...หินทีวี...
กมลวรรณ เเสนบุญรัตน์
เมื่อกล่าวถึงหิน หลายท่านคงคุ้นเคยกับก้อนหินที่ทึบแสงไม่สามารถมองทะลุผ่านไปได้ แต่อีกหลายท่านอาจจะนึกถึงหินบางชนิดที่มีความโปร่งใสสามารถมองทะลุผ่านไปเห็นสิ่งที่อยู่ด้านหลังได้ แต่หินทีวีแตกต่างจากหินชนิดอื่นที่กล่าวมา แต่จะแตกต่างอย่างไร ลองสังเกตจากภาพ
ภาพจาก http://storage.kanshin.com/free/img_17/172768/1363269702.jpg
ถ้าสังเกตดี ๆ จะพบว่าภาพที่เห็นไม่ได้เป็นภาพที่ได้จากการมองทะลุหินลงไป แต่เป็นภาพที่ลอยอยู่ด้านบนของหิน นอกจากนี้ภาพที่ปรากฏยังมีขนาดและสีสันเหมือนกับของจริงที่อยู่ด้านล่างทุกประการไม่ได้เป็นภาพที่เกิดจากการย่อหรือขยายเหมือนกับที่เราเห็นจากเลนส์เว้าหรือเลนส์นูน ซึ่งลักษณะเฉพาะตัวที่เหมือนกับการแสดงภาพบนหน้าจอทีวีเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของชื่อ หินทีวี
หินทีวี (TV Stone หรือ TV Rock) จริง ๆ แล้วเป็นชื่อที่เรียกกันโดยทั่วไปของแร่ Ulexite (NaCaB5O6(OH)6.5H2O) ซึ่งตั้งเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบคือ George Ludwig Ulex นักเคมีชาวเยอรมนีจัดเป็นสารจำพวกโบเรต (Borates) มีโครงสร้างของผลึกเป็นแบบ Triclinic ดังภาพ
ภาพจาก http://webmineral.com/data/Ulexite.shtml
Ulexite พบทั้งที่มีสีขาว สีเทาหรือจนกระทั่งใสไม่มีสี ซึ่งจะมีสีใดนั้นขึ้นอยู่กับสารมลทินที่เจือปนอยู่ ลักษณะภายนอกจะมองเห็นเหมือนมีเข็มเล็ก ๆ วางเรียงซ้อนกันอยู่ มีความแข็งน้อยกว่าเล็บมือ แตกหักได้ง่ายและจะสลายตัวในน้ำร้อน
หลายท่านอาจยังสงสัยอยู่ว่า ทำไม Ulexite จึงแสดงภาพได้เหมือนกับหน้าจอทีวี
ก่อนอื่นคงต้องมาศึกษาก่อนว่าภาพต่าง ๆ ที่ปรากฏบนหน้าจอทีวีมาได้อย่างไร
ในการส่งสัญญาณภาพให้มาปรากฏบนจอทีวี วิธีการหนึ่งที่ใช้ในปัจจุบันคือการใช้เส้นใย-แก้วนำแสงหรือที่เรียกกันว่าไฟเบอร์ออปติก (Fiber optic) นำสัญญาณแสงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ส่วนใหญ่เส้นใยแก้วนำแสงทำมาจากแก้วซึ่งมีความบริสุทธิ์สูงมาก มีลักษณะเป็นเส้นยาวขนาดเล็กโดยมีขนาดประมาณเส้นผมของมนุษย์
ภาพจาก http://electronics.howstuffworks.com/fiber-optic2.htm
Ulexite ประกอบไปด้วยผลึกที่มีลักษณะเป็นเส้นใยเล็ก ๆ วางเรียงตัวชิดและขนานกัน สามารถถ่ายทอดสัญญาณแสงไปตามความยาวของเส้นใยได้โดยใช้หลักการสะท้อนแสงเช่นเดียวกับเส้นใยแก้วนำแสง เมื่อเราตัดแร่ตามขวางหรือในแนวตั้งฉากกับเส้นใยแล้วขัดให้เป็นเงาทั้งด้านบนและด้านล่าง เมื่อวางทับบนภาพที่ต้องการ ภาพเหล่านั้นจะลอยขึ้นมาอยู่ด้านบนของหิน แต่ถ้าตัดแร่ในแนวขนานไปกับเส้นใยจะไม่สามารถมองเห็นภาพต่าง ๆ ได้
ภาพจาก http://www.gc.maricopa.edu/earthsci/imagearchive/ulexite.htm
Ulexite จะพบในพื้นที่ที่แห้งแล้งที่เรียกว่า Playa ซึ่งมีลักษณะเป็นทะเลสาบในหน้าหนาว แต่ในหน้าร้อนน้ำจะเหยออกไปจนหมด เหลือแต่พื้นที่ที่แห้งและแข็ง และจะมีเกลืออัลคาไลน์ตกตะกอนอยู่ทั่วไป พื้นที่ที่มีชื่อเสียงที่พบ Ulexite คือ รัฐแคลิฟอเนียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนใหญ่ Ulexite จะใช้ทำของเล่นสำหรับดึงดูดใจเด็ก ๆ แต่ก็มีคนบางกลุ่มเชื่อว่า Ulexite เป็นหินมงคลที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงช่วยทำให้มองเห็นปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างทะลุปรุโปร่ง
ภาพจาก http://www.alphabusinesscom.com/fiber_optic.jpg
เส้นใยแก้วนำแสงสามารถนำสัญญาณแสงจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งได้โดยใช้หลักการสะท้อนแสงภายในช่องแกนกลางของเส้นใย และเนื่องจากส่วนที่เรียกว่า แคลดดิง (Cladding) ไม่มีสมบัติในการดูดซับแสง สัญญาณแสงต่าง ๆ จึงสะท้อนผ่านไปได้ ดังภาพ
ภาพจาก http://www.greatsouth.net
อย่างไรก็ตามยังไม่มีรายงานว่า Ulexite เป็นอันตรายหรือมีพิษต่อมนุษย์ ดังนั้นถ้ามีโอกาสได้สัมผัสกับ Ulexite (หรือแร่ชนิดอื่นที่ไม่แน่ใจ) ก็ควรทดสอบก่อนว่าเป็นอันตรายต่อตนเองหรือไม่ และเวลาใช้หรือหยิบจับก็ควรทำด้วยความระมัดระวัง
เดินทางกลับบ้านวันนี้ก็ลองสังเกตรอบตัวดี ๆ .......
.......อาจจะพบหินที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใครก็ได้ !!!
บรรณานุกรม
ดร.รัชภาคย์ จิตต์อารี และ ผศ.ดร.ปรีชา ยุพาพิน,‘เส้นใยแก้วนำแสง (fiber optic) คืออะไร’ [Online].
Available: http://web.ku.ac.th/schoolnet/snet1/network/ask1.htm (Retrieved 26/10/06)
‘Glendale Community College Earth Science Image Archive’ [Online]. Available:
http://www.gc.maricopa.edu/earthsci/imagearchive/ulexite.htm (Retrieved 26/10/06)
‘How Does an Optical Fiber Transmit Light’ [Online]. Available:
http://electronics.howstuffworks.com/fiber-optic2.htm (Retrieved 26/10/06)
‘The Mineral Ulexite’ [Online]. Available:
http://mineral.galleries.com/minerals/carbonat/ulexite/ulexite.htm (Retrieved 26/10/06)
‘Ulexite’ [Online]. Available:
http://en.wikipedia.org/wiki/Ulexite (Retrieved 26/10/06)
‘Ulexite’ [Online]. Available:
http://www.mindat.org/min-4085.html (Retrieved 26/10/06)
‘Ulexite Eggs’ [Online]. Available
http://www.greatsouth.net/minerals/p-M675.html (Retrieved 26/10/06)
‘Ulexite Mineral Data’ [Online]. Available:
http://webmineral.com/data/Ulexite.shtml (Retrieved 26/10/06)
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)