....รู้จักความอัจฉริยะของสมอง....
ปรียานุช ขุนเณร
หากเปรียบเทียบโลกใบนี้กับจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพรศาล โลกใบนี้คงเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยวเล็กๆ แห่งความยิ่งใหญ่ของจักรวาล และหากจะย้อนกลับมาดูที่ตัวมนุษย์นั้นก็อาจเป็นเพียงแค่ส่วนประกอบเล็กๆ บนโลกใบนี้ แต่มนุษย์ตัวเล็กๆ กลับสามารถก้าวขึ้นไปสำรวจจักกรวาลอันยิ่งใหญ่ได้ ด้วยความสามารถอันน่ามหัศจรรย์ของส่วนประกอบสำคัญในร่างกายมนุษย์นั่นก็คือ สมอง สิ่งที่ชักนำให้มนุษย์ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดนานับประการเพื่อไปสำรวจทั้งโลกและจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพรศาล
สมอง จึงเปรียบเสมือนจุดกำเนิดของสรรพสิ่ง เป็นจุดเริ่มต้นแห่งความคิดจินตนาการ ที่นำไปสู่การสรรสร้างสิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่างๆ คิดวิทยาการล้ำสมัย และเป็นสิ่งที่มนุษย์ใช้ในการควบคุมความเป็นไปของทุกสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์
แม้มนุษย์จะเกิดความสงสัยและศึกษาศาสตร์ต่างๆ รอบตัว แต่หน้าที่ ระบบความสัมพันธ์ หรือปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสมอง อันเป็นจุดกำเนิดสำคัญอันเป็นที่มาของความคิด จินตนาการ การสร้างสรรค์ต่างๆ นั้นเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างพยายามศึกษาและเชื่องโยงระบบ กลไก การทำงานต่างๆ ของสมอง และเมื่อยิ่งศึกษาลงลึกถึงรายละเอียดต่างๆ ของสมอง ก็ยิ่งพบความสลับซับซ้อนอันน่าอัศจรรย์ใจ
หน้าที่สมอง
จาการทำการวิจัยถึงหน้าที่ของสมองนั้นความรู้เท่าที่มีการค้นพบอย่างเป็นทางการในขณะนี้ พบว่ามีการชี้ให้เห็นถึงความสามารถและการทำงานที่แปลกประหลาดของสมองมากมาย เนื่องจากสมองทำหน้าที่ตั้งแต่การรับผิดชอบการรับข้อมูล ประมวลผลข้อมูลที่ได้รับ และตอบสนองสู่ข้องมูลนั้นๆ นอกจากหน้าที่ในส่วนของข้อมูลต่างๆ แล้วนั้น สมองยังทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมการหลั่งสารบางอย่างที่ทำให้เกิดผลต่อร่างกายและจิตใจของเราอีกด้วย
ดังนั้นสมองจึงสามารถคิดค้นหาคำตอบสำหรับคำถามที่ซับซ้อนได้ และทำหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว พฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกาย (homeostasis) อาทิ การควบคุมในเรื่องของการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิ เป็นต้น หน้าที่ของสมองยังเกี่ยวข้องกับการรับรู้ (cognition) อารมณ์ ความจำ การเรียนรู้การเคลื่อนไหว (motor learning) และความสามารถอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของมนุษย์
พัฒนาการของสมอง
พัฒนาการทางสมองของมนุษย์สำหรับหน้าที่ในการใช้เหตุผลเชิงนามธรรมนั้นมีด้วยกัน 3 ส่วนที่มีระดับวิวัฒนาการที่แตกต่างกันไป
ส่วนแรกเป็นส่วนที่วิวัฒนาการขั้นแรกสุดจะตั้งอยู่บริเวณก้านสมองซึ่งเป็นส่วนของสัตว์เลื้อนคลาน ทำหน้าที่ตอบสนองสิ่งต่างๆ อย่างฉับพลันตามสัญชาตญาณ และควบคุมหน้าที่พื้นฐานในการดำเนินชีวิต แต่จะไม่ส่งเสริมความคิดและจินตนาการ
สมองส่วนต่อมานั้นพัฒนาขึ้นมาจากส่วนของสัตว์เลื้อยคลาน ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางของสมองส่วนหน้าบางครั้งอาจเรียกว่าสมองชั้นใน นั่นคือ ส่วนลิมปิก (Limpic) ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของอารมณ์
สมองส่วนสุดท้ายเป็นส่วนที่ห่อหุ้มสมองส่วนลิมปิกอยู่ภายนอก คือ ส่วนของนีโอคอร์เทกซ์ (neo-cortex) ที่เกี่ยวช้องกับการใช้เหตุผล
สมองกับการจดจำ
กลไกการจดจำของสมองนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้เพียรพยายามศึกษาถึงลักษณะของการจัดเก็บข้อมูลในสมองว่ามีจัดโดยการกระจายข้อมูลไปอยู่ในส่วนต่างๆ หรือเก็บไว้ในที่เฉพาะของสมองอย่างไร สำหรับในการจดจำนั้นมีทั้งการจดจำในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งความสามารถในการจดจำนี้จะขึ้นอยู่กับสมอง 2 ส่วนที่สำคัญได้แก่ ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ที่มีขนาดเล็กราวเม็ดถั่ว น้ำหนักเพียง 4 กรัมเท่านั้น และ อะมิกดาลา (amygdata) ที่มีลักษณะเป็นเม็ดกลงคล้ายอัลมอนด์ ซึ่งตั้งอยู่ในส่วนของลิมปิก
ในส่วนของ ฮิปโปแคมปัส นี้จะทำหน้าที่ในการย้ายข้อมูลในสมอง จากส่วนที่เป็นข้อมูลระยะสั้นไปสู่ข้อมูลระยะยาว และในส่วนของอะมิกดาลาจะทำหน้าที่ในการย้ายข้อมูลทางอารมณ์ ซึ่งหากทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถทำงานพร้อมกันนั้น ข้อมูลจากหน่วยความจำระยะสั้น ก็จะถูกย้ายมาที่หน่วยความจำระยะยาวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อคนเราได้เรียนรู้สิ่งใดในเวลาที่สนุก กฌจะสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ความสามารถของสมองซีกต่างๆ
เนด เฮอร์มานน์ (Ned Hermann) ได้แบ่งสมองในส่วนของลิมปิก และ นีโอคอร์เทกซ์ เป็นซีกซ้ายและขวาที่มีการทำหน้าที่แตกต่างกันได้แก่ ลิมปิกซีกซ้าย ลิมปิกซีกขวา นีโอคอร์เทกซ์ซีกซ้าย และนีโอคอร์เทกซ์ซีกขวา
บุคคลที่มีสมองส่วนใดเด่นเป็นพิเศษ ก็จะมีพฤติกรรมค่อนไปในด้านนั้นๆ กล่าวคือ หากสมองในส่วนของลิมปิกซีกซ้ายเด่นก็จะพอใจกับบรรยากาศการเรียนรู้ที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงมากนัก หากสมองในส่วนของลิมปิกซีกขวาเด่น จะเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ ในห้อง หากสมองในส่วนของนีโอคอร์เทกซ์ซีกซ้ายเด่นจะเหมาะกับการเรียนรู้ทางเนื้อหาทฤษฎีและการใช้ความคิดวิเคราะห์ และนีโอคอร์เทกซ์ซีกขวา ควรที่จะเรียนรู้โดยการสัมผัสจริง
ทุกคนมีแววฉลาด
ความฉลาด ดังที่ทราบกันแล้วว่าความฉลาดของคนนั้น ได้แบ่งออกเป็น 7 ประเภทได้แก่ ความฉลาดทางภาษา (Linguistic intelligence) ความฉลาดทางการคิดคำนวณ (Logical-mathematic intelligence) ความฉลาดทางภาพและระยะทาง (spatial intelligence) ความฉลาดทางการเคลื่อนไหว (bodily intelligence) ความฉลาดทางดนตรี (musical intelligence) ความฉลาดเกี่ยวกับการจัดการตนเอง (intrapersonal relation intelligence )ความฉลาดทางกลุ่มปฎิสัมพันธ์ (interpersonal relation intelligence) ซึ่งความฉลาดทั้ง 7 ด้านนี้มนุษย์สามารถพัฒนาไปพร้อมๆ กันได้ ไม่ใช่เพียงความฉลาดเฉพาะเพียงด้านเดียว ความฉลาดแต่ละด้านนี้เกี่ยวข้องและทำงานร่วมกัน และความสำเร็จที่สำคัญๆ นั้นต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของความฉลาดในหลายๆ ด้าน
รู้จักสมองอัจฉริยะ
หลังจากที่อัลเบิร์ต ไอสไตน์ อัจฉริยะ คนสำคัญของโลก จากการสำรวจสมองของเขานั้น ภายในสมองมีเซลล์เนื้อเยื่อที่มากกว่าของบุคคลทั่วไป ประมาณ 2 เท่า และบริเวณส่วนล่างของสมองด้านข้าง (inferior parietal region) จะใหญ่กว่าของคนปกติธรรมดาถึง 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์
นอกจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ยังพบอีกด้วยว่า ร่องสมองของไอน์สไตน์ หายไปบางส่วนโดยที่สมองของคนทั่วไปจะมีร่องสมองจากส่วนหน้า ต่อเนื่องไปยังสมองส่วนหลังซึ่งร่องที่หายไปบางส่วนนี้ อาจจะเป็นกุญแจสำคัญที่แสดงความเป็นอัจฉริยะของไอน์สไตน์ เนื่องจากทำให้เส้นประสาทและเซลล์สมองบริเวณนั้น สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันและทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ผลของการศึกษาวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า อัจฉริยภาพ ของนักทฤษฎีทางฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ของโลกผู้นี้ มีมาตั้งแต่กำเนิด
พัฒนาสมองให้เป็นอัจฉริยะ
สำหรับมนุษย์ทั่วไปนั้นกิจกรรมบางประเภทสามารถเพิ่มจำนวนของเซลล์เนื้อเยื่อโครงประสาทได้ และทำให้มีความคิดที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นต้องเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการผสมผสานการใช้ทักษะต่างๆ ร่วมกัน อาทิ การจินตนาการ อำนาจแห่งจินตนาการเป็นบ่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ และความคิดสร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพนั้นจะบังเกิดเมื่อมนุษย์มีสมองที่พร้อมบริบูรณ์ ทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต จะกลายเป็นพื้นฐานการจินตนาการ นำไปสู่การสร้างสรรค์งานที่เป็นจริง และนำไปสู่การปรับปรุงแนวคิด กำเนิดความคิดหรือทฤษฎีใหม่ๆ ที่ไม่มีผู้ใดเหมือน ซึ่งในโลกยุคปัจจุบันอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านที่สำคัญ ทำให้โลกต้องการ อัจฉริยในทางสร้างสรรค์อย่างยิ่ง
สิ่งที่มนุษย์ศึกษาได้ในปัจจุบันนั้นเป็นเพียงความรู้แค่ส่วนหนึ่งของสมองเท่านั้น ซึ่งความเร้นลับทางความสัมพันธ์ของสมองมนุษย์กับความรู้สึกนึกคิดอีกมากมายก็ยังไม่ปรากฏหรือถูกค้นพบ จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาต่อไปถึงความสามารถอันแท้จริงของมนุษย์ โดยเฉพาะสมองของเหล่าอัจฉริยะทั้งหลายอันจะเป็นที่มาของการสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ต่อไป
อ้างอิง
http://ahsmail.uwaterloo.ca/kin356/ataxia/ataxia.htm
http://www.binarybottle.com/mindboggle/thesis_2004_arnoklein_files/image047.jpg
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)