สาหร่ายไก
มาต้นหนาว และจากไปต้นฝน
สุนทร ตรีนันทวัน
ในระยะนี้หนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับลงข่าวเกี่ยวกับ น้ำในแม่น้ำโขงลดน้อยลง บางตอนลดน้อยลงมากประชาชนเดินข้ามฝั่งไปมาได้ และรวมทั้งแม่น้ำ สายน้ำเล็กๆจากบางจังหวัดริมฝั่งโขง น้ำลดน้อย แห้ง หนังสือพิมพ์มติชนลงข่าวพร้อมภาพ สาหร่ายไก แถวจังหวัดน่าน เชียงราย แห้งตายอยู่ตามก้อนหินที่อยู่ในสายน้ำเหล่านั้น ผมเลยนำเรื่องสาหร่ายไกมาเล่าสู่กันฟังครับ
สาหร่ายไก ฟังชื่อแล้วหลาย ๆ คนคงจะไม่คุ้น แต่คนทางภาคเหนือโดยเฉพาะแถว ๆ จังหวัดน่าน แพร่ ลำปาง เชียงราย จะรู้จัก สาหร่ายไก หรือเรียกสั้น ๆ กันว่า ไก เป็นอย่างดี เพราะใช้เป็นอาหารของคนในท้องถิ่นนำมารับประทานกันมานานแล้ว
สาหร่ายไก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า คลาโดโฟร่า โกลมีราต้า (Cladophora glomerata Kutzing.) จัดเป็นสาหร่ายสีเขียว (Green algae) เนื่องจากมีสารโคลโรฟีลล์ จึงสร้างอาหารเองได้โดยกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง พบได้ทั่วไปในน้ำจืด น้ำกร่อย ที่เป็นน้ำไหลและใสสะอาดแสงแดดส่องถึง โดยจะเจริญเกาะอยู่บนก้อนหินหรือยึดเกาะกับส่วนอื่นที่อยู่ในน้ำ มีลักษณะเป็นสายยาว แตกแขนงได้ บริเวณของส่วนที่ยึดเกาะกับก้อนหิน มีส่วนที่เรียกว่า ไรซอยด์ (Rhizoid) ทำหน้าที่คล้ายกับราก สำหรับยึดเกาะกับก้อนหิน เพื่อไม่ให้ถูกกระแสน้ำพัดลอยไป
จากโครงการวิจัยเพื่อศึกษาถึงศักยภาพ ของสาหร่ายไกในการนำมาเป็นอาหารและยา โดย ผศ.ดร. ยุวดี พีรพรพิศาล ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสาหร่ายไกในลำน้ำน่าน และลำน้ำสาขา ได้สรุปผลการวิจัยในเบื้องต้นว่าสาหร่ายไก พบกระจายอยู่ทั่วไปตามพื้นท้องน้ำที่มีลักษณะเป็นก้อนหินและน้ำไหลไม่แรงนัก โดยสาหร่ายไกจะเริ่มปรากฏให้เห็นใน ต้นฤดูหนาว ประมาณ เดือนพฤศจิกายน ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำค่อนข้างใสและน้ำไหลไม่แรง และจะเจริญมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเดือนมกราคม ถึงกุมภาพันธ์ โดยจะพบสาหร่ายไกทั้งในลำน้ำน่าน และอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และพบเรื่อยไปจนถึงเดือนเมษายน พอถึง ต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม ฝนเริ่มตก น้ำเริ่มขุ่น กระแสน้ำไหลแรงขึ้นเรื่อย ๆ สาหร่ายไกจะค่อยทยอยหายไป ชาวบ้านต้องตั้งหน้าตั้งตาคอย ไก อีกปีหนึ่งจึงจะได้รับประทานอีก ต้องรอนานจริงๆ
ช่วงที่ไกเจริญมาก ๆ นั้นชาวบ้านก็ไปเก็บสาหร่ายไกมารับประทานได้ตลอด ทั้งนี้ชาวบ้านที่อยู่ในแถบลำน้ำน่านและอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีการนำสาหร่ายไกเป็นอาหารทั้งสดและแห้ง อาหารสดที่ทำ เช่น ยำชนิดต่าง ๆ เรียกว่ายำไก ใช้ห่อไก่นึ่งคล้าย ๆ กับห่อหมกภาคกลาง ส่วนสาหร่ายไกที่ตากแห้งนิยมนำมาทำไกยี ซึ่งถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่คิดทำจากภูมิปัญญาชาวบ้านที่แพร่หลายมาก ทั้งอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และชุมชนลำน้ำน่านนอกจากนี้คณะที่ทำโครงการวิจัยได้ทำผลิตภัณฑ์อาหารสาหร่ายไก แบบต่าง ๆ เช่น สาหร่ายไกแผ่นปรุงรส คุ้กกี้ไก ขนมปังไก ไส้กรอกเปรี้ยวผสมสาหร่ายไก ยอสาหร่ายไก ลูกชิ้นหมูสาหร่ายไก แครกเกอร์หน้าไกยี ไกแผ่นชุบแป้งทอด และยังทำอื่น ๆ อีกหลายอย่าง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)