องคาดการณ์ว่าวิธีการใดบ้างที่นักเรียนจะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา ลำดับการนำเสนอแนวคิดของนักเรียนจะเป็นอย่างไร และกลยุทธ์ใดที่ครูควรจะต้องเน้นเป็นพิเศษ
โครงการ Lesson Study ในประเทศไทย
โครงการ Lesson Study ในประเทศไทยเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2544 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของครู โดยในปี พ.ศ. 2549 ศูนย์วิจัยคณิตศาสตรศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พยายามที่จะนำ Lesson Study ไปใช้กับโรงเรียน 4 โรงเรียนในจังหวัดขอนแก่น ได้แก่ โรงเรียนคูคำพิทยาสรรพ์ โรงเรียนชุมชนบ้านชนบท โรงเรียนบ้านบึงเนียมหนองใคร่นุ่น โรงเรียนหนองตูมหนองงูเหลือม โดยเริ่มจากชั้น ป. 1 และป. 4 ก่อนจะขยายไปสู่ชั้นป. 2 และป. 5 ต่อไป สำหรับในปีนี้ได้ขยายโครงการโดยครอบคลุม 19 โรงเรียนใน 12 จังหวัด (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 8 จังหวัด และภาคเหนือ 4 จังหวัด)
จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนมีเจตคติที่ดีต่อการเรียนคณิตศาสตร์ที่ใช้วิธี Lesson Study นักเรียนแสดงออกถึงความมีเหตุผล ความมีทักษะในการสังเกต ใจเย็น การเรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน และมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะถามว่า “ทำไม” และ “เป็นไปได้อย่างไร”
ที่มา :
- Human Resources Development Working Group. Lesson Study Overview. Available online at url http://hrd.apec.org/index.php/Lesson_Study_Overview Assessed 22 Mar 10
- Isoda, Masami. Lesson Study for Developing Students for/by Learning by Ourself. A lecture on February 18, 2010 in Fourth APEC - Tsukuba International Conference: Innovation of Mathematics Teaching and Learning through Lesson Study - Connection between Assessment and Subject Matter. At Tsukuba University, Tokyo Japan.
- Triratanasirichai, Kittichai. How can we evaluate the achievement of lesson study? Case study on Thailand. A presentation on February 20, 2010 in Fourth APEC - Tsukuba International Conference:Innovation of Mathematics Teaching and Learning through Lesson Study - Connection between Assessment and Subject Matter. At United Nation University, Tokyo Japan.
-
606 ทำความรู้จักกับ Lesson Study /index.php/article-mathematics/item/606-lesson-studyเพิ่มในรายการโปรด