ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้ในการควบคุมน้ำหนัก
ศุภชัย ติยวรนันท์
“อ้วน” เป็นคำที่สั้น และกินใจ ให้ความหมายได้โดยตัวของมันเอง แต่จะมีใครรู้บ้างว่าคำว่าอ้วนที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้ ถ้าจะมาจำแนก และให้คำจำกัดความทางคลินิก จะต้องอาศัยค่าดรรชนีมวลกาย (body mass index) มาใช้ในการจำแนก
ค่านี้จะใช้จำแนกความผิดปรกติของน้ำหนักตัว โดยจะคิดจากน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัม หารด้วยค่าความสูงในหน่วยเมตร ยกกำลังสอง ในปี 1869 เกตเล่ (Quetelet, 1869) ได้ทำการแยกระดับของน้ำหนักร่างกายมนุษย์โดยอาศัยค่าดรรชนีมวลกายไว้ โดยแบ่งเป็นระดับต่างๆ ตามตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ระดับน้ำหนักตามดรรชนีมวลกาย
ความอ้วนนั้นเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเรื้อรังหลายชนิดได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหัวใจ ข้อกระดูกอักเสบ และมะเร็งบางชนิด ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงพยายามแสวงหายา และวิธีการต่างๆที่สามารถนำมาใช้ในการลด และควบคุมน้ำหนักให้เป็นปรกติสิ่งที่มนุษย์เรียนรู้ และพบว่าดีที่สุดในการลด และควบคุมน้ำหนัก คือภาวะโภชนาการที่สมดุล และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์กลุ่มที่มีน้ำหนักเกินกลุ่มนี้ เนื่องจากปัจจัยทางจิต และทางกายของพวกเขา การพัฒนายาต่างๆ จึงมีมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ยาที่เป็นอนุพันธุ์ยาม้า หรือแอมเฟตามีน (Amphetamine derivative) ได้แก่เฟนเทอร์มีน (phentermine) เฟนฟลูรามีน (fenfluramine) เด็กซ์เฟนฟลูรามีน (dexfenfluramine) ซึ่งออกฤทธิ์โดยการไปเพิ่มการปลดปล่อยสารสื่อประสาทนอร์อะดรีนาลีน (noradrenaline) และ ซีโรโทนิน (serotonin) ที่ปลายประสาท ทำให้เกิดความไม่อยากอาหารขึ้น อนุพันธุ์เหล่านี้ได้ลอกเลียนแบบมาจากเอฟีดรีน (ephedrine) อันเป็นเคมีภัณฑ์จากพืชโบราณชนิดหนึ่งที่ทางยาจีนเรียกว่า “หมาหวัง” (麻黃) ซึ่งเป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล Ephedra วงศ์ Ephedraceae
ปัจจุบันการพัฒนายาได้เน้นกลไกการออกฤทธิ์ของยาใน 2 ประเด็น คือ 1) ยับยั้งการดูดกลับของซีโรโทนิน และนอร์อะดรีนาลีน (serotonin noradrenaline reuptake inhibitor) 2) ยับยั้งน้ำย่อยไขมันจากตับอ่อน (pancreatic lipase inhibitor) เป็นการยับยั้งการย่อยสลายไขมัน โดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ และลดการดูดซึมไขมันที่ลำไส้เล็ก โดยยาในกลุ่มแรกในปัจจุบันที่มีใช้คือ ซิบูทรามีน (sibutramine) ส่วนยาในกลุ่มที่สองที่มีใช้อยู่คือ ออร์ลิสแทต (orlistat)
นอกจากการพัฒนายาที่แสดงให้เห็นดังกล่าวแล้ว กระแสความนิยมและความยอมรับสมุนไพรในขณะนี้กำลังมีอัตราที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้มีการพัฒนาสมุนไพรมาสู่รูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ใช้สำหรับควบคุมน้ำหนักในรูปแบบต่างๆ หากจะแบ่งผลิตภัณฑ์ในการควบคุมน้ำหนักออกเป็นกลุ่มๆ ตามกลไกการแสดงฤทธิ์ จะสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ลดการดูดซึมสารอาหารจากทางเดินอาหาร
สมุนไพรในกลุ่มนี้จะมีกลการออกฤทธิ์โดยการรบกวนการดูดซึมสารอาหารจากทางเดินอาหาร มีทั้งที่ไปทดแทนพื้นที่ในทางเดินอาหารทำให้กินอาหารได้น้อยลง หรือลดการดูดซึมสารอาหารของทางเดินอาหารโดยตรง หรือไปลดเวลาที่อาหารจะอยู่ในระบบทางเดินอาหารให้สั้นลง ผลิตภัณฑ์ที่จะนำมากล่าวถึง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากบุก ผลิตภัณฑ์จากเปลือกกุ้ง ผลิตภัณฑ์จากกิมนีม่า และผลิตภัณฑ์จากมะขามแขก
ผลิตภัณฑ์จากบุก (Konjac)
บุก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวจัดอยู่ในวงศ์อะราซี (Araceae) ซึ่งเป็นวงศ์เดียวกันกับเผือก บอน มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Amorphophallus konjac K.Koch แป้งที่ได้จากลำต้นใต้ดินของพืชชนิดนี้มีคาร์โบไฮเดรตชนิดหนึ่งชื่อว่า กลูโคแมนแนน (glucomannan) มีคุณสมบัติในการพองตัวสูงถึง 400 เท่า ในประเทศญี่ปุ่นได้นำแป้งบุกมาแปรรูปเป็นอาหารหลายชนิด ต่อมาได้มีผู้ศึกษาคุณสมบัติทางเคมีของกลูโคแมนแนนเพิ่มเติม พบว่าเป็นคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ถูกดูดซึมในทางเดินอาหาร จึงได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในการลดน้ำหนัก และควบคุมน้ำหนัก จนกระทั้งในปี 1984 ได้มีผู้ทำการศึกษาเพื่อดูผลของการใช้กลูโคแมนแนนทางคลินิก ต่อการลดน้ำหนักในผู้ป่วยโรคอ้วนจำนวน 20 ราย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับยาหลอก และอีกกลุ่มหนึ่งได้รับกลูโคแมนแนน ขนาด 1 กรัม กับน้ำ 8 ออนซ์ โดยให้ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง ผู้ถูกทดลองไม่ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการกิน และการออกกำลังกาย ทำการศึกษาเป็นเวลา 8 สัปดาห์ ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับกลูโคแมนแนนมีน้ำหนักลดลงเฉลี่ย 5.5 ปอนด์ อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับยาหลอก นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับกลูโคแมนแนนมีระดับคอเลสเตอรอล และlow-density lipoprotein ลดลง 21.7 และ 15.0 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ตามลำดับ
ต่อมาในปี 1992 ได้มีผู้ทำการศึกษาวิจัยทางคลินิกเพิ่มเติมโดยเปรียบเทียบกลุ่มผู้เป็นโรคอ้วนอย่างรุนแรง 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งได้รับการควบคุมอาหารให้มีแคลอรีต่ำ อีกกลุ่มหนึ่งได้รับการควบคุมอาหารให้มีแคลอรีต่ำร่วมกับการได้รับอาหารกากใย (dietary fiber) ที่มีกลูโคแมนแนนเป็นองค์ประกอบหลัก โดยได้รับกลูโคแมนแนนราว 4 กรัมต่อวัน แบ่งให้เป็น 3 ครั้ง ติดตามผู้ป่วยเป็นเวลา 3 เดือน พบว่ากลุ่มที่ได้รับกลูโคแมนแนนร่วมกับการคุมอาหารให้มีแคลอรีต่ำจะมีน้ำหนักตัวลดลงได้มากกว่ากลุ่มที่คุมอาหารอย่างเดียวได้อย่างมีนัยสำคัญ และพบว่ากลูโคแมนแนนยังช่วยปรับสภาวะต่างๆ ของไขมันในร่างกายให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น
จากการศึกษาทั้งสองที่ยกตัวอย่างข้างต้นจะเห็นได้ว่ากลูโคแมนแนน จะส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคอ้วน และทำให้น้ำหนักตัวลดลง รวมถึงทำให้ภาวะความไม่สมดุลของไขมันในร่างกาย และในกระแสเลือดดีขึ้น อีกทั้งยังไม่มีรายงานการเกิดพิษ หรือส่งผลเสียต่อร่างกาย และไม่พบอาการอันไม่พึงประสงค์ รวมทั้งผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้กลูโคแมนแนน
นอกจากผลิตภัณฑ์จากบุกแล้วยังมีการนำเพกติน (pectin) รำข้าว เทียนเกล็ดหอย (psyllium seed) มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ซึ่งกลไกการออกฤทธิ์เหมือนกับผลิตภัณฑ์จากผงบุก แต่ต้องใช้ในปริมาณที่สูงกว่า ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ คลื่นเหียน อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ชนิดหลังหากใช้ในปริมาณที่สูง และใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดภาวะขาดวิตามิน และเกลือแร่ได้
ผลิตภัณฑ์จากเปลือกกุ้ง
ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเปลือกกุ้งมีชื่อว่า ไคโตซาน (Chitosan) ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้เป็นโพลีเมอร์ของกลูโคซามีน (glucosamine) ที่ผลิตมาจากไคติน ซึ่งพบมาตามเปลือกของสัตว์ที่มีลำตัว และระยางค์เป็นปล้อง (Arthropods)
ไคโตซานจะดูดซับไขมันไว้ในตัวได้ โดยสามารถดูดซับได้ถึง 120 กรัมต่อวัน ดังนั้นทางผู้ผลิตจึงได้พัฒนามาเป็นผลิตภัณฑ์ควบคุมน้ำหนัก เพราะเชื่อว่าจะลดการดูดซึมไขมันจากลำไส้ลงได้ โดยได้มีการทดลองผลของไคโตซานในสัตว์ทดลองพบว่ามีผลลดน้ำหนักได้จริง ในปี 1998 ได้มีการรวบรวมผลการศึกษาในมนุษย์ และวิเคราะห์ผลรวมกัน โดยการศึกษาที่นำมาประมวลเป็นการศึกษาทางคลินิกที่มีวิธีการแบบสุ่มผู้ป่วยเข้ากลุ่มรับยาเทียบกับยาหลอกชนิด randomized double-blind placebo-controlled trials มีทั้งสิ้น 5 การศึกษา ผลปรากฏว่ากลุ่มที่ได้รับไคโตซานสามารถลดน้ำหนักตัวลงได้ถึง 3.28 กิโลกรัม มีช่วงเชื่อมั่นเป็น 1.5 ถึง 5.1 กิโลกรัม ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 แต่ไม่มีการศึกษาใดระบุเกี่ยวกับผลข้างเคียง และอาการไม่พึงประสงค์
ในปี ค.ศ. 2001 และ 2002 ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับผลการดูดซับไขมันในทางเดินอาหารของไคโตซาน พบว่าไคโตซานไม่ได้มีผลในการดูดซับไขมันไว้กับตัวอย่างที่คาดไว้ ดังนั้นผลการลดน้ำหนักที่เกิดขึ้นอาจเกิดจากสาเหตุอื่นก็เป็นได้ หรือในทางกลับกันไคโตซานอาจไม่ได้มีผลต่อการลดน้ำหนักแต่ประการใด หากแต่ที่น้ำหนักลดลงในการวิจัยชุดแรกๆ นั้นเกิดจากการให้อาหารที่ควบคุมพลังงานไม่ให้เกิน 1 กิโลแคลอรี แก่ผู้เข้าร่วมเป็นอาสาสมัครในการวิจัย
ผลิตภัณฑ์จากกิมนีม่า
ผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ ได้มาจากพืชที่มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า sugar killer ซึ่งแปลว่าผู้กำจัดน้ำตาล เป็นพืชวงศ์แอสเครปเพียดาซี (Asclepiadaceae) มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Gymnema sylvestre R.Br. พืชชนิดนี้ไม่มีในประเทศไทย แต่พืชในประเทศที่ใกล้เคียงกับพืชชนิดนี้คือ ผักเชียงดา มีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Gymnema inodorum (Lour.)Decne. ซึ่งเป็นผักพื้นเมืองทางภาคเหนือของประเทศไทย Gymnema sylvestre R.Br. สารสำคัญที่พบในพืชชนิดนี้ที่แสดงฤทธิ์ดังกล่าวคือ กรดกิมนีมิก (gymnemic acid) สารชนิดนี้จะยับยั้งการดูดซึมกลูโคสบริเวณลำไส้ ทั้งในสัตว์ทดลอง และในมนุษย์ ในปี 1998 ได้มีการทำการศึกษาผลของสารสกัดจากพืชชนิดนี้ต่อการดูดซึมกรดโอเลอิก บริเวณลำไส้ในหนูทดลองพบว่ามีผลในการลดการดูดซึมได้เป็นอย่างดี ดังนั้นสารสกัดจากต้นไม้ชนิดนี้จึงมีศักยภาพต่อการพัฒนาเป็นยา หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน และเบาหวาน ซึ่งน่าจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)