WHO ประกาศภาวะหมดไฟเป็นความผิดปกติ
ผู้ที่ดิ้นรนเพื่อรับมือกับความเครียดในที่ทำงาน และไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้อาจมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความผิดปกติของสภาวะทางจิตใจที่เรียกว่า ภาวะหมดไฟ (Burn-out) ในการทำงาน โดยอาการของคนหมดไฟจะรู้สึกเบื่อหน่ายอ่อนล้า ว่างเปล่า ไม่มีใจ และไม่สามารถรับมือกับความต้องการของชีวิตได้ นอกจากนี้ภาวะหมดไฟยังมาพร้อมกับปัญหาสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตที่หลากหลาย หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการแก้ไขอาจทำให้ความสามารถของการทำงานในชีวิตประจำวันถดถอยลง
ภาพที่ 1 ความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเหนื่อยหน่าย
ที่มาภาพ https://pixabay.com/images/id-3087585/ , JESHOOT-com
เป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เพิ่มภาวะหมดไฟลงในมาตรฐานการจัดกลุ่มโรคระหว่างประเทศฉบับปรับปรุงครั้งที่ 11 (11th Revision of the International Classification of Diseases ; ICD-11) โดยจัดเป็นภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงาน (Occupational phenomenon) ทั้งนี้ภาวะหมดไฟยังไม่ถูกจัดว่าเป็นความเจ็บป่วยหรือมีเงื่อนไขทางการแพทย์ (Medical condition)
จากรายงานขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ภาวะหมดไฟเกิดจากความเครียดเรื้อรังจากการทำงานที่ไม่ได้รับการจัดการที่ดีพอ ซึ่งภาวะหมดไฟมี 3 ลักษณะ ดังนี้
1) ความรู้สึกสูญเสียพลังงานหรืออ่อนเพลีย
2) ความรู้สึกไม่อยากทำงาน หรือมีทัศนคติเชิงลบต่องานที่ทำ
3) ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า คำจำกัดความของภาวะหมดไฟมีลักษณะเฉพาะในบริบทของคนทำงานหรือการทำงานเท่านั้น และไม่ควรถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายความเหนื่อยหน่ายในแง่มุมอื่น ๆ ของชีวิต เช่น ครอบครัว คู่ครอง หรือปัญหาส่วนตัว เป็นต้น
หากถามถึงสาเหตุของภาวะหมดไฟจากการทำงาน อาจเกิดจากปัจจัยหลายประการอาทิ การขาดสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน (work/life balance) การมีภาระงานที่มากเกิน การทำงานล่วงเวลา การไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใต้บังคับบัญชา ความคาดหวังในการทำงาน การทำงานที่ไม่เหมาะกับตนเอง หรือแม้กระทั่งการทำงานที่ต้องคอยสนับสนุนหรือให้บริการผู้อื่น ซึ่งผู้ให้บริการต้องปรับตัวให้กลายเป็นผู้ที่สมบูรณ์แบบเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจทำให้ผู้ที่ตกอยู่ในภาวะหมดไฟรู้สึกหมดหนทาง ติดกับดัก และมีทัศนคติในด้านลบต่องานที่ทำ นอกจากนี้ยังเพิ่มความรู้สึกไม่พอใจและแยกตัวออกจากสังคม ขาดแรงจูงใจ และสงสัยในความสามารถของตัวเอง ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้มักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ผัดวันประกันพรุ่งมากขึ้น หลีกเลี่ยงงาน แยกตัวเองออกจากสังคม และอาจหันมาใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติด สำหรับผลลัพธ์ทางกายภาพที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ภาวะหมดไฟอาจส่งผลให้เกิดโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง อาการปวดกล้ามเนื้อ ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับการนอนหลับ และอาการปวดศีรษะบ่อยครั้ง ตลอดจนส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกันจนทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะเกิดความเจ็บป่วยอื่น ๆ ตามมาได้
หากคุณคิดว่า คุณกำลังทุกข์ทรมานจากความเหนื่อยหน่าย การลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะหมดไฟคือ การพยายามปรับสมดุลของการใช้ชีวิตทั้งด้านการทำงานและชีวิตส่วนตัว การออกกำลังกาย การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ การนอนหลับให้มากขึ้น และการฝึกทำกิจกรรมผ่อนคลาย เช่น โยคะ เป็นต้น อย่างไรก็ดีการประเมินทางเลือกที่จะใช้สำหรับการปรับสมดุลของชีวิตก็มีความสำคัญเช่นกัน
ภาวะหมดไฟในการทำงานอาจเป็นปัญหาที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่องในสังคมปัจจุบัน และในท้ายที่สุดจะเป็นภัยคุกคามต่อคุณภาพชีวิต วิธีการที่หลีกเลี่ยงที่เป็นหัวใจสำคัญควรเริ่มจากตัวเอง ความสามารถในการจัดการและรับมือกับความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุหลักของความเหนื่อยหน่ายที่เหมาะสมได้ด้วยตนเอง จะช่วยเสริมพลังทางใจให้มีแรงเติมเชื้อไฟในการทำงานต่อไปได้
แหล่งที่มา
Burn-out an "occupational phenomenon": International Classification of Diseases
Retrieved August 15, 2019, From https://www.who.int/mental_health/evidence/burn-out/en/
Rachel Baxter. (2019, May 28). World Health Organization To Officially Recognize Burnout As A Medical Condition.
Retrieved August 15, 2019, From https://www.iflscience.com/health-and-medicine/world-health-organization-to-officially-recognize-burnout-as-a-medical-condition/
-
10629 WHO ประกาศภาวะหมดไฟเป็นความผิดปกติ /index.php/article-biology/item/10629-whoเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง