เทคนิคการตัดแต่งกิ่งทับทิม
ทับทิม (Pomegranate) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Punica granatum L. granatum และชื่อภาษาถิ่นคือ พิลา (หนองคาย) หรือพิลาขาว, มะก่องแก้ว (น่าน) หรือมะเก๊าะ (เหนือ) อยู่ในวงศ์ LYTHRACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ทั่วไป ลำต้นเป็นไม้พุ่ม สูง 2 - 5 เมตร แตกกิ่งก้านโปร่งยาว เปลือกต้นสีเทาค่อนข้างเรียบ กิ่งเล็กมักเปลี่ยนรูปเป็นหนามแหลม ใบเป็นใบเดี่ยว รูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง 1 - 2 เซนติเมตร ยาว 4 – 6 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมนแคบ แผ่นใบเรียบ สีเขียว ใบอ่อนสีแดง ดอกมักจะออกดอกเดี่ยวหรือช่อ 2 - 5 ดอก ตามซอกใบและปลายยอด ดอกสีส้มแดง กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายเป็นแฉกแหลม 6 แฉก สีส้มแกมเหลือง กลีบดอกมี 6 กลีบ เกสรเพศเมียและเพศผู้ร่วงง่าย ผลมีรูปทรงค่อนข้างกลม เปลือกหนาเกลี้ยง สีเหลืองปนน้ำตาล ปลายผลเป็นแฉกจากกลีบเลี้ยงของดอก เมื่อผลแก่มีสีแดงเรื่อและมีเมล็ดจำนวนมาก เนื้อหุ้มเมล็ดใสสีชมพูสด รสหวานอมเปรี้ยว
สายพันธุ์ของทับทิม ได้แก่
พันธุ์เมล็ดแดง : แสงตะวัน, สายปัญญา, แดงอินเดีย, แดงมารวย, แดงเจ้าพระยา, เด่นตะวัน, อติชัย, ทับทิมใหญ่ (ทับทิมแดงหรือพิลาสี)
พันธุ์เมล็ดขาว : ทั่ว ๆ ไปเรียกว่า ทับทิมขาวหรือพิลาขาวอยู่ในกลุ่มของทับทิมใหญ่ เนื้อสีขาวครีม กลิ่นและรสเหมือนทับทิมเมล็ดแดง แต่ต้นมีหนามมากกว่าทับทิมแดง
พันธุ์เมล็ดนิ่ม: ทับทิมเมล็ดนิ่มที่รู้จักกันมานาน คือ สายพันธุ์จากประเทศสเปน ชื่อ อติชัย มีผู้นำมาปลูกในเขตพื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากทับทิมสายพันธุ์นี้ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศร้อนอย่างประเทศไทยได้
ภาพที่ 1 ทับทิม (Pomegranate)
ที่มา https://pixabay.com, Nile
การขยายพันธุ์ โดยทั่วไปนิยมวิธีดังนี้
1. ตอน, ทาบกิ่ง, เสียบยอด, ติดตา, ปักชำ และเพาะเมล็ดเสริมรากเปลี่ยนยอด
2. การเพาะเมล็ด (กลายพันธุ์) เมื่อล้างเนื้อหุ้มเมล็ดหมดแล้ว นำลงเพาะทันที เพราะเมล็ดทับทิมไม่มีระยะพักตัว
ระยะปลูก
- ระยะปกติ 4 X 6 เมตร หรือ 6 X 6 เมตร
- ระยะชิด 4 X 3 เมตร หรือ 3 X 3 เมตร
ภาพที่ 2 ลักษณะการตัดแต่งกิ่งทับทิม
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
เตรียมต้น
เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง
1. ทับทิมออกดอกจากซอกใบปลายกิ่งอายุข้ามปี การตัดแต่งกิ่งประจำปีหรือหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ตัดเฉพาะกิ่งที่ออกดอกติดผล เพื่อสร้างใบใหม่สำหรับให้ออกดอกติดผลในปีต่อไป ส่วนกิ่งที่ไม่ออกดอกติดผลในปีนี้ให้คงไว้แล้วบำรุงต่อไป
2. ตัดกิ่งบังแสงแดดต่อกิ่งอื่นออก ทำให้ทรงพุ่มโปร่งจนแสงแดดสามารถส่องได้ถึงทุกกิ่งทั่วทรงพุ่ม กิ่งที่ได้รับแสงแดดจะสมบูรณ์ดีกว่ากิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดดหรือได้รับแสงแดดน้อย
3. ตัดกิ่งกระโดง กิ่งในทรงพุ่ม กิ่งคดงอ กิ่งชี้ลงกิ่งไขว้กิ่งหางหนู กิ่งเป็นโรค และกิ่งออกดอกติดผลแล้วเพื่อเรียกยอดใหม่สำหรับออกดอกติดผลในรุ่นปีต่อไป การตัดแต่งกิ่งภายในทรงพุ่มควรให้โปร่งจนแสงส่องผ่านลงไปถึงโคนต้นได้
4. ตัดแต่งกิ่งปกติควรตัดให้เหลือใบประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์และเมื่อใบอ่อนชุดใหม่ออกมาแล้วให้มีใบประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์จะช่วยให้การผลิดอกติดผลดี
5. ตัดยอดกิ่งประธาน (ผ่ากบาล) ณ ความสูงต้นตามต้องการนอกจากช่วยทำให้แสงแดดผ่านจากยอดเข้าสู่ภายในทรงพุ่มได้อย่างทั่วถึงแล้วแสงแดดที่ร้อนยังช่วยกำจัดเชื้อราได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยควบคุมขนาดความสูงทรงพุ่มได้
6. นิสัยทับทิมมักออกดอกหลังจากกระทบหนาวได้ระยะหนึ่ง ดังนั้นจึงควรตัดแต่งกิ่งเพื่อเรียกใบอ่อนช่วงต้นฤดูฝนแล้วเข้าสู่ขั้นตอนการบำรุงต่อไปตามลำดับจะทำให้ต้นมีความสมบูรณ์เต็มที่ดีกว่าการตัดแต่งกิ่งในช่วงอื่น
เทคนิคการตัดแต่งราก
- ทับทิมมีระบบรากตื้น และจำนวนน้อยจึงไม่ควรตัดแต่งราก แต่ถ้าต้องการสร้างรากใหม่ให้มีประสิทธิภาพในการหาอาหารดียิ่งขึ้นให้ใช้วิธีล่อรากด้วยการพูนโคนต้น
- ต้นอายุหลายปี จะมีขนาดทรงพุ่มใหญ่มาก ระบบรากเก่าและแก่มากให้พิจารณาตัดแต่งรากส่วนปลายออก 1 ใน 4 ด้วยการพรวนดินรอบทรงพุ่มลึก 10 - 15 เซนติเมตร หลังจากให้ฮอร์โมนบำรุงรากไปแล้วต้นจะแตกรากใหม่จำนวนมากขึ้นและมีประสิทธิภาพในการดูดซับสารอาหารได้ดีกว่าเดิม แล้วจึงปฏิบัติตามขั้นตอนการบำรุงต้นทับทิมต่อไป
แหล่งที่มา
บ้านสวนพอเพียง. การตัดแต่งกิ่ง #2 : การตัดแต่งไม้พุ่มทรงเตี้ย. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จาก https://www.bansuanporpeang.com/node/20690
สวนคุณไพบูลย์. ทับทิม. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จากhttp://www.paiboonrayong.com/articles/42012620/ทับทิม.html
อุทยานหลวงราชพฤกษ์. ทับทิม. สืบค้นเมื่อ 9 ตุลาคม 2561, จากhttp://www.royalparkrajapruek.org/Plants/view?id=1203
-
9092 เทคนิคการตัดแต่งกิ่งทับทิม /index.php/article-biology/item/9092-2018-10-18-08-02-09เพิ่มในรายการโปรด